เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 มีคณะบุคคลซึ่งมีความนับถือศรัทธาในพระซำปอกง (หลวงพ่อโต) ได้อัญเชิญกระถางธูปของพระซำปอกง มาตั้ง ณ ศาลเจ้า ซึ่งเป็นอาคารไม้หลังเล็ก ๆ บริเวณสวนผักบ้านนาเหนือ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสักการะบูชาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้มุ่งกระทำความดี และจำลององค์พระซำปอกง วัดพนัญเชิงขึ้นเพื่อกราบไหว้บูชา ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในอำเภอทุ่งสงและใกล้เคียงมีมากขึ้น เป็นลำดับ ทำให้อาคารที่มีอยู่คับแคบ

ในปี พ.ศ. 2514 คณะผู้มีจิตศรัทธาจึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อก่อสร้างอาคารวิหาร หลังใหม่ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปพระซำปอกงองค์ใหญ่ ประดิษฐานเป็นพระประธานขึ้นและ มีการพัฒนาเป็นลำดับดังปรากฎในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นสถานปฎิบัติธรรม ประกอบศาสนพิธีในโอกาสและเทศกาลต่าง ๆ
         เพื่อให้ดำเนินงานเป็นไปด้วยความถูกต้อง กว้างขวาง ทำประโยชน์ให้แก่สังคมและส่วนรวมได้ มากยิ่งขึ้น จึงดำเนินการ เพื่อขอจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ และ ได้รับอนุญาตเป็นมูลนิธิโดยมี ชื่อว่า "มูลนิธิซำปอกง(หลวงพ่อโต)ทุ่งสง" เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2538

โดยมีวัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมและสนับสนุนด้านศาสนา การศึกษา การกีฬา
2. ช่วยเหลือเกื้อกูล และสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้
3. ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

       เนื่องในมหามงคลปีกาญจนาภิเษก วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อเป็นการน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชสักการะแสดงซึ่งความจงรักภักดีคณะกรรมการมูลนิธิซำปอกง (หลวงพ่อโต) ทุ่งสง จึงมีมติร่วมกันให้ก่อสร้างพระรูปเหมือนพระโพธิสัตว์กวนอิมความสูงขององค์พระรูป 19 เมตร นับเป็นพระรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นปฎิมากรรมปูนปั้นปางปาฎิหาริย์ทรงแผ่เมตตา บนพระเศียรสวมรัตนมาลา มีสัญญลักษณ์พระพุทธเจ้า พระหัตถ์ซ้ายทรงถือแจกันหลั่งน้ำทิพย์ พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิวศักดิ์สิทธิ์ไว้ประพรมน้ำทิพย์ ประทับยืนบนดอกบัวใหญ่ เคียงข้างด้วยกุมารชาย หญิง ทูนเทิดด้วยพญามังกร ประดิษฐานอยู่กลางสระน้ำ รายรอบด้วยน้ำพุเหนือแท่นบูชา 3 ชั้น ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2537 พร้อมกันนี้ได้ก่อสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติทรงเก๋งจีน เพื่อประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติของมูลนิธิฯ

       เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้จัดงานฉลองสมโภชขึ้น โดยวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ประกอบพิธีเบิกพระเนตรพระรูปเหมือนพระโพธิสัตว์กวนอิม โดยพระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าคณะใหญ่สงฆ์จีนนิกาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และวันที่ 3 สิงหาคม 2539 ประกอบพิธีบวงสรวงพุทธาภิเษกพระรูปเหมือน พระโพธิสัตว์กวนอิม และ วัตถุมงคล โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นประธานประกอบพิธีจุดเทียนชัยพุทธาภิเษกและนั่งปรกอธิษฐานจิต ร่วมกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคใต้

       วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2541 ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษเป็นประธานประกอบพิธีเปิดแพรคลุมป้ายซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ และเจิมตราสัญลักษณ์ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ศาลาเฉลิมพระเกียรติ
       มูลนิธิซำปอกง(หลวงพ่อโต) ทุ่งสง เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนชาวอำเภอทุ่งสงและใกล้เคียงได้ศรัทธาและกราบไหว้บูชามากกว่า 50 ปี นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระซำปอกงหรือหลวงพ่อโต พระรูปปูนปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิม องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังมีองค์พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย(พระสังกัจจายน์)  องค์ฮูเทียนเซี่ยงตี่ องค์กวงเทียนฮุคโจ้ว องค์เล่าฮวบซือกง องค์กิมบ้อเนี้ย องค์เทวะโป้ยเซียน และพระภูมิเจ้าที่(แป๊ะกง)

