การมีส่วนร่วมในกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม : เทคนิคและวิธีการที่เหมาะสมในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย*

ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

 

ในการแสดงทัศนะในเรื่อง ธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมของประชาชน และกระบวนการตัดสินใจด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการที่เหมาะสมในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นใหญ่ กล่าวคือ

 

ประเด็นแรกเป็นเรื่องหลักของธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจในทางสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นซึ่งดูจะไม่มีคนถกเถียงสักเท่าใดนัก แต่จำเป็นต้องกล่าวถึงเพื่อจะนำไปสู่ประเด็นที่ 2 คือประเด็นทางเทคนิค และรายละเอียดในเรื่องที่เราเรียกว่าส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเด็นสุดท้ายก็คือประเด็นเชิงวัฒนธรรมซึ่งเป็นประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดในการนำความสำเร็จหรือความล้มเหลวมาสู่ส่วนร่วมดังกล่าว

 

1.     ประเด็นหลักการ ซึ่งก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงหลักการที่มีการบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ได้กล่าวแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเปลี่ยนสังคมและการบริหารสังคมไทยจากการเมืองโดยมีผู้แทนไปสู่การเมืองของพลเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางภาวการณ์ต่อต้าน การถูกวิพากษ์วิจารณ์  แม้กระทั่งการพยากรณ์หลายอย่างจากคนที่เป็นกลางหรือจากผู้ที่เสียประโยชน์ ในการเลือกตั้งสมาชิดวุฒิสภาครั้งที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งผลบางประการ จนนักวิชาการต่างประเทศเริ่มพูดถึงกันแล้ว อาจารย์ชัยอนันต์ได้พูดถึงสังคมพหุนิยมเป็นความจริงแล้วผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกันมีความหวาดเกรงต่อสังคมที่เรียกว่าสังคมข้างเราเรียกกันว่า Majoritierial Politics ซึ่งต้องการให้สังคมอเมริกันโดยเฉพาะการเมืองอเมริกัน เป็นการเมืองแบบพหุนิยม Pluralistic คือมีตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลายในรัฐสภา ถ้าดูประวัติรัฐธรรมนูญอเมริกันจะเห็นได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกันประสบความสำเร็จตรงนั้น โดยเฉพาะวุฒิสภาที่ได้รับความหลากหลายของกลุ่มต่าง ๆ พอสมควร แต่ว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ระบบการเมืองเสียงข้างมากก็เข้ามาแทนที่การเมืองอเมริกันในวุฒิสภา ข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุดคือ กระบวนการ Impeachment ซึ่งควรจะเป็นกระบวนการกึ่งตุลาการที่ไม่เป็นฝักเป็นฝ่าย ครั้งหลังสุดนี้แสดงชัดแจ้งว่าเป็นขบวนการที่เป็นฝักเป็นฝ่าย การเมืองที่ก่อตั้งรัฐธรรมนูญต้องการจะให้เป็นการเมืองพหุนิยมพัฒนามาสู่การเมืองของเสียงข้างมาก ในขณะที่การเมืองไทยในสภาผู้แทนราษฎรนั้นถูกออกแบบให้เป็นการเมืองแบบเก่าตามที่ท่านอาจารย์ชัยอนันต์เรียก คือการเมืองที่ใช้เสียงข้างมากให้เกิดขึ้นแต่การเมืองในวุฒิสภาซึ่งเป็นการเมืองที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้เป็นการเมืองภาคพลเมืองจึงห้ามผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง ห้ามหาเสียงแบบพรรคการเมือง แต่เราก็ไม่ผิดหวังที่เราได้เห็นว่ากระบวนการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ว่าเขตเลือกตั้งใหญ่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเลือกตั้งได้คนเดียว ทั้ง ๆ ที่เขตเลือกตั้งนั้นมีสมาชิกวุฒิสภาได้หลายคน สามารถทำให้เกิดการเมืองพหุนิยมอย่างแท้จริงในวุฒิสภาได้ ดังเช่นคนอย่างคุณจอน อึ้งภากรณ์ซึ่งมีผู้สนับสนุนเพียง 22,000คน แล้วก็เป็นองค์การพัฒนาเอกชนก็มีสิทธิเข้าไปนั่งในสภาแห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่ถ้าว่ากันตามหลักการเมืองแบบเสียงข้างมาก คุณจอนก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปนั่งเพราะมีเสียงไม่ถึง 1% ของผู้ที่มาใช้สิทธิในจังหวัดปัตตานีซึ่งถ้าใช้การเมืองแบบเสียงข้างมากก็จะมีแต่ตัวแทนเพื่อนชาวไทยมุสลิมเท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่าคนที่ได้ที่ 2 เป็นชาวไทยพุทธ วุฒิสภาซึ่งเป็นสภาพหุนิยมอย่างนี้เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่นท่านอาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ซึ่งเป็นวิทยากรในการสัมนา ถ้าใช้ระบบเสียงข้างมากก็อาจไม่ได้เข้าไปนั่งในวุฒิสภา แต่ว่าอาจารย์พนัสในฐานะที่ท่านเป็นนักกฎหมายที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ได้เข้าไปนั่งในวุฒิสภาด้วยระบบการเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีขึ้นนั่นคือข้อสังเกตเบื้องต้น ถ้าผมพูดถึงสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้วผมคิดว่าชัดแจ้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้วางรากฐานไม่เพียงประชาธิปไตยที่ต้องการให้มีความสุจริต ที่ต้องการให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ แต่ได้วางโครงสร้างและกระบวนการของธรรมาภิบาลภาครัฐเอาไว้อย่างครบถ้วน กล่าวคือได้วางสิ่งที่เป็นปัจจัย 3 ประการของธรรมาภิบาลเอาไว้ ได้แก่

