สุนทรภู่ให้รู้จักรักบิดามารดาและรู้จักรักตัวเองเพราะเป็นที่พึ่ง แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงสอนไว้ลึกซื้งยิ่งกว่านั้น
 
พระพุทธเจ้าสอนให้รักและเคารพใน "ทิศ 6" ซึ่งหมายถึงถึง บุคคลต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์
ทางสังคม ท่านสอนว่า ผู้ที่เราควรให้ความรัก ความเคารพ และสำนึกในบุญคุณนั้น เปรียบได้ดังทิศที่อยู่รอบตัว
 
หากจะให้เรานึกถึงทิศที่อยู่รอบตัว เราคงนึกได้เพียง 4 ทิศ คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้อง
ซ้าย และทิศเบื้องขวา แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ลึกซึ้งกว่านั้นว่า ยังมีทิศเบื้องล่างและทิศเบื้องบนอีก 2 ทิศ รวมทั้งหมดเป็นทิศ 6
 
ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก อธิบายไว้ในหนังสือ "พจนานุกรมพุทธศาสตร์" ว่า
 
 ทิศที่ 1 เรียกว่า ปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า คือทิศตะวันออก ได้แก่บิดามารดา เพราะเป็นผู้ให้
อุปการะแก่เรามาก่อน) ท่านให้คำอธิบายต่อไปว่า
 
ก. บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าดังนี้
 
  1. ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
  2. ช่วยทำการงานของท่าน
  3. ดำรงวงศ์สกุล
  4. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
  5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
 
ข. มารดาบิดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดาดังนี้
 
  1. ห้ามปรามจากความชั่ว
  2. ให้ตั้งอยู่ในความดี
  3. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
  4. หาคู่ครองที่สมควรให้
  5. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันควร
 
 ทิศที่ 2 เรียกว่า ทักษิณทิศ ทิศเบื้องขวา คือทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล
ควรแก่การบูชา ท่านอธิบายความหมายของทิศนี้ว่า
 
ก. ศิษย์พึงบำรุงอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ดังนี้
 
  1. ลุกขึ้นต้อนรับ
  2. เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา ซักถาม และรับคำแนะนำ เป็นต้น)
  3. ใฝ่ใจเรียน (คือ มีใจรัก เรียนด้วยศรัทธา และรู้จักฟังให้เกิดปัญญา)
  4. ปรนนิบัติ
  5. เรียนศิลปวิทยาโดยความเคารพ (คือ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ)
 
ข. ครูอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ดังนี้
 
  1. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
  2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
  3. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
  4. ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
  5. ช่วยคุ้มครอง เป็นที่พึ่งพำนักในทิศทั้งหลาย
 
 ทิศที่ 3 เรียกว่า ปัจฉิมทิศ ทิศเบื้องหลัง คือทิศตะวันตก ได้แก่ บุตร ภรรยา เพราะเป็นกำลังติดตาม
เป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ทิศปัจฉิมนี้มีคำอธิบายไว้ดังนี้
 
ก. สามีพึงบำรุงภรรยา
 
  1. ยกย่องให้เกียรติ สมกับฐานะภรรยา
  2. ไม่ดูหมิ่น
  3. ไม่นอกใจ
  4. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
  5. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
 
ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามีดังนี้
 
  1. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
  2. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
  3. ไม่นอกใจ
  4. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
  5. ขยัน ไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
 
 ทิศที่ 4 เรียกว่า อุตตรทิศ ทิศเบื้องซ้าย คือทิศเหนือ ได้แก่ มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้น
อุปสรรคภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุนให้บรรลุความสำเร็จ ทิศนี้ ท่านอธิบายขยายความไว้ดังนี้
 
ก. บุคคลพึงบำรุงมิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
 
  1. เผื่อแผ่แบ่งปัน
  2. พูดจามีน้ำใจ
  3. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
  4. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน
  5. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน
 
ข. มิตรย่อมอนุเคราะห์ตอบดังนี้
 
  1. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
  2. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
  3. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
  4. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
  5. นับถือตลอดวงศ์ญาติ
 
 ทิศที่ 5 เรียกว่า เหฎฐิมทิศ ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงาน
ต่างๆ เป็นฐานกำลังให้
 
ก. นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงานผู้เป็นทิศเบื้องล่างดังนี้
 
  1. จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
  2. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
  3. จัดสวัสดิการดี ช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้
  4. ได้ของแปลกๆ พิเศษมาก็แบ่งปันให้
  5. ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
 
ข. คนรับใช้และคนงานย่อมอนุเคราะห์นายดังนี้
 
  1. เริ่มทำการงานก่อนนาย
  2. เลิกงานทีหลังนาย
  3. ถือเอาแต่ของที่นายให้
  4. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
  5. นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่
 
 ทิศที่ 6 เรียกว่า อุปริมทิศ ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์เพราะเป็นผู้สูงด้วย
คุณธรรมและเป็นผู้นำทางจิตใจ
 
ก. คฤหัสถ์ย่อมบำรุงพระสงฆืผู้เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้
 
  1. จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยเมตตา
  2. จะพูดสิ่งใดก็พูดด้วยเมตตา
  3. จะคิดสิ่งใดก็คิดด้วยเมตตา
  4. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
  5. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย
 
ข. พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ดังนี้
 
  1. ห้ามปรามจากความชั่ว
  2. ให้ตั้งอยู่ในความดี
  3. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
  4. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
  5. บอกทางสวรรค์ คือ ความสุขความเจริญให้
 
ที่กล่าวมาทั้ง 6 ทิศนี้ คือ หนทางปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบด้วยของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความรัก
และความเอื้ออาทรต่อกัน ระหว่างผู้เป็นลูกกับมารดาบิดา ระหว่างผู้เป็นครูอาจารย์กับศิษย์ ระหว่างผู้เป็นภรรยากับสามี ระหว่างผู้ที่เป็นมิตรสหายที่หวังดีต่อกัน ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใช้แรงงานและลูกน้อง และระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิต
 
สังคมมนุษย์จะมีสันติสุขด้วยความปรารถนาและช่วยเหลือกันในหมู่มนุษย์ที่เป็นพลเมือง
ของโลก
 
ความรักเป็นรากฐานของความปรารถนาดี และความเอื้ออาทรระหว่างมนุษย์
 
ขอให้พิจารณาด้วยเหตุผลและความถูกต้อง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของเพื่อนร่วมชีวิต

ที่มา: คัมภีร์ครอบครัว ประจำปี 2544. กรุงเทพฯ: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย, 2544.
(หน้า63 - 67)

[อ่านบทความย้อนหลัง]