                            องค์ฮูเทียนเซี่ยงตี่  องค์กวงเทียนฮุคโจ้ว องค์เล่าฮวบซือกง   องค์กิมบ้อเนี้ย  องค์เทวะโป้ยเซียน  พระภูมิเจ้าที่(แป๊ะกง)

ปัจจุบันมูลนิธิซำปอกง (หลวงพ่อโต) ทุ่งสง เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ ของ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากได้มากราบนมัสการ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ผักผ่อนที่มีความร่มรื่น สวยงาม ของพุทธศาสนิกชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เชิดหน้าชูตาของอำเภอทุ่งสงแห่งหนึ่ง

    พระซำปอกง หรือ หลวงพ่อโต
เป็นพระพุทธรูปโบราณตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 7 วา 10 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 9 วา 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนชาวไทยและชาวจีนเคารพนับถือมากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเชื่อกันว่าสามารถนำโชคดีมาสู่ตนได้ โดยเฉพาะขึ้นชื่อว่า ให้คุณแก่คนทำมาค้าขาย คำว่า "ซำปอกง" เป็นภาษาจีน คำว่า "ซำ" แปลว่า สาม คำว่า "ปอ" แปลว่า แก้ว หรือ รัตนะ และคำว่า "กง" หมายถึง ผู้ใหญ่หรือเจ้า โดยสรุปหมายถึง พระรัตนตรัยนั่นเอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก"


       ความศักดิ์สิทธิ์ของพระซำปอกง หรือหลวงพ่อโต ที่อยุธยา เป็นที่ร่ำลือกันมาก โดยเฉพาะปรากฎหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสว่า "ด้วยอายุแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาถึงกาลยาก จึงเกิดอาเพศให้เห็นประหลาดเป็นนิมิต พระประธานวัดพนัญเชิง น้ำพระเนตรไหลลงมาจากพระนาภี" ปรากฎการณ์ดังกล่าว ประหนึ่งเป็นลางบอกก่อนเกิดเหตุใหญ่คราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2310



       สมัยราชวงศ์เหม็งมีวีรบุรุษท่านหนึ่งชื่อเดิมชื่อ ฮั้ว แซ่แต้ เป็นคนที่มีความเก่งกล้าสามารถเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในยุทธศาสตร์ทางทะเลเป็นอย่างมาก คนทั้งหลายเรียกท่านว่า "ซำป้อ" (เข้าใจว่าคงจะเป็นชื่อเล่น หรือ สมญานาม) ในปี พ.ศ. 1948 กษัตริย์เซ่งโจ้ทรงให้แต้ฮั้ว คุมกองทัพกองเรือ 62 ลำ พร้อมกำลังคน 37,000 คนออกไปเผยแพร่กฤษฎาภินิหารตามประเทศต่าง ๆ เพื่อแสดงแสนยานุภาพไปทั่วทั้งทะเลจีนและมหาสมุทรอินเดีย ออกเดินทางช่วงระหว่าง พ.ศ. 1949 ถึง พ.ศ.1975 เป็นเวลากว่า 25 ปี เดินทางมาถึงรวม 7 ครั้ง ตามหลักฐานในการบันทึกการเดินทาง แต้ฮั้วได้แวะมาแสดงแสนยานุภาพแถบประเทศญี่ปุ่น เขมร พม่า ลังกา และเดินทางถึงประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือน 9 ปี พ.ศ.1953 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนครอินทราธิราช

       ชาวจีนส่วนมากรู้จักแต้ฮั้ว ในนามซำปอกง ชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลื่องลือและเมื่อแต้ฮั้วถึงแก่กรรมลงจึงมีชาวจีนจำนวนมากเช่นไหว้วิญญาณของเขา และเรียกกันว่า "ซำปอกง"


       เมื่อปี พ.ศ.2492 มีคณะบุคคลที่นับถือและศรัทธาในพระซำปอกง ได้อัญเชิญกระถางธูปพระซำปอกงมาตั้ง ณ ศาลเจ้า ซึ่งเป็นอาคารไม้หลังเล็ก ๆ บริเวณสวนผัก บ้านนาเหนือ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสักการะบูชาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มุ่งกระทำความดี และได้จำลององค์พระซำปอกงของวัดพนัญเชิงขึ้นเป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองขนาดหน้าตักกว้าง 18 นิ้วเพื่อกราบไหว้บูชา ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในอำเภอทุ่งสงและใกล้เคียงที่มีต่อพระซำปอกงมีจำนวนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2514 จึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างอาคารวิหารหลังใหม่ขึ้น พร้อมนี้ได้สร้างพระพุทธรูปซำปอกงองค์ใหม่ เป็นปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง 52 นิ้วเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารดังปรากฎในปัจจุบัน
       ความศักดิ์สิทธิ์ของพระซำปอกง หรือหลวงพ่อโต เป็นที่ร่ำลือมีมากมาย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันไม่เพียงแต่ชาวไทยและชาวจีนในเมืองไทยเท่านั้นที่เคารพนับถือพระซำปอกง หากแต่ยังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนจากต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ให้ความเคารพนับถือ และมากราบมนัสการอยู่เป็นประจำ



