http://www.tungsong.com
Home
| Guestbook
|Local Agenda 21
|Download Document
        ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แผนการบริหารการจัดการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง
              เพื่อให้การจัดการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง บังเกิดผลดีต่อการดูแลรักษาธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ในด้านการบริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนสื่อความหมายในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ดังนั้นจึงได้กำหนดกรอบกว้าง ๆ เพื่อการจัดการไว้ดังนี้
การแบ่งเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติ สามารถแบ่งออกได้ 7 เขต ได้แก่
              1. เขตบริการ เขตนี้กำหนดขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ และทำให้สามารถรองรับการขยายตัวที่กำลังจะเกิดขึ้นในเขตนี้ มักจะอยู่ใกล้แหล่งที่จะพัฒนาจุดท่องเที่ยว หรือศึกษาหาความรู้ธรรมชาติ
              2. เขตเพื่อการพักผ่อนและศึกษาหาความรู้ เป็นเขตที่กำหนดขึ้นไว้เพื่อการพักผ่อนและการศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับธรรมชาติ รวมทั้งกันชนป้องกันการกระทบกระเทือนที่จะเกิดขึ้นในเขตบริการที่จะมีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการระบายความแออัดของการใช้พื้นที่ในเขตบริการ ให้กระจายตัว ออกไปในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยว มาใช้บริการ เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร
              3. เขตสงวนภาพธรรมชาติ เป็นเขตพื้นที่ที่สภาพสังคมพืชและทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดจุดเด่นที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติ โดยเป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องสงวนไว้เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำ หรือ เพื่อมิให้พื้นที่นั้นเสื่อมโทรมลงกว่าเดิม
              4. เขตฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ เป็นบริเวณที่สภาพถูกบุกรุกทำลายแต่ยังคงสภาพธรรมชาติไว้ สามารถที่จะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมได้ โดยการปลูกป่า หรือให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ
              5. เขตกิจกรรมพิเศษ เป็นเขตที่ครอบคลุมพื้นที่ที่มีกิจกรรมของประชาชน หรือของทางราชการที่เกิดขึ้นการประกาศจัดตั้ง เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยกิจกรรมเหล่านี้อาจขัดแย้งต่อการจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือเป็นเขตพื้นที่ที่ส่วนราชการขอใช้ประโยชน์หรือขอเพิกถอนจากอุทยานแห่งชาติ
              6. เขตหวงห้าม เป็นเขตพื้นที่ที่มีสภาพธรรมชาติที่เปราะบาง หรือมีความสำคัญทางสิ่งแวดล้อม หากได้รับความกระทบกระเทือนจากกิจกรรมของมนุษย์ ระบบนิเวศ เสียสมดุลไปยากที่จะกลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ
              7. เขตกันชน เป็นเขตพื้นที่รอบแนว เขตของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
    การจัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง
              