 

1.1       รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเป้าหมายที่ชัดแจ้งว่าต้องการจะก่อให้เกิดความผาสุกของทุกภาค ทุกกลุ่มในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งภาคครอบครัวและบุคคลต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นการจัดสรรสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มคนต่าง ๆ เหล่านี้อย่างครบถ้วน

1.2   รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดโครงสร้างและกระบวนการ ที่ทุกภาคไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคครอบครัวและบุคคลสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหาร จัดการสังคมได้ วางโครงสร้างและกระบวนการให้โปร่งใสและสามารถรับผิดชอบตรวจสอบได้ กระบวนการที่ว่านี้ ในทัศนะส่วนตัวผมเห้นว่าเป็นกระบวนการที่เป็นหัวใจเป็นโครงสร้างที่เป็นหัวใจ เพราะโครงสร้างและกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคที่แท้จริงจะนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม คือ แต่ละภาคจะได้ส่วนที่แต่ละภาคควรจะต้องได้ภายหลังจากการต่อรอง เมื่อเกิดความเป็นธรรมเพราะทุกภาคยอมรับกันได้ก็จะเกิดความสมดุลและ ความยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้พยายามกำหนดโครงสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมซึ่งจะนำมาซึ่งความเป็นธรรมที่ทุกภาคยอมรับแล้วก็นำมาซึ่งความยั่งยืน กระบวนการที่มีส่วนร่วมที่เรียกว่า Participation จะนำสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาที่เป็นธรรมที่เรียกว่า Equitable Development ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกฝ่ายอย่างกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาในอดีตซึ่งยืนอยู่ข้างภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น เมื่อเป็นกระบวนการที่สามารถเป็นธรรม และยอมรับกันได้ทุกฝ่ายก็จะเป็นกระบวนการซึ่งนำผลคือความยั่งยืนมา เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เชื่อว่า Participation หรือส่วนร่วมจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่เป็นธรรมที่เรียกว่า Equitable Development และการพัฒนาที่เป็นธรรมจะนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ความยั่งยืน หรือ Sustainability

1.3     รัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นการจัดสรรสิทธิประโยชน์ให้คนทุกกลุ่มอย่างสมดุล ถ้ากล่าวโดยเฉพาะถึงสิ่งแวดล้อมก็คงจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่มีสีเขียวที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะว่ามีบทบัญญัติอย่างน้อยที่สุด 7 มาตรา ที่กล่าวถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายในทางชีวภาพ บทบัญญัติเหล่านี้ได้เปลี่ยนสิ่งที่เป็นหลักการสำคัญอย่างน้อยที่สุด 4 ประเด็นที่เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ได้แก่

          1.3.1     ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของรัฐแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของความเป็นเจ้าของ หรือการจัดการ แต่ว่าเป็นเรื่องของคนทั้งชาติซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกที่ถือว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของรัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแล้ว แต่ว่าเป็นเรื่องของคนทั้งโลกทุกคน

          1.3.2     รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สร้างความสัมพันธ์ทุกกลุ่มขึ้นในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่กับภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนดังที่เป็นมาในอดีต การยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างคนแต่ละคน ชุมชนท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรปกครองท้องถิ่น รัฐ แล้วก็องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมิติใหม่ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อน

