บทความ-สารคดี

โดย  พิชามญชุ์

ฉบับที่ 2528 ปีที่ 49 ประจำวันอังคารที่ 1 เมษายน 2003

“เทคโนโลยีเพื่อชีวิต” ด้วยพระมหากรุณา ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

 

...เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าสีม่วงหรือคอมพิวเตอร์พร้อมเครื่องพิมพ์ซึ่งอยู่ในโรงเรียนชนบทห่างไกล อาจให้ภาพที่แตกต่างกันเกือบจะเป็นคนละขั้วในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภาพชนบทที่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลางของประเทศ แต่สำหรับโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ดำเนินการเพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ของชาวไทยในชนบท และผู้ด้อยโอกาสนั้น ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงนี้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยพระมหากรุณา

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับพระราชกรณียกิจด้านเทคโนโลยี

 

 

 “...มนุษย์เรานั้นควรมีความเป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอิสระในความคิด รู้จักพินิจเรื่องต่างๆ ด้วยปัญญาที่รอบคอบ การพัฒนาประเทศที่ดีควรดำเนินไปพร้อมๆ กันอย่างกลมกลืน ทั้งทางด้านวัตถุที่อิงอยู่กับเทคโนโลยี และทางด้านจิตใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน...” ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัส ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงแสดงปาฐกถาเรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ” เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๘ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เป็นข้อสรุปได้ว่าทรงเล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศ

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสถึงแนวทางการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในงานเพื่อสังคมและเพื่อเกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงมีพระราชดำริแก่ผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) จนกระทั่งเกิดผลเป็นโครงการในพระราชดำริที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พสกนิกรผู้ด้อยโอกาสมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศทัณฑสถานหญิง บางเขน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ฯลฯ ทั้งนี้ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการก่อกำเนิดของโครงการต่างๆ เหล่านี้ จึงมิใช่เพียงแค่เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไปตั้งอยู่ในโรงเรียนชนบท หรือในทัณฑสถานเท่านั้น แต่คือการสร้างความรู้ สร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิตของผู้ด้อยโอกาสมากมายสมดังคำว่า “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต”

 

ผู้กล่าวประโยคนี้คือ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และรองประธานคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ทำงานสนองพระราชดำริในโครงการต่างๆ ด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้ ศ.ดร.ไพรัชได้กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า

 

“โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ เวลานั้นเป็นปีที่เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่งเริ่มเข้ามา และผมคิดว่าคนไทยมีความเข้าใจเรื่องอินเทอร์เนตไม่มากเท่าไร หลายคนก็มีความกังวลว่าถ้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ก็อาจจะตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว คืออาจจะไปไม่ถึงมือคนที่อยู่ในชนบท คนยากจน คนด้อยโอกาส ซึ่งก็นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริในโครงการนี้ขึ้น โดยหลักๆ แล้วคือ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงเรียนในชนบท หรือ ทสรช.

 

ทรงเยี่ยมชมโรงเรียนในโครงการ ทสรช. (โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงเรียนในชนบท)

โรงเรียนในโครงการ ทสรช.ปัจจุบันมีทั้งหมด ๗๒ โรงเรียนทั่วประเทศ โปรดเกล้าฯให้พระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์โรงเรียนละ ๒๐ เครื่อง พร้อมพริ้นเตอร์ ๒ ตัว และทรงมีพระราชดำริให้ทำงานร่วมกับสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้รับเครื่องที่ใช้แล้วมา แล้วทางสมาพันธ์ฯกับทาง สวทช. ก็จะช่วยกันดูแลเอาเครื่องมาช่วยกันปรับปรุงเพื่อใช้ในโครงการ พอพระราชทานไปแล้ว กระทรวงศึกษาธิการกับกรมอาชีวะก็จะมาช่วยบำรุงรักษาเครื่องเหล่านี้ สำหรับโครงการนี้ผมคิดว่าประสบผลสำเร็จมาก

ทีเดียว เพราะเด็กสนใจมาก เพราะเรามีการสอนด้วยสื่อการสอนพระราชทานเป็นการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ไม่ใช่เป็นการสอนคอมพิวเตอร์เพื่อรู้คอมพิวเตอร์ แต่เป็นการให้เด็กเรียนรู้วิชาต่างๆ จากคอมพิวเตอร์ ฟังจากรายงานแล้วพบว่าได้ผล ถึงขนาดมีรายงานว่าเด็กบางคน ทุกทีจะไม่ยอมเข้าห้องเรียน พอมีคอมพิวเตอร์มายืนรอหน้าห้องเลย เพราะอยากจะเรียนด้วยตัวเอง

 

ความสัมฤทธิผลของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบทอาจประเมินได้ด้วยรายงานต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่สร้างความชื่นใจแก่ผู้ที่ทำงานสนองพระราชดำริ ด้วยเรื่องราวความสำเร็จใจชีวิตจริงของนักเรียนในโครงการที่สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชีวิตและสร้างอนาคตของตนเองได้

 

“มีเด็กอยู่คนหนึ่ง เขาเป็นเด็กกะเหรี่ยงชื่อ จอแส่ดี หรือ น้องท็อป เขาเคยศึกษาอยู่ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เด็กคนนี้มีความสนใจด้านคอมพิวเตอร์มากจนครูเห็นแวว และส่งไปแข่งขันตามเวทีต่างๆ ก่อนจะเรียนจบเขาได้รางวัลมาเยอะมาก เช่น รางวัลชนะเลิศในการประกวดเว็บไซต์ ระหว่างที่รอสอบเข้าเรียนต่อที่สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ เขาก็พบประกาศรับสมัครด้านคอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เนต ก็เลยสมัครไป สุดท้ายเขาผ่านการคัดเลือกได้ไปทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเว็บไซต์ให้แก่บริษัทในต่างประเทศ หลังจากนั้นเขาก็ส่งอี-เมลมาถึงน้องๆ ที่โรงเรียนพร้อมรูปที่เขาถ่ายกับหิมะ เขาบอกว่าให้น้องๆ ตั้งใจเรียนเพราะว่าชีวิตเขา ไม่เคยคิดว่าจะได้ไปเมืองนอก เพราะเขาอยู่บนเขาที่ทุรกันดารและห่างไกล แต่เมื่อได้เรียนคอมพิวเตอร์ เขาก็ได้ไป เราก็ดีใจไปกับเขาด้วย”

 

“โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ” ถือเป็นพระมหากรุณาที่พระราชทานแก่ผู้พิการ โดยได้ทรงริเริ่มโครงการดังกล่าวเพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์เพื่อการปฏิบัติงานการเสริมสร้างความรู้ความบันเทิงตลอดจนพัฒนาทักษะและสร้างอาชีพ ได้มีการดำเนินงานใน ๒ รูปแบบ คือพระราชทานอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมแก่โรงเรียนเด็กพิการ และพระราชทานพระราชานุเคราะห์เป็นกรณีไป โดยจะพระราชทานพระราชดำริให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ไปศึกษาประเมินเพื่อพิจารณาว่ามีอุปกรณ์ใดที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการดำรงชีวิต หลังจากนั้นจะทรงจัดหามาให้ตามความจำเป็น และให้เนคเทคติดตามประเมินผลการใช้เพื่อนำไปขยายผลไปยังกลุ่มผู้พิการอื่นๆ ที่มีข้อจำกัดในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ต่อมาเนคเทคได้มีการจัดทำอุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับผู้พิการในด้านต่างๆ อาทิ ผู้พิการทางร่างกาย สายตาหูฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์สำหรับผู้พิการทั้งสิ้น

 


ตู้หนังสือไอทีพระราชทานที่พระราชทานแก่โรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ

 

“พระองค์โปรดฯให้ทำโครงการนี้โดยมีโรงเรียนศรีสังวาลย์เป็นหน่วยงานหลัก ได้พระราชทานชุดซอฟท์แวร์ Speech Viewer เพื่อช่วยในการฝึกออกเสียงและฝึกพูด สามารถใช้คอมพิวเตอร์ ที่ใช้เสียงสำหรับควบคุมคอมพิวเตอร์ได้ อาจจะควบคุมได้ว่านกมันบินไกลแค่ไหน ยีราฟวิ่งเร็วแค่ไหน เด็กก็จะออกเสียงโดยไม่รู้ตัวเด็กบางคนพูดไม่ได้ ก็จะมีเครื่องพกพาแล้วก็มีแผ่นที่ดึงออกได้เป็นรูปภาพ ถ้าเด็กต้องการกินข้าว มันก็จะพูดแทนว่ากินข้าว ถ้าจะไปห้องน้ำก็พูดว่าไปห้องน้ำ ตอนนี้ก็ใช้มาหลายปีแล้ว กำลังให้บริษัทผลิตในจำนวนที่สูงขึ้น จะเห็นว่าหลายๆ โครงการไม่ใช่ต้องรีบทำปุบปับ มีรับสั่งว่าให้รอบคอบ ให้เกิดประโยชน์จริง ไม่ได้ทรงเร่งรัด ผลที่ได้ก็จะมีประสิทธิภาพสูง

 