                 จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแล ป้องกัน รักษา พื้นที่ป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง โดยมีเจ้าหน้าที่ อาวุธ เครื่องมือสื่อสาร ยานพาหนะ อาคารที่พักของ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้การดูแลป้องกัน รักษาพื้นที่ป่า ได้สะดวกในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยาน ฯ ขึ้นจำนวน 5 หน่วย ดังนี้
                 1. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองจัง (ตย.1) ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.นาบอน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช มีที่ทำการ 1 หลัง บ้านพักรับรอง 2 หลัง ป้อมยาม 1 หลังห้องน้ำ 10 ห้อง 1 หลัง
                 2. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหนานโจน (ตย.2) ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.ลานสกา อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช มีที่ทำการ 1 หลัง บ้านพักรับรอง 1 หลัง บ้านพัก 4 ครอบครัว 1 หลัง
                 3. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาลำโรม (ตย.3) ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช มีที่ทำการ 1 หลัง บ้านพักรับรอง 1 หลัง บ้านพัก 4 ครอบครัว 1 หลัง
                 4. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาตินาหลวงเสน (ตย.4 ชั่วคราว) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ยังไม่มีระบบสาธารณูปโภค
                 5. หน่อยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ เขาทง (ตย.5 ชั่วคราว) ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.เขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช มีบ้านพักชั่วคราว 1 หลัง
    การกำหนดกิจกรรมการ จัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง มีสาระสำคัญดังนี้
                 1. กำหนดการควบคุมดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ด้วยการออกตรวจตราตระเวณ ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง พ.ศ.2504 และกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ฐานปฏิบัติการที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ 5 หน่วย มีการออกตรวจตราลาดตระเวณอย่างต่อเนื่อง และแบ่งเขตการจัดการ เพื่อควบคุมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และประสานงานกับหน่วยราชการ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมมือป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
                 2. ส่งเสริมการเข้ามาท่องเที่ยว การผักผ่อน การศึกษาหาความรู้ของประชาชน และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้มีความรู้ความเข้าใจตลอดจนการสื่อความหมายธรรมชาติในรูปของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวการเดินศึกษาธรรมชาติ เอกสารแจกเพื่อเพิ่มพูนความรู้โสตทัศนูปกรณ์ประกอบการบรรยาย นิทรรศการ ป้ายสื่อความหมาย และ การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในรูปการ เข้าพักแรมในรูปแบบบ้านพักถาวร เรือนแถว เต้นท์และอำนวยความสะดวกความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวและการกางเต้นท์ และมีห้องสุขาห้องน้ำ ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อำนวยความสะดวกความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวเป็นต้น โดยเน้นให้นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มได้ใช้ระบบบริการและอำนวยความสะดวกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบริเวณน้ำตกโยง
                   3. ให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านพืชพรรณและสัตว์ป่าในป่าดงดิบของอุทยานแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลไว้ใช้ในการวางแผนพัฒนาอุทยานแห่งชาติต่อไปในอนาคตแลเพื่อใช้ข้อมูลในการสื่อสารความหมายธรรมชาติแก่นักท่องเที่ยว ให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความสำคัญของธรรมชาติ และประโยชน์ที่จะได้รับจากสิ่งเหล่านั้น
                   4. ฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณที่ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมให้กลับสู่ภาพธรรมชาติด้านการกำหนดแผนการปฏิบัติงานฟื้นฟูสภาพป่า โดยใช้พันธ์ไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และชักขวนให้ราษฏรที่อาศัยอยู่ในตอนกลางและที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วไป ได้ออกไปอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติโดยให้มีการจัดทำแผน/โครงการอพยพราษฏร เหล่านี้ออกไป
                   5. เน้นการก่อสร้างและพัฒนาสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยใช้หลักทางภูมิสถาปัตยกรรมและนิเทศน์วิทยาอย่างเคร่งครัด ด้วยการพิจารณาจัดทำผังพื้นที่ที่ถูกต้อง เหมาะสม
                   6. เผยแพร่ความสำคัญของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ไปสู่ประชาชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ด้วยการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและควบคุมดูแลรักษาทรัพยากรอุทยานแห่งชาติให้คงอยู่ตลอดไป
                   7. กระตุ้นให้ราษฏรในท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการหาผลประโยชน์ภายในอุทยานแห่งชาติโดยไม่ขัดกับหลักการอุทยานแห่งชาติ แทนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในรูปแบบของการทำไม้และการบุกรุกถือครองพื้นที่การลักลอบขุดแร่,หาของป่าและล่าสัตว์

                   ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ

        แหล่งน้ำ

                    พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เป็นพื้นที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสาย ได้แก่ คลองจัง คลองลำปีเหาะ คลองกุย คลองหอยโข่ง ไหลลงสู่แม่น้ำตาปีทางทอศตะวันตกเฉียงเหนือ ไหลลงสู่แม่น้ำปากพนังทางทิศตะวันออก คลองวังหีบ คลองท่าเลา คลองท่าโหลน คลองเบิก คลองชัยศรี คลองน้ำตกโยง คลองปากแพรก ไลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลลงสู่แม่น้ำตรัง คลองเถลิง คลองขุนพัง คลองลานสกา คลองเจดีย์ ไหลไปทางทิศตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่ไหลลงสู่คลองเสาธง ลำน้ำเหลานี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการตั้งถิ่นฐานและหล่อเลี้ยงพื้นที่กสิกรรมของราษฎรที่อาศัยอยู่โดยรอบเขตของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

        ตารางแสดง ต้นกำเนิดของสายน้ำที่มีอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