          1.3.3     รัฐธรรมนูญฉบับนี้เชื่อมโยงการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการใช้หลักทรัพยากรธรรมชาติและความหมายทางชีวภาพเข้าด้วยกัน ไม่ได้ให้ความสำคัญแบบแยกส่วนอย่างในอดีต ที่พอพูดถึงสิ่งแวดล้อมก็มองแต่สิ่งแวดล้อม แยกคนออกจากสภาพธรรมชาติ ให้ความสำคัญแต่กับตัวเลขทางเทคนิค ค่าความบริสุทธิ์ของอากาศ ค่าความบริสุทธิ์ของน้ำ แต่ไม่ได้ดูความสัมพันธ์เชื่อมโยงในชีวิตจริงของคนว่าต้องสัมพันธ์ กันทั้งสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากร

          1.3.4     รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้จัดแจ้งโดยเฉพาะในมาตรา 79 ว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและในกระบวนการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมประเด็นหลักการจึงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไปในการสัมมนาครั้งนี้

 

2.  ประเด็นทางเทคนิคและทางเลือก การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้น ปัญหาในปัจจุบันนี้อยู่ที่วิธีการมีส่วนร่วม อยู่ที่การคิดเครื่องมือและเทคนิคของการก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม รัฐธรรมนูญได้ตั้งโจทย์ให้ท่านตอบคำถามในหลายเรื่องซึ่งเป็นเรื่องเครื่องมือและเทคนิคที่จะใช้ในการมีส่วนร่วม ต่อไปนี้เป็นประเด็นคำถามที่เป็นโจทย์เป็นประเด็นที่รัฐธรรมนูญตั้งไว้ให้ตอบ และผมหวังว่าการสัมมนาในเรื่องนี้ท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาคงหาคำตอบคำถามต่อไปนี้ได้

     2.1     ความสัมพันธ์ของคน 5 กลุ่ม บุคคลแต่ละคนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 56 รับรองสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่รัฐธรรมนูญมาตรา 56 ที่กำหนดไว้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ ทั้งด้านการเข้าไปใช้ทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ในมาตรา 56 อีกเช่นกันให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 290 ที่มีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดคือตัวรัฐเองซึ่งคงจะต้องปรับบทบาทจากการเป็น เจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และการเป็นผู้จัดการแต่ผู้เดียวไปสู่การจัดการในการมีส่วนร่วมของคนทั้ง 5 กลุ่มนี้ คำถามที่จะต้องตอบให้ได้ก็คือว่าจะแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างไรจึงจะสร้างฉันทามติให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มทั้ง 5 นี้

     2.2     การสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติ ตลอดจนความหลากทางชีวภาพและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ความสัมพันธ์ของ สองสิ่งนี้จะมีคนเป็นตัวเชื่อม เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสุดขั้วจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก็เป็นไปอีกไม่ได้อีกเช่นกันที่การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ และความหลากหลายจากทางชีวภาพจะไม่ดูการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โจทย์ของการสร้างความสมดุลตรงนี้ การหาเทคนิค การหาวิธีการจะให้เกิดสมดุลตรงนี้จึงต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะประโยชน์เหนือทรัพยากรจากธรรมชาติและความหลากหลายของชีวภาพในประเทศไทยเป็นเดิมพันที่สูงมาก ที่ไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศเท่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม บริษัทต่างประเทศก็เข้ามามีส่วนร่วม และรัฐต่างประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็จะเข้ามามีบทบาทไม่น้อย

     2.3     รูปแบบส่วนร่วมที่เหมาะสม เป็นรูปแบบที่ต้องคิดกัน เพราะว่าส่วนร่วมมีตั้งแต่ร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผล ไปจนกระทั่งถึงร่วมตรวจสอบ แม้กระทั่งการร่วมรับรู้แบบ Passive คือประชาชนต้องเข้าไปขอข้อมูลจึงจะให้ และการร่วมรับรู้แบบ Active ก็คือส่งข้อมูลไปให้ประชาชน เพราะฉะนั้นความหลากหลายของรูปแบบเหล่านี้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการก็อาจจะต้องรูรูปแบบที่เหมาะสม นอกจากนั้นรูปแบบของกิจกรรมการมีส่วนร่วมก็แตกต่างกันไปตั้งแต่มีการออกกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า Regulatory Decision ตลอดจนการกำหนดแผนซึ่งอาจจะเป็นแผนที่มีลักษณะชี้นำจนกระทั่งถึงการตัดสินใจให้มีโครงการแต่ละโครงการ และการลงมือทำตามโครงการนั้น ส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้รูปแบบอาจจะไม่เหมือนกัน เราพูดกันถึงประชาพิจารณ์คำถามก็คือว่าประชาพิจารณ์จะนำมาใช้ได้หรือเปล่าในการสร้างกฎเกณฑ์ หรือในการกำหนดแผน รูปแบบใดจะเหมาะสม รูปแบบการปรึกษาหารือแบบที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แทนที่จะใช้ระบบเผชิญหน้าแบบประชาพิจารณ์นี่เป็นคำถามเชิงเทคนิคที่ผมคิดว่าต้องตอบให้ได้