...อีกกรณีหนึ่งที่สัมพันธ์กัน ก็คือมีเด็กพิการคนหนึ่งอยู่ที่บ้านปลักปลา จังหวัดนราธิวาส ชื่อเด็กหญิงตอยีบะห์ ลือแม อายุประมาณ ๑๐ กว่าปีแล้ว และเป็นเด็กฉลาด แต่แกเกิดมาไม่มีแขน ไม่มีขา โชคดีคุณแม่เป็นแม่ครัวที่โรงเรียน พอมาทำงานก็เอาตอยีบะห์ใส่มอเตอร์ไซค์แล้วเอาผ้าคาดมา พอเรียนหนังสือก็มีน้องสาวนั่งข้างๆ ช่วยพี่สาวเปิดหนังสือ เพราะพี่สาวไม่มีมือเปิด เวลาเขียนหนังสือ ตอยีบะห์ ก็ต้องเอาปากคาบดินสอเขียน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็มีพระมหากรุณาให้พวกเราลงไปดูว่าไอทีหรือคอมพิวเตอร์จะช่วยแกได้อย่างไร คณะทำงานจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ก็นำคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์พระราชทาน จำนวน ๑ ชุด ไปมอบให้ ด.ญ.ตอยีบะห์ ที่โรงเรียนตามพระราชกระแสรับสั่ง

ก่อนหน้าจะได้รับคอมพิวเตอร์ ตอยีบะห์ได้เรียนการใช้โปรแกรม Microsoft Word หลังเลิกเรียน ทำให้สามารถจดจำตำแหน่งแป้นพยัญชนะและสระได้ และสามารถใช้คำสั่งเบื้องต้นในการทำเอกสารและสั่งพิมพ์งานได้ และในการพิมพ์บนแป้น คณะทำงานได้จัดทำอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการกดแป้นคีย์บอร์ดที่เรียกว่า Head Stick เป็นแท่งอะลูมิเนียมที่ยึดติดกับสายคาดศีรษะ จนเดี๋ยวนี้สามารถใช้งานได้คล่องแคล่ว ที่รับสั่งให้ดูด้วยอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องสรีระ สมัยก่อนแกก้มมาก ต่อไปหลังจะไม่ดี และเรื่องการช่วยเหลือตนเอง รับสั่งให้พามาที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสวางนิวาส สภากาชาดไทยในช่วงปิดเทอมเพื่อให้ฝึกช่วยเหลือตนเอง นอกจากนี้ยังรับสั่งด้วยว่าเวลานี้ตอยีบะห์อยู่ประถม น่าจะเตรียมการเรื่องมัธยมด้วย ผมคิดว่าสิ่งนี้ประเสริฐคณะทำงานซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ เพราะเด็กคนนี้ ถ้าไม่ช่วยแกเลย ชีวิตจะต้องแย่ การเรียนหนังสือทำให้แกเป็นไทแก่ตัว ต่อไปอาจจะมีอาชีพของตัวเอง อาจจะเป็นนักเขียนหรือมีอาชีพที่ใช้คอมพิวเตอร์”

 

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนในโครงการพระราชดำริฯ

ถ้าถามว่าเด็กใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไร ก็อาจจะใช้ในการเรียนหนังสือด้วย ใช้เพื่อความบันเทิงด้วย เล่นเกมบ้าง ผ่อนคลาย แต่อย่างน้อยโครงการนี้ก็ทำให้เห็นว่าเด็กพิการไม่ได้ถูกทอดทิ้งในด้านเทคโนโลยี

นอกจากนี้คณะทำงานในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการยังได้จัดอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการในด้านอื่นๆ อาทิ โครงการจัดทำอุปกรณ์สัญญาณเสียงเพื่อช่วยในการเดินทางของคนตาบอด โครงการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับช่วยสื่อสารขนาดพกพาสำหรับเด็กที่มีปัญหา

เรื่องการออกเสียง โครงการพัฒนาโปรแกรมช่วยสื่อสารด้วยภาษาไทยสำหรับผู้สูญเสียความสามารถทางการพูด โครงการพัฒนามัลติมีเดียภาษามือเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ด้วยพระเมตตากรุณาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ไม่ทรงทอดทิ้งผู้พิการที่ด้อยโอกาสในสังคม

 

นอกจากนี้ พระมหากรุณายังแผ่ไพศาลไปถึงผู้ด้อยโอกาสให้ทัณฑสถาน มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ต้องขังได้รับการ อบรมและฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ในระหว่างที่อยู่ในที่คุมขังเพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปพัฒนาตนเองเพื่อก้าวทันโลก และสามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งนี้ ได้พระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน ๒๐ เครื่อง พร้อมด้วยเครื่องพิมพ์แก่ทัณฑสถานหญิงกลาง บางเขน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ ทัณฑสถานหญิง บางเขน

 