ขานพระนามตามภาษาสันสกฤตว่า "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งตามความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายนิกายมหายานเป็นที่เสื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พระองค์ทรงพระบารมี สามารถเนรมิตพระรูปกายของพระองค์ด้วยรูปปางต่างๆ ตั้งแต่ปางพุทธะ  เทพ ยักษ์  มนุษย์และอมนุษย์ เพื่อโปรดบรรดาสรรพสัตว์ตามแต่โอกาสและเวลา เพื่อให้ใกล้ชิดกับชนทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย มีรูปปางหนึ่งเนรมิตเป็นสตรีเพศ อันเป็นเพศที่บ่งบอกถึงความเมตตาและอ่อนโยน คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมหรือ เจ้าแม่กวนอิมหรือกวนซีอิม

          พระองค์ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายในไตรภูมิ ตามเสียงเรียกร้องของสรรพสัตว์ที่ยังตกอยู่ในกองทุกข์ ทั้งยังตั้งพระหฤทัยไว้ว่า ตราบใดที่ยังโปรดสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในกองทุกข์ไม่หมดพระองค์จะยังไม่เข้าสู่พุทธภูมิ ด้วยพระมหากรุณาเมตตาคุณอันกว้างใหญ่ไพศาลที่จะโปรดสรรพสัตว์ที่ได้รับทุกข์จึงได้รับการขานพระนามว่า"กวนอิมพู่สัก"ซึ่งมีความหมายว่า  พระโพธิสัตว์ที่คอยสดับตรับฟังเสียงความทุกข์ของชาวโลก

          ด้วยพระบุญญาบารมีแห่งองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ผู้ที่ได้สักการะบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมจะได้รับพรอันประเสริฐจากการแผ่พระเมตตาของพระองค์ จะมีความสุข ความเจริญ เพิ่มพูนด้วยลาภ ยศ และทรัพย์ศฤงคาร เมื่อใดที่ต้องเผชิญภยันอันตรายจากภัยพิบัติ หรือมีความทุกข์ระทมในใจเพียงแต่สวดภาวนาอาราธนาถึงพระนามของพระองค์"นำ มอ กวน ซี อิม พู่ สัก" พระองค์จะได้ยินเสียงนั้นและเสด็จมาเปลื้องทุกข์และขจัดภัยให้ทันที

          ส่วนกุมารเทพที่อยู่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของพระโพธิสัตว์กวนอิม จะมีกุมารีเป็นสาวกเบื้องขวา คือหลงนี่ และกุมารเป็นสาวกเบื้องซ้ายชื่อ ชั่งไฉกงจือ หรือที่บางคนนิยมเรียกว่า เง็กนึ่ง และกิมท้ง  คอยรับใช้ช่วยเหลือภารกิจของพระโพธิสัตว์กวนอิมในการโปรดบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย

วันที่  9    เดือน  1     ทางจันทรคติ วันเกิดของเทพยดาฟ้าดิน (ทีกงแซ)
วันที่  9    เดือน  3     ทางจันทรคติ วันคล้ายวันประสูติพระซำปอกง (หลวงพ่อโต)
วันที่  19  เดือน  6   ทางจันทรคติ วันสำเร็จพระโพธิญาณพระโพธิสัตว์กวนอิม
วันที่  23  แรม 24 เดือน  7   ทางจันทรคติ งานบำเพ็ญกุศลทำบุญทิ้งกระจาด (ซิโกว)
วันที่ 1 ถึงวันที่ 9 เดือน 9  ทางจันทรคติ งานประเพณีเทศกาล ถือศีลกินเจ เดือน 9 (เก้าอ้วงเจ)
วันที่  10    เดือน  12     ทางจันทรคติ วันไหว้แก้บน ประจำปี