     2.4     เวลาและผลของการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกัน การมีส่วนร่วมในเวลาที่มีการตัดสินใจไปแล้ว จะเรียกว่าการมีส่วนร่วมหรือการประชาสัมพันธ์โครงการต้องแยกกันให้ชัดเพราะสิ่งที่ทำมาในประเทศไทยยังยกตัวอย่างไม่ได้ว่ามีส่วนร่วมกันมาตั้งแต่ต้นนอกจากการมีส่วนร่วมแบบการประชาสัมพันธ์โครงการซึ่งตัดสินใจมาแล้วทั้งสิ้น

 

3.  ประเด็นสุดท้ายคือประเด็นทางวัฒนธรรมที่จะฝากไว้ให้ท่านทั้งหลายช่วยกันคิดการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับการออกกฎ การวางแผนการมีโครงการไปจนถึงการดำเนินการตามโครงการ เป็นการตัดสินใจจัดสรรสิทธิประโยชน์ที่มีประโยชน์เงินทองเกี่ยวข้องอยู่ด้วย จะมีผู้ได้มาก จะมีผู้ได้น้อย จะมีผู้เสียมาก จะมีผู้เสียน้อย ซึ่งก็แน่นอนว่าจะนำความขัดแย้งมาสู่กระบวนการที่เลือกจัดสรรนั้น เมื่อความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ฝังตัวอยู่ในกระบวนการตัดสินใจถ้าไม่มีกระบวนการเชิงวัฒนธรรมที่ดี ความขัดแย้งนั้นแทนที่จะหาฉันทามติก็จะนำไปสู่ความรุนแรงแตกหักในท้ายที่สุด การมีส่วนร่วมแบบตะวันตกมีลักษณะที่นำข้อขัดแย้งขึ้นมาบนโต๊ะมาเผชิญหน้ากัน พูดกัน แล้ว ก็ประสานประโยชน์กันให้ได้ ยอมรับในจุดบางจุดของฝ่ายตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมสวนทางกับการมีส่วนร่วมแบบตะวันตก ซึ่งจะสรุปได้ดังนี้

     3.1     ประเทศไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม ผู้มีอำนาจไม่นิยมการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้มีอำนาจคิดว่าตัวเองเป็นผู้ปกครอง มองประชาชนว่าเป็นราษฎรผู้อยู่ใต้ปกครอง ไม่ได้มองราษฎรว่าเป็นพลเมืองซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเมืองซึ่งจะต้องมีส่วนในกระบวนการตัดสินใจทั้งหมด เราจึงเห็นว่าตลอดมาในกระบวนการมีส่วนร่วมทุกที่ไม่ว่าที่หินกรูดหรือว่าที่ไหนก็ตาม เป็นการตัดสินใจเสร็จเด็ดขาดแล้วจึงเอามาทำสิ่งที่เรียกกันว่า ประชาพิจารณ์ หรือเรียกกันว่า Public Hearing แบบไทย ๆ เอามาทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนยอมรับ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวัฒนธรรมไทยไม่เชื่อในความเสมอภาค เราไม่เคยเชื่อนะครับ เราบอกว่าคนเกิดมาดีชั่ว รวย มีอำนาจ สวย ขึ้นอยู่กับกรรม คนไม่เท่ากัน คนเป็นผู้นำก็ต้องนำ คนที่เป็นผู้ตามก็ต้องตาม เราก็ไม่เชื่ออีกในเชิงวัฒนธรรมว่าสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญ ความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมนี้สะท้อนออกหลายเรื่อง การจัดทำโครงการใหญ่ ๆ เช่น การสร้างเขื่อน เราจะมีวิธีคิดต่างจากตะวันตกโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ตะวันตกเชื่อว่าความเสมอภาคนั้นไม่ได้หมายถึงเสมอภาคในสิทธิแต่อย่างเดียวแต่หมายถึงความเสมอภาคในภาระด้วย การที่คนกลุ่มหนึ่งถูกไล่ที่ออกจากบริเวณเขื่อนที่จะสร้างเพื่อให้สร้างเขื่อน เอาไฟฟ้า เอาน้ำมาใช้สำหรับชลประทานเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ตะวันตกถือว่าคนที่ถูกไล่ที่ออกนั้นเป็นสิ่งที่เกินกว่าภาระที่เขาจะรับได้ เขาควรจะได้รับการดูแล รัฐและสังคมต้องลงไปอุ้มชู แต่สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่คิดในทางตรงกันข้ามเห็นว่าคนที่ถูกไล่ที่ควรเสียสละให้คนส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะถูกล่าวหาว่าขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองให้เสียสละ จึงต้องเห็นสภาพที่ไม่ควรจะได้เห็น คือคนเหล่านั้นต้องไปอยู่ในที่ซึ่งเพาะปลูกอะไรไม่ได้เลย