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่าเป็นโครงการที่จะช่วยให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาตนเองและมีอาชีพ โดยคณะทำงานได้จัดหลักสูตรคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ต้องขังจนกระทั่งประสบผลสำเร็จ มีผู้ต้องขังที่ได้รับประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว ๓ รุ่น และนอกจากนี้ยังขยายผลโครงการไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางอีกแห่งหนึ่งด้วย

 

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่าน่าจะให้ผู้ต้องขังได้ฝึกใช้คอมพิวเตอร์บ้าง เพราะกลัวว่าถ้าเขาออกมาแล้วจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงพระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์ และก็มีครูจากกระทรวงศึกษาไปสอน จากนั้นก็จะมีงานพิมพ์ที่มาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒส่งเข้าไปให้พิมพ์ หลังๆ ก็มีงานทำส.ค.ส. เพราะมีผู้ต้องขังที่มีความสามารถด้านศิลปะก็ได้รับพระราชทานเครื่องใหม่เมื่อต้นปี มีสแกนเนอร์ ก็ทำให้ผู้ต้องขังได้เรียนโปรแกรมที่สูงขึ้น ใช้กราฟฟิค ปรากฏว่าสามารถสร้างรายได้ได้มากว่างานพิมพ์ดีดเยอะ มีคนข้างนอกมาจ้างทำแผ่นพับ ตกแต่งภาพ มางานกราฟฟิคต่างๆ เมื่อก่อนรับจ้างพิมพ์รายได้เดือนละสี่ห้าพัน แต่ตอนนี้เฉลี่ยเดือนละสามหมื่นบาททีเดียว ซึ่งผู้ต้องขังก็มีความสุขเล็กน้อยในนั้นและได้เรียนรู้ไปด้วย”

 

นอกเหนือจากโครงการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น พระราชกรณียกิจด้านเทคโนโลยี ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังครอบคลุมไปถึงด้านอื่นๆ อาทิ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล โครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น ทุกโครงการในพระราชดำริล้วนแล้วเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาส เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเอง และประเทศชาติต่อไป

 

ในฐานะข้าราชบริพารที่ได้ทำงานสนองเบื้องพระยุคลบาท ศ.ดร.ไพรัชได้กล่าวถึงโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า

“ผมคิดว่านี่คือเทคโนโลยีเพื่อชีวิต พระองค์รับสั่งว่าเห็นเทคโนโลยีมามากแล้ว ก็ทรงเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศนี่แหละที่มีประโยชน์มากต่อการพัฒนาคน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานเรื่องการศึกษา

 

รอยยิ้มของเด็กนักเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ

และทรงให้โอกาสคนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสคนพิการ คนชนบท คนที่เขาไม่มีโอกาส จะเห็นว่าการศึกษาทำให้คนเปลี่ยนฐานะได้ คนที่มาจากชนบท ไม่ได้ร่ำรวย เขาก็มีโอกาสจะทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนได้ด้วยการศึกษา

 

พระองค์ท่านได้พระราชทานโอกาสแก่พสกนิกร เวลาไปชายแดนทีไร ผมก็ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณทุกที เราได้เห็นเด็กตัวเล็กๆ ปลูกผักได้ เลี้ยงปลาก็ได้ ขณะเดียวกันเขาก็ใช้คอมพิวเตอร์เป็น นี่คือพระมหากรุณาต่อผู้ด้อยโอกาส ทำให้คณะทำงานมีแรงใจที่จะทำงานถวายอย่างเต็มสติกำลัง เพราะเราเชื่อว่าสิ่งใดที่พระองค์ท่านทำจะเกิดประโยชน์ต่อพสกนิกรอย่างแน่นอน”

 

เด็กนักเรียนในชนบทห่างไกลที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้...ผู้ต้องขังในทัณฑสถานที่สามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้จากงานอาชีพด้านคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งเด็กพิการที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาตนเองจนเสมือนว่าได้มีชีวิตใหม่ ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องยืนยันถึง “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต” ที่พวกเขาเหล่านั้นได้เรียนรู้จากชีวิตของตนเองเช่นกัน

 

โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะยังคงดำเนินการเพื่อนำเทคโนโลยีเพื่อชีวิตนี้ไปสู่ผู้ด้อยโอกาสที่ยังคงมีอยู่ทั่วทุกถิ่นแคว้นในประเทศไทยต่อไป แม้บางเส้นทางจะทุรกันดารหรือเต็มไปด้วยอุปสรรคนานาประการ แต่พระมหากรุณาในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เปรียบเสมือนดวงประทีปส่องทางสร้างสรรค์ให้พสกนิกรได้ยึดถือเป็นหลักชัย และนำแนวพระราชดำริไปร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้รุ่งเรืองสืบไป