       พิธีทิ้งกระจาด ในพระพุทธศาสนามหายานมีว่า
        ในกาลครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสด์ พร้อมด้วยพระภิกษุ เฝ้าห้อมล้อมคอยสดับพระธรรมเทศนา ในเวลานั้น พระอานนท์เถรเจ้าไปนั่งสมาธิอยู่ในที่สงัดตามลำพัง ครั้นถึงเวลาดึกสงัดพระอานนท์ได้ทัศนาเห็นอสุรกายตนหนึ่งมีรูปร่างซูบผอม เหี่ยวแห้ง มีเพลิงพลุ่งออกจากปาก ลำคอเท่ารูเข็ม ผมบนศรีษะรุงรัง มีเขี้ยวงอกออกจากปาก น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก อสุรกายตนนั้นมายืนประนมมือบอกกับ พระอานน์ว่า "อีก 3 ราตรี ท่านก็จะมรณะภาพ และต้องมาอยู่ในหมู่อสุรกาย ดังเช่นข้าพเจ้านี้" เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้นก็มีความหวาดกลัวต่อมรณะภัย เพราะท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ พระอานนท์จึงถามอสุรกายว่าจะต้องทำประการใด จึงพ้นจากภัยเช่นนี้ได้ อสุรกายตอบว่า "ถ้าพระคุณเจ้าต้องการพ้นจากทุกข์ในหมู่อสุรกายนั้น ก็ให้กระทำ พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และบริจาคทานให้แก่ผู้ยากไร้ที่อดอยาก และแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่พวกอสุรกายและเปรตทั้งหลาย ท่านก็จักมีอายุยืนยาวส่วนอสุรกายและเปรตทั้งหลายก็จักได้พึ่งผลบุญกุศลที่ท่านได้อุทิศให้ อาจพ้นจากองทุกข์ถึงสุคติได้โดยพลัน" เมื่อพระอานนท์ได้ฟังอสุรกายกล่าวเช่นนั้น จึงได้นำความมากราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามคำที่อสุรกายกล่าวนั้น และ ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช่วย

        พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์เจ้า เธออย่าได้มีความหวาดกลัวไปเลยเราจะชี้ทางให้ เมื่อบริจาคทานให้กับหมู่อสุรกาย และเปรต กับพวกบุคคลที่ยากจนแล้วก็จักพ้นจากภัยที่กล่าวนั้นได้ แต่การบริจาคทานให้ทั่งถึงอสุรกาย และเปรตทั้งหลายนั้นยากมาก เพราะอสุรกายและเปรตเหล่านั้นได้สร้างอกุศลกรรมไว้มาก จึงไม่สามารถที่จะบริโภคได้ ต้องตั้งพิธีชุมนุมพระอริยเจ้าทั้งหลาย ให้มาเจริญพระคาถา ด้วยอำนาจพระคาถานี้ อาจให้ทั่วถึงหมู่อสุรกายและเปรตทั้งหลายได้ ส่วนพระอานนท์ก็จักมี อายุยืน อานนท์เธอพึงรู้เถิดว่า อสุรกายที่มาบอกกับเธอว่า อีกสามราตรีเธอจักถึงมรณะนั้น หาใช่อื่นไกล คือ พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม นั้นเอง ซึ่งเธอปรารถนาที่จะโปรดทั้งมนุษย์และอบายสัตว์ทั่วไป ด้วยอำนาจพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทั้งสี่ประการนี้ให้สมบูรณ์ เธอจึงได้ "นิรมิต" เป็นอสุรกาย ที่มีรูปร่าง น่าเกลียด น่ากลัว ให้ปรากฏมาบอกกับอานนท์ เพื่อจะได้เป็นต้นเหตุบริจาคทานต่อ ๆ ไป"

        เพราะเหตุนี้ การบริจาคทานทิ้งกระจาดทุกครั้ง จึงต้องตั้งรูป พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งเป็นรูป "เนรมิต" ที่มีลักษณะ น่าเกลียดน่ากลัวยืนอยู่ ณ สถานที่บูชา ที่มีเครื่องสักการะของเซ่นไหว้ ข้าวสาร อาหาร เครื่องอุปโภค และบริโภค ที่จะทำการแจกทาน
        ปฐมพิธีทิ้งกระจาด ที่มีมาใน พระสูตรพุทธศาสนามหายาน ดังกล่าวมานี้ จึงเป็นต้นเหตุ ให้มีพิธีทิ้งกระจาดสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ การทำบุญทิ้งกระจาด จึงเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศกุศลไปให้ หมู่อสุรกายและเปรตทั้งหลาย ให้ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล และเป็นการเพิ่มบารมีให้กับตนเองอีกด้วย

       ตามพระสูตรพุทธศาสนามหายาน มีว่า        ช่วงระหว่างเดือนเจ็ด หรือ เทศกาลวันสารทเดือนเจ็ด ทางจันทรคติ มีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ประตูเมืองนรกจะเปิดกว้าง ให้เหล่าวิญญาณที่ถูกคุมขังอยู่ในเมืองนรก ที่ไร้อิสระภาพไม่สามารถไปไหนได้ และต้องอดอยากหิวโหย จะได้รับการนิรโทษกรรมชั่วคราว ให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกไปเที่ยว เยี่ยมเยือนบุตรหลาน ญาติมิตร วิญญาณเหล่านั้น ต่างเฝ้ารอคอยและมีความยินดีปรีดากันทั่วหน้า