     3.2     สังคมไทยยังก้าวไม่พ้นระบบอุปถัมภ์ในระบบการผลิตแบบเกษตร ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายผู้ให้อุปถัมภ์กับบ่าวผู้อยู่ในอุปถัมภ์ ที่ต้องพึ่งพา ความพึ่งพาหรือความพึ่งพิงนี่เองทำให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวต้องตอบแทนกัน และเมื่อต้องตอบแทนกันความสัมพันธ์ส่วนตัวจึงอยู่เหนือหลักการเหตุผลและกฎหมาย กฎหมายไทยจะศักดิ์สิทธิเฉพาะกับคนนอกวงอุปถัมภ์ที่ผู้ใช้กฎหมายไม่รู้จัก แต่ถ้าเป็นคนอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ที่ผู้ใช้กฎหมายรู้จักสนิทสนมด้วยกฎหมายไทยก็พร้อมที่จะยกเว้น สังคมระบบอุปถัมภ์จึงเกิดสภาพที่ขนคนกันมา ผู้อุปถัมภ์ที่เป็นนายต้องการสนับสนุนโครงการใดก็ขนคนกันมา ผู้คัดค้านก็จะใช้ระบบเดียวกันไปขนคนกันมาคัดค้าน ตั้งแต่กรณีการสร้างแก่งเสือเต้นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ใต้เขื่อนอยากให้มีเขื่อนก็ไปขนชาวบ้านชาวเมืองมา ในขณะที่ผู้คัดค้าน องค์การพัฒนาเอกชนก็ใช้ระบบขนคนมาเช่นเดียวกันจึงเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างนายสองฝ่ายกับบ่าวในสังกัด

     3.3     สังคมไทยมีการซ่อนความขัดแย้งทางวาจาและความคิดไว้ด้านหลัง แต่แฝงความรุนแรงไว้ด้านหลังด้วยเพราะฉะนั้นจึงเกิดการซื้อคนที่กำลังจะคัดค้าน ถ้าซื้อแล้วไม่ได้ก็เกิดการฆ่ากัน กระบวนการประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการแบบตะวันตกแบบที่เอาข้อขัดแย้งมาวางไว้บนโต๊ะ เจรจากันแบบเผชิญหน้า Confrontational จึงสวนทางกับวัฒนธรรมไทยโดยสิ้นเชิง

     3.4     ประการสุดท้ายสังคมไทยให้ความสำคัญกับข้อมูลและเขตผลน้อยกว่าความรู้สึก เรามีคำสุภาษิตว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา” หนังสือนี่เป็นตรีนะครับ หนังสือที่เกิดจากการคิดการศึกษาข้อมูลนี่มาทีหลัง เพราะฉะนั้นสังคมไทยจึงเป็นสังคมที่เชื่อง่าย ถ้าบอกว่าเรื่องนี้เป็นความลับอย่าไปพูดนะแล้วข่าวจะไปเร็วที่สุด แล้วคนไทยก็เชื่อทันทีประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นทางวัฒนธรรมเมื่อนำมาสวมลงในการเมืองแบบมีส่วนร่วมของพลเมืองซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมาก ก็อาจจะทำให้กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเองนำไปสู่สิ่งที่เราไม่คาดฝันให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นประเด็นการพิจารณาเรื่องรูปแบบและเทคนิคและวิธีการที่เหมาะสมกับประเด็นเชิงวัฒนธรรมจึงต้องไปควบคู่กัน ผมคิดและเชื่อว่าชุมนุมปราชญ์ในการสัมมนานี้ทั้งปราชญ์ไทยและปราชญ์ตะวันตกจะหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ได้ คงไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องหลักการกันแล้ว แต่ต้องพูดเรื่องเทคนิค วิธีการที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยซึ่งไม่ใช่สังคมที่ยอมความขัดแย้งซึ่งหน้า

 

*ปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาเรื่อง “ธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม” วันที่ 18-19 มีนาคม 2543 ณ ห้องประชุม 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์