        ลำดับที่ อำเภอทุ่งสง อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอลานสกา อำเภอนาบอน กิ่ง อ. ช้างกลาง
        1. คลองปากแพรก คลองขุนพัง คลองวังเข้ คลองจัง คลองกุย
        2. คลองชัยศรี - คลองเจดีย์ - -
        3. คลองน้ำตกโยง คลองเถลิง คลองลานสกา คลองลำปีเหาะ คลองหอยโข่ง
        4. คลองเปิก - - - -
        5. คลองท่าโหลน - - - -
        6. คลองท่าเลา - - - -
        7. คลองวังหีบ - - - -
          รวม 7 สาย รวม 2 สาย รวม 3 สาย รวม 2 สาย รวม 2 สาย
        รวม 16 สาย

        ฝ่ายอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

        แผนที่แสดงแหล่งกำเนิดต้นน้ำสายสำคัญในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

        ฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมายอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

        ป่าไม้

                    เป็นป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติประเภทป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา

                      ป่าดิบชื้น หรือ  ป่าดงดิบ

                      ลักษณะโดยทั่วไป เป็นป่าซึ่งต้นไม้มีใบเขียวตลอดทั้งปี เป็นป่ารกทึบ ทั้งในชั้นเรือนยอดไม้ใหญ่และพันธุ์ไม้พื้นล่าง พบในบริเวณพื้นที่เทือกเขาสูง เป็นป่าที่ปกคลุมพื้นที่ทางบกสู่พื้นที่ราบใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง ตะเคียนชนิดต่าง ๆ หลุมพอ ไข่เขียว นาคบุตร กันเกรา สำหรับไม้พื้นล่างประกอบด้วย ไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ หวาย ระกำ เต่าร้าง ตลอดจนพืชชั้นต่ำที่อาศัยตามลำต้นหรือเรือนยอดของไม้ขนาดใหญ่ เช่น กล้วยไม้ มอส เฟิร์น และเถาวัลย์ชนิดต่าง ๆ

                      ป่าดงดิบเขา

                      ลักษณะโดยทั่วไป ของป่าชนิดนี้มีความโปร่งกว่าป่าดงดิบชื้นเนื่องจากมีต้นไม้ขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่น้อยมากแต่ก็มองเขียวชอุ่มตลอดปี อากาศค่อนข้างเย็นเนื่องจากอยู่บนภูเขาสูง ป่าชนิดนี้มีความสำคัญต่อการรักษาต้นน้ำลำธารมาก ชนิดของพันธุ์ไม้จำพวกก่อ เช่น ก่อตาหมู ก่อนก ก่อเดือย ก่อแป้น ฯลฯ สำหรับไม้พื้นล่างที่พบ ได้แก่ เฟิร์น มอส และกล้วยไม้ดิน นอกจากนี้ตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ยังมีพืชอาศัยเกาะอยู่หนาแน่น

        ตารางแสดง ข้อมูลพื้นที่ป่าที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

        ลำดับที่ ชื่อป่า อยู่ในห้องที เนื้อที่ ( ไร่ ) เฉลี่ยร้อยละ
        ตำบล อำเภอ
        1. ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองวังหีบ
        ทับซ้อนกับอุทยานฯ
        - ทุ่งสง นาบอน 41.875
        83.49%
        2. ป่าสงวนแห่งชาติน้ำตกโยง
        ทับซ้อนกับอุทยานฯ
        ถ้ำใหญ่ ทุ่งสง 16,875
        49.89%
        3. ป่าสงวนแห่งชาติ
        ป่าคลองปากพรกทับกับอุทยานฯ
        ถ้ำใหญ่ ทุ่งสง 3,190
        42.81%
        4. ป่าสงวนแห่งชาติเขาหลวง
        ทับกับอุทยานฯ
        ร่อนพิบูลย์
        หินตก
        เขาแก้ว
        ลาสกา
        ร่อนพิบูลย์
        ร่อนพิบูลย์
        ลานสกา
        ลานสกา
        45,250
        49.25%
        5. ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเหมน
        ทับซ้อนกับอุทยานฯ
        ช้างกลาง กิ่ง อ. ช้างกลาง 16,562.5
        75.71 %
        6. ป่าสงวนแห่งชาติป่าปลายคลอง
        วังหีบทับซ้อนกับอุทยานฯ
        นาหลวงเสน
        นาบอน
        ทุ่งสง
        นาบอน
        60
        0.21%

        ฝ่ายอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง

        สัตว์ป่า

                    พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน สภาพป่าสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ซึ่งสามารถจำแนกออกได้ดังนี้