       เมื่อถึงเทศกาลวันสารทเดือนเจ็ด ชาวบ้านทุกครัวเรือนต่างพากันทำบุญทำทาน มีการจัดเตรียมดอกไม้ ผลไม้ อาหาร เงินทอง เสื้อผ้า ของใช้มาเซ่นไหว้ ส่วนตามวัดจีนและศาลเจ้าต่าง ๆ จะจัดให้มีพิธี "ซิโกว" หรือที่เรียกว่า"พิธีทิ้งกระจาด" เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชน ผู้ล่วงลับไปแล้ว และวิญญาณที่ไร้ญาติขาดมิตร ซึ่งล่องลอยอยู่ในที่ต่าง ๆ หมู่เปรต อสุรกาย ให้ได้พบพระรัตนตรัยและหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่สุคติภพ เป็นการแสดงซึ่งความกตัญญูกตเวที อันเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่สำคัญในพุทธศาสนา



       ทุกปี ที่มูลนิธิซำปอกง (หลวงพ่อโต) ทุ่งสง เมื่อถึงวันที่ 23 และ 24 เดือน 7 ทางจันทรคติจะจัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลทำบุญทิ้งกระจาด เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ดวงวิญญาณผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หมู่เปรต อสุรกาย ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ ไปสู่สุคติภพ

       วันที่ 23 เดือน 7 ทางจันทรคติ
ประกอบพิธีปล่อยสัตว์ และลอยกระทง
       พิธีปล่อยสัตว์ ผู้ร่วมพิธีจะได้บำเพ็ญกุศล แผ่เมตตากรุณาต่อสัตว์ เป็นการไถ่ชีวิตสัตว์ ที่กำลังจะถูกฆ่า หรือ ถูกคุมขัง ขาดอิสระภาพ ให้พ้นจากภัยนั้น ๆ สัตว์ที่นำมาปล่อยมี อาทิ นก ปลา เต่า หรือ สัตว์อื่น ๆ โดยพระสงฆ์ จะสาธยายมนต์ตามพิธีในการบำเพ็ญกุศลปล่อยสัตว์ เมื่อสาธยายมนต์ตามพิธีแล้วก็จะปล่อยสัตว์นั้น ไปตามสถานที่อันสมควร
       อานิสงส์ของการปล่อยสัตว์ เป็นการสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ ให้กับตนเอง เพราะการช่วยให้ผู้อื่นพ้นจากความตาย หรือ พ้นทุกข์ภัยต่าง ๆ นั้น จะเป็นบุญกุศลตอบสนองให้ตนเองได้พ้นเคราะห์พ้นภัยต่าง ๆ นั้นด้วย

       พิธีลอยกระทงผู้ร่วมจะจัดเตรียมกระทง ภายในกระทง มีดอกไม้ ธูปเทียน และ บางท่านมอาจจะใส่เงินลงไป ในกระทงด้วย เมื่อถึงบริเวณพิธี พระสงฆ์จะสาธยายมนต์ อัญเชิญองค์เทพ พรหม และพญานาค มาเป็นสักขีพยานในพิธีลอยกระทง แล้วประกาศให้หมู่เปรต อสุรกาย ทั้งหลาย ได้รับทราบ และมาร่วมอนุโมทนา รับเครื่องเซ่นสังเวย ที่มีทั้ง ข้าวสาร อาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ซึ่งจัดให้เป็นทานในวันรุ่งขึ้นที่ประกอบพิธีทิ้งกระจาด
       การลอยกระทง เป็นการทำบุญให้ทานแก่วิญญาณทั้งหลายทั่วไป เรียกว่า ทำบุญให้ทานไปตามกระแสน้ำ
       วันที่ 24 เดือน 7 ทางจันทรคติ ประกอบพิธีทิ้งกระจาด
        ในภาคเช้า พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ บูชาพระรัตนตรัย จากนั้น จะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ส่วนภาคบ่ายพระสงฆ์จะทำพิธี สาธยายมนต์ ทิ้งกระจาดโปรยทาน โดยพระสงฆ์รูปหนึ่ง ผู้เป็นประธานในพิธี จะนั่งในที่สูงกว่า สวมหมวกมีรูปพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ส่วนพระสงฆ์ ที่เหลือจะนั่งเรียงซ้าย ขวา การสวดมนต์ จะสวดเป็นจังหวะทำนอง มีการโปรยข้าวสาร ทำนิ้ว ทำมือ เป็นเครื่องหมายต่าง ๆ ของธรรมะ