                      สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

                      เป็นสัตว์เลือดอุ่นมีกระดูกสันหลัง มีขนปกคลุมลำตัว ขนมีลักษณะเป็นเส้น ๆ ได้แก่ เลียงผา หรือโครำ เก้ง กระจง สมเสร็จ หมูป่า แมวดำ อีเห็น เม่นใหญ่แผงคอยาว ชะมดแปลงลายแถบ ค่างแว่นถิ่นใต้ กระแต กระรอก ลิงลม อีแกะ เม่นขนอ่อน หรือเม่นหางพวง ลิงเสน พระยากระรอก อ้น เป็นต้น

                      นก

                      เป็นสัตว์เลือดอุ่น มีกระดูกสันหลัง มีขนปกคลุมทั่วร่างกายขนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายและช่วยในการบิน มีปีก 1 คู่ นกขยายพันธุ์โดยการวางไข่ ได้แก่ นกหว้า ไก่ป่า นกกระปูดใหญ่ เหยี่ยวขาว นกกาเหว่า นกกระปูดเล็ก นกฮูกหรือยกเค้ากู่ นกตบยุงยักษ์ นกกระเตนหัวดำ นกกก นกแอ่นตาล นกเงือก นกเต้าลมหลือง นกขมิ้นน้อยธรรมดา นกแซงแซวหางปลา นกกางเขนบ้าน นกอรแพรดแถบอกดำ นกเอี้ยงหงอน นกเขาเขียว นกแสก นกทึดทือ นกปลอดหัวโขน นกขมิ้นปากเรียว (มีเฉพาะด้านเหนือตอนบน) นกกางเขนดง นกเอี้ยงสาริกา นกเอี้ยงถ้ำ เป็นต้น

                      สัตว์เลื้อยคลาน

                      มีการพัฒนาต่อเนื่องมาจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จัดเป็นพวกที่ผิวแห้งไม่ต้องการความชุ่มชื้นมากนัก คนไทยเรียกสัตว์เลื้อยคลานเป็นชื่อแตกต่างกันออกไปตามรูปร่างลักษณะบ้าง ตามลักษณะการเคลื่อนไหวบ้าง เคลื่อนที่บ้าง ได้แก่ งูเห่า งูกะปะ งูกะปะช้าง งูสามเหลี่ยม งูจงอาง ฯลฯ (เป็นสัตว์ที่มีพิษ) งูเหลือม งูเขียว งูลิง งูดิน งูน้ำ งูปากจิ้งจก งูเหลือมไก่ ฯลฯ (เป็นสัตว์ที่ไม่มีพิษ) นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ได้แก่ ตะกรวด กิ้งกาบิน เต่า ตะพาบน้ำ ต๊กแก จิ้งเหลน จิ้งจก ตุ๊กแกป่า กิ้งก่า ฯลฯ

                      สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

                      เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเลือดเย็นมีวิวัฒนาการมาจากปลา ที่มีครีบคล้ายขา เป็นสัตว์แรกสุดที่ขึ้นมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน ลำตัวไม่มีชั้นเกล็ดห่อหุ้ม มีเพียงผิวหนังเรียบลื่น อุดมไปด้วยต่อมต่าง ๆ มากมาย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่

          1. กลุ่ม กระท่าง หรือ ซาลามานเดอร์
          2. กลุ่ม กบ เขียด และคางคก
          3. กลุ่ม เขียด งู

                    ปลา

                    แหล่งน้ำประเทศไทยแบ่งตามระบบนิเวศได้เป็น 2 ระบบ คือ แหล่งน้ำจืด และทะเล อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์อยู่กระจัดกระจายทั่วพื้นที่ ซึ่งสามารถพบปลาได้หลายชนิด ได้แก่ ปลาช่อน ปลาซิว ปลากระทิง ปลาหมอ ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลากริม ปลาแงะ ฯลฯ

                    สัตว์ประเภทอื่น ๆ

                    ได้แก่ ผีเสื้อกลางวัน ผีเสื้อกลางคืน แมลงปอ มดแดง ต่อ แตน ผึ้ง จิ้งหรีด แมลงต่าง ๆ กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ

       
      ประวัติ   แหล่งท่องเที่ยว   เส้นทางศึกษาอุทยาน    คำกลอนประจำอุทยาน   
       
        ลักษณะทางกายภาพ   ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  
        กลับสู่หน้าแรก