       การสวดมนต์ ในพิธีนี้เป็นการบวงสรวง และอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว และวิญญาณที่ไร้ญาติขาดมิตร ซึ่งล่องลอยอยู่ในที่ต่าง ๆ ให้ได้พบพระรัตนตรัย และมารับส่วนบุญ ส่วนกุศล รับเครื่องเซ่นสังเวย ที่มี ข้าวสาร อาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค เงินทอง ที่ผู้มีจิตศรัทธา จัดหา หรือบริจาคมา เพื่อประกอบพิธีทิ้งกระจาด ในช่วงท้ายของการสาธยายมนต์พระสงฆ์จะทำพิธีทิ้งกระจาด โปรยทาน และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนา จะมีการแจกทาน ข้าวสาร อาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ที่ได้ประกอบพิธีแล้ว เป็นทาน แก่ประชาชนผู้ยากไร้ที่มาร่วมในพิธีทิ้งกระจาดด้วย

       การประกอบพิธีทิ้งกระจาด เป็นการอุทิศทานให้กับดวงวิญญาณของบรรพชนที่ล่วงลับวิญญาณที่ไร้ญาติขาดมิตร หมู่เปรต อสุรกาย ทั้งหลาย ให้ได้รับผลทานกุศล และหลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่สุคติภพ
       สำหรับผู้บริจาคทาน ผลานิสงส์จากการที่ได้กระทำนั้นมีมากมายทำให้เกิด กุศลจิต ปลูกฝังเป็นนิสัยปัจจัยไปทุกภพ ทุกชาติ เป็นการบำเพ็ญทานบารมี และเพิ่มบุญบารมีให้ตนเอง บุคคลที่เกิดมาในชาตินี้ ในตระกูลที่มั่งมีศรีสุข ก็เพราะผลทานต่าง ๆ ที่ได้ทำไว้แต่ชาติปางก่อน อำนาจกุศลกรรมฝ่ายทานบารมี จึงส่งผลให้มาเกิดเพื่อเสวยผล ที่ได้ทำไว้แล้วนั่นเอง และยังเป็นการบำเพ็ญทานแก่ประชาชนผู้ยากไร้ ไปในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย


                                                            

มีอรรถกว่าวไว้ดังนี้ในกาลครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สิวาลัย รัตนสถาน มีบรรดา พระมหาโพธิสัตว์ ท้าวมหาพรหม ท้าวสักกะ เทพยดา ยักษ์ นาค คนธรรพ์ กินนร ฯลฯ ได้พากันมาเฝ้า พระพุทธองค์ ในขณะนั้น พระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ ได้ทูลถามต่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันพระเทพสัตตเคราะห์ทั้ง 7 พระองค์ ได้มีกุศลสะสมมาอย่างไร กับมีปัจจัยเหตุอย่างไร จึงได้เสวยทิพยผล อันรุ่งเรือง เพรียบพร้อม ไปด้วยยศ และอำนาจในเทวภพนี้"

        สมเด็จพระบรมศาสดา จึงมีพระพุทธดำรัสตอบว่า "ดูกร..มัญชุศรี อันดาวเทพ สัตตเคราะห์ ทั้ง 7 นั้นแท้จริงเป็น พระอวตารภาพแห่งอดีต พระพุทธเจ้า 7 พระองค์ ทรงแบ่งภาค มาแสดงให้ปรากฏ กับ พระมหาโพธิสัตว์ อีก 2 พระองค์ ก็แบ่งภาคมาเป็นดาวพระราหู และดาวพระเกตุ รวมเป็นดาวพระเคราะห์ทั้ง 9 ฉะนั้นจึง สมบูรณ์ด้วยอลังการแห่งยศ และอำนาจ อันไม่มีปริมาณเห็นปานฉะนี้ "

        พระพุทธเจ้า ทั้ง 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์ ทั้ง 2 ทรงตั้งพระปณิธาน จักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งภาคมาเป็นเทพยเจ้า 9 พระองค์ ทรงอำนาจ ตบะอันเรืองฤทธิ์ บริหารธาตุ ทั้ง 5 ในจักรวาล ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุทอง ทั่วพิภพน้อยใหญ่ทุกสารทิศจึงทรงแบ่งภาคต่อจากนี้อีกวาระหนึ่งเป็นดาวนพเคราะห์ (ดาวพระเคราะห์ 9 ดวง) ดังนี้ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวพระอังคาร ดาวพระพุธ ดาวพระพฤหัสบดี ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ

        เทพยเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงเครื่องทรงอย่างแบบพระมหากษัตริย์ ประชาชนจึงถวายพระนามว่า "เก้าอ๊วง" หรือ "กิ๊วอ๊วง" แปลว่า นพราชา กำหนดเวลาของทุก ๆ ปี เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามจันทรคติ เทพยเจ้าประจำดาวเคราะห์ ต่างองค์จะทรงพลัดเปลี่ยนกันลงมาตรวจโลกทั้งกลางวันกลางคืน บุคคลใดมีความประพฤติตั้งอยู่ในกุศลกรรมวิถี (บุญ) ก็จักทรงประทานพร อำนวยความสมบูรณ์พูนสุขให้ หากบุคคลใดมีความประพฤติใน อกุศลกรรมวิถี (บาป) ก็จักลงโทษทัณฑ์ตามโทษานุโทษนั้น

        เทพยเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์ ทรงพระคุณแก่โลกเป็นอเนกประการ เฉพาะอย่างยิ่ง เบญจธาตุทั้ง 5 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุทอง ที่พระองค์ทรงประทานไว้ให้แต่ละอย่างเป็นของจำเป็นในสรรพสังขาร อันไม่มีจำกัด รวมทั้งมนุษย์ สัตว์ทุกชนิด ต้นไม้ ฯลฯ
        มนุษย์ ถ้าหากไม่มีธาตุลมก็ถึงแก่ความตาย
        มัจฉาชาติ ถ้าหากไร้ธาตุน้ำเป็นที่อาศัย ก็ต้องตาย
        พฤกษาชาติ ถ้าหากหมดธาตุดิน ก็อับเฉา กิ่งใบไม้แห้งเหี่ยวตาย
        สัตว์โลก ถ้าหากสูญสิ้นธาตุไฟในร่างกาย ก็มีชีวิตอยู่ไม่ได้
        เศรษฐกิจการค้าเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของมนุษย์ทั่วโลก ถ้าหากขาดธาตุทองก็ไม่สามารถดำเนินกิจการให้ลุล่วงไปได้

        ปวงสัตว์ทั้งโลก ไม่ว่าจะถือกำเนิดมาจากที่ใด อาทิ
        1. อุปปาติกกำเนิด หมายถึง เกิดขึ้นเอง
        2. ชลาพุชะกำเนิด หมายถึง เกิดมาจากน้ำ
        3. อัณทชะกำเนิด หมายถึง เกิดเป็นฟองไข่ แล้วจึงฟักเกิดเป็นตัว
        4. โยนีกำเนิด หมายถึง เกิดจากครรภ์
        รวมทั้ง อุปาทินนกสังขาร คือสังขารทีมีใจครอง และอนุปาทินนกสังขาร คือสังขาร ที่ไม่มีใจครอง ก็ล้วนอยู่ภายใต้การบัญชาของเทพยเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทั้งสิ้น
        เทพยเจ้าทั้ง 9 พระองค์นี้ ทรงน้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาคุณ ทรงควบคุมดาวนพเคราะห์ให้เดินตามวิถีโคจรด้วยความบริบูรณ์ ทั้งทรงธรรมเนตรส่องควบคุมทุกข์สุขของสัตว์โลกด้วย

        ในลัทธิมหายาน ยังมีอรรถกล่าวอธิบายว่า ดาวพระเคราะห์ทั้ง 9 นี้ ต่างกระทำหน้าที่หมุนเวียนธาตุทั้ง 5 ให้แก่โลกมนุษย์ นับเป็นเวลาหลายล้านปีโดยมิได้หยุดพักเลย ก็เนื่องด้วยพระองค์ทรงบัญชาบริรักษ์ควบคุมอยู่ และทรงเล็งทิพย์ญาณว่าถ้าหากดาวนพเคราะห์ จะหยุดพักแม้เพียงขณะใดขณะหนึ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็จะเกิดมหันตภัยอย่างใหญ่หลวงที่สุดที่จะประมาณได้ โลกมนุษย์ก็จะถึงซึ่งความพินาศ มนุษย์กับสัตว์โลกจะตายหมด จะไม่มีแม้แต่ละอองของธุลีของสังขารเหลืออยู่อีกเลย

        อันพิธีกรรมบูชาดาวนพเคราะห์นั้น นับว่ามีอานิสงส์มากมาย ทั้งเป็นกรรมคติ และเกิดธรรมมิตร สู่บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายให้ได้มีโอกาสกระทำวิสาสะกันในยามที่ต่างคนต่างมีจิตที่เบิกบาน ผ่องแผ้ว ถือศีล กินเจ นุ่งขาว ห่มขาว อันเป็นปัจจัยเตือนตนเองให้สำนึกว่า ตนเป็นคนบริสุทธิ์ขาวสะอาดทั้งกาย วาจา และใจ อยู่ในศีลธรรม และสามัคคีธรรม พรั่งพร้อมอยู่แล้วที่จะให้อภัย อโหสิกรรม ซึ่งกันและกัน ร่วมกันน้อมนมัสการเทพยเจ้าทั้ง 9 พระองค์ เป็นการแสดงความเคารพในพระเมตตากรุณาธิคุณ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการถวายเครื่องสรรพสักการะแด่เทพยเจ้าทั้ง 9 พระองค์ เป็นการบูชาพระเมตตาคุณที่ทรงไว้ซึ่งธาตุทั้ง 5 ให้แก่โลกทุกโลก สามารถดำรงอยู่ตามจักรราศรีที่ยั่งยืนตลอดมา และพร้อมใจกันน้อมจิตขอน้อมรับพระกรุณาธิคุณ ได้โปรดประทานพรให้อยู่เย็นเป็นสุข

        พิธีถือศีลกินเจ ไม่เสพเนื้อสัตว์ และการบูชาดาวนพเคราะห์ ทำบุญแจกทาน แด่คนที่ทุกข์ยาก เป็นที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล การถือศีลกินเจเดือนเก้าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ได้แผ่เมตตากรุณาจิต ช่วยปลดปล่อยชีวิตสัตว์ให้รอดตายได้จริง ๆ แม้จะเป็นระยะเวลาเพียง 9 วัน 9 คืน ก็นับว่าเป็นปฐมเหตุ ให้ดวงจิตได้รับเมล็ดพันธุ์ แห่งมหากรุณาธรรมบารมี เพื่อสักวันหนึ่งในภายภาคหน้า จะมีโอกาสจำเริญงอกงามขึ้นจนถึงขั้นบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด มีสาธุชนจำนวนมากที่ได้รับอานิสงส์จากการถือเอาโอกาสอันดีนี้เป็นนิมิตหมายตัดสินใจตั้งปณิธานเลิกกินเนื้อสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไปจนตลอดชีวิต
        ประเพณีกินเจเดือนเก้า (เก้าอ๊วงเจ) นับเป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงไว้เป็นมรดกสืบทอดต่อไปตราบนานเท่านาน


พิธีการกินเจเดือนเก้า หรือ เทศกาลกินเจ กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนทุกปี รวม 9 วัน 9 คืน        ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีอรรถาธิบายว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการะบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์ อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรืออีกนัยหนึ่ง เรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 อันมี พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวพระอังคาร ดาวพระพุธ ดาวพระพฤหัสบดี ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ
ในพิธีกรรมสักการะบูชา พระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์นี้ ผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนาต่างพากันสละเวลา และละกิจทางโลกมาบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจบริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อ ของสดคาว ด้วยการสมาทานรักษาศีล 3 ข้อ คือ
1. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตตน
2. เว้นจากการเอาเลือดของสัตว์มาเพิ่มเลือดตน
3. เว้นจากการเอาเนื้อสัตว์มาเป็นเนื้อ เพื่อซักฟอกมลทินออกจากร่าง
     กาย วาจา และจิตใจ

       ผู้ถือศีลกินเจต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ปราสจากจุดด่างพร้อย พากันเดินทางสู่วัดวาอารามพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน ไปนมัสการบูชาแต่องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ พร้อมจัดหาเครื่องกระดาษทำเป็นรูปเครื่องทรง เสื้อผ้า หมวก ร้องเท้า กระดาษเงิน กระดาษทอง ไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะ เป็นการกุศลสมาทาน หลังจากนั้นจะร่วมกันสวดมนต์ ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิต ขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเจริญสมบูรณ์พูนสุข แก่ตนเองและครอบครัวทั่วกันทุกคน

                            
       บทแผ่เมตตา

       "ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย จงเป็นสุข ๆ เถิด จงละการจองเวรซึ่งกันและกันอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง และให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ยังแดนนิพพานโดยถ้วนพร้อมเพรียงกันทุกรูปนามเทอญ"

       อันว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ขอจงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย ขอจงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอจงเป็นสุข ๆ เถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งหมดทั้งสิ้น

       ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ที่ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ ให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาอาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายมุข อบายสัตว์ เทวดามารพรหม พญายมราชและนายนริบาลทั้งหลาย ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

       ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้า ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ ขอจงได้เป็นพละวะปัจจัย เป็นอุปนิสัยตามส่ง ให้ข้าพเจ้าเกิดปัญญาญาณ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์ คือ พระนิพพานเทอญ