สังคหพละ  แปลว่า กำลังแห่งการสังเคราะห์หรือมนุษย์สัมพันธ์  ซึ่งเป็นธรรมที่สำคัญมากสำหรับบริหารผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่นๆ ถ้านักบริหารบกพร่องเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ก็จะไม่มีคนมาช่วยงานเมื่อไม่มีใครช่วยทำงานเขาก็เป็นนักบริหารไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ไว้เรียกว่า "สังคหวัตถุ"   หมายถึงวิธีผูกใจคน พระองค์ตรัสว่ารถม้าแล่นไปได้เพราะมีลิ่มสลักคอยตรึงส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถม้าเข้าด้วยกันฉันใด  คนในสังคมก็ฉันนั้นคือรวมกันเป็นกลุ่มหรือองค์กรได้ก็เพราะลิ่มสลัก ทำหน้าที่เป็นกาวใจเชื่อมประสานคนทั้งหลายเข้าด้วยกัน ลิ่มสลักดังกล่าวนั้น คือ สังคหวัตถุ

นักบริหารจะสามารถผูกใจเพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาไว้ได้ ถ้ามีสังคหวัตถุ ๔ ประการ ๑๐ คือ

๑) ทาน  หมายถึงการให้(โอบอ้อมอารี) นักบริหารที่ดีต้องมีน้ำใจรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ทานแก่เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา การให้ทานจะช่วยให้ผูกใจคนอื่นไว้ได้ดังพุทธพจน์ว่า "ททํ คนฺถฺติ มิตฺตานิ  ผู้ให้ย่อมผูกใจมิตรไว้ได้"   การทำทานจะไม่สูญเปล่า ผู้ให้สิ่งที่ดีย่อมได้รับสิ่งที่ดีตอบแทน ดังบาลีว่า "มนาปทายี ลภเต มนาปํ ผู้ให้สิ่งที่น่าพอใจย่อมได้รับสิ่งที่น่าพอใจ"

นักบริหารอาจให้ทานได้ 3 วิธี คือ

ก. อามิสทาน  หมายถึงการให้สิ่งของแก่เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะการให้เพื่อผูกใจนี้สำคัญมากในยามที่เขาตกต่ำหรือมีความเดือดร้อน ดังภาษิตอังกฤษที่ว่า "เพื่อนแท้คือเพื่อนที่ช่วยในยามตกยาก" การให้รางวัลหรือขึ้นเงินเดือนก็จัดเข้าในอามิสทาน

ข วิทยาทานหรือธรรมทาน หมายถึงการให้คำแนะนำหรือสอนวิธีทำงานที่ถูกต้อง รวมถึงการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรหรือส่งไปศึกษาและดูงาน

ค. อภัยทาน หมายถึงการให้อภัยเมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานหรือล่วงเกินซึ่งกันและกัน การให้อภัยไม่ทำให้ผู้เห็นต้องสูญเสียอะไร เป็นการลงทุนราคาถูกแต่ได้ผลตอบแทนราคาสูงนั่นคือ ได้มิตรภาพกลับคืนมาและมีคนสนองงานเพิ่ม ขึ้นอีกคนหนึ่ง มีภาษิตจีนว่า "มีมิตร ๕๐๐คน  นับว่ายังน้อยเกินไป มีศัตรู ๑ คนนับว่ามากเกินไป" อับราฮัม ลินคอล์นกล่าวว่า "วิธีทำลายศัตรูที่ดีที่สุดคือเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร" เราจะทำอย่างนั้นได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้จักให้อภัย

๒) ปิยวาจา หมายถึง  การพูดถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน (วจีไพเราะ)  นักบริหารที่ดีจะรู้จักผูกใจคนด้วยคำพูดอ่อนหวาน คำพูดหยาบกระด้างผูกใจใครไม่ได้ ตามปกติคนเราจะมัดสิ่งของต้องใช้ของอ่อนเช่นเชือกหรือลวดมัด ในทำนองเดียวกันเราจะมัดใจคนได้ก็ด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ดังโคลงโลกนิติที่ว่า

อ่อนหวานมานมิตรล้น   เหลือหลาย

หยาบบ่มีเกลอกราย      เกลื่อนใกล้

ดุจพวงศศิฉาย             ดาวดาษ ประดับนา

สุริยส่องดาราไร้            เมื่อร้อนแรงแสง

อัตถจริยา  หมายถึงการทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น (สงเคราะห์ประชาชน) ตรงกับคำพังเพยที่ว่า "อยู่บ้านท่านอย่างนิ่งดูดายปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น"  นักบริหารทำอัตถจริยาได้หลายวิธี เช่น บริหารช่วยเหลือยามเขาป่วยไข้หรือเป็นปรานในงานพิธีของผู้ใต้บังคับบัญชา

อาศัยเรือนท่านให้        วิจารณ์

เห็นท่านทำการงาน      ช่วยพร้อง

แม้มีกิจโดยสาร           นาเวศ

พายค่อยช่วยค้ำจ้วง      จรดให้จนถึง

สมานัตตตตา  หมายถึง การวางตัวสม่ำเสมอ (วางตนพอดี)  เมื่อนักบริหารไม่ทอดทิ้งผู้ร่วมงานทั้งหลาย เขาจึงจะสามารถสร้างทีมงานขึ้นมาได้ นั่นคือถือคติว่า "มีทุกข์ร่วมทุกข์มีสุขร่วมเสพ"  นักบริหารต้องกล้ารับผิดชอบในผลการตัดสินใจของตน ถ้าผลเสียตกมาถึงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของตน  นักบริหารต้องออกมาปกป้องคนนั้นไม่ใช่หนีเอาตัวรอดตามลำพัง  ตัวอย่างคนที่มีสมานัตตตาก็คือคนที่เป็น "เพื่อนตาย" ในโคลงบทนี้

เพื่อนกิน สิ้นทรัพย์แล้ว       แหนงหนี

หาง่าย   หลายหมื่นมี             มากได้

เพื่อนตาย  ถ่ายแทนซี            วาอาตย์

หายาก  ฝากผีไข้                  ยากแท้จักหา

เมื่อนักบริหารมีสังคหวัตถุทั้ง  ๔ ประการ คือ โอบอ้อมอารี  วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชาชนและวางตนพอดี  เขามีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีสามารถผูกใจคนไว้ได้ แต่สังคหวัตถุเหล่านี้เป็นเรื่องพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมา เพื่อให้แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นมาโดยไม่ต้องฝืนใจ  นักบริหารต้องมี พรหมวิหารธรรม  คือธรรมสำหรับผู้ใหญ่ ๔  ประการ๑๑ คือ  

๑. เมตตา  ได้แก่ความรักความหวังดีที่ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข นักบริหารต้องมีความรักและความหวังดีแก่เพื่อนร่วมงาน ความรักจะเกิดได้ถ้านักบริหารรู้จักมองแง่ดีหรือส่วนที่ดีของเพื่อนร่วมงาน ถ้าพบส่วนเสียในตัวเขา นักบริหารต้องรู้จักมองข้ามและให้อภัย  เพื่อพบส่วนดีก็จดจำไว้เพื่อจะได้ใช้คนให้เหมาะกับลักษณะที่ดีของเขา ดังนั้น เมตตาหรือความรักจึงเกิดจากการมองแง่ดีของคนอื่น  ท่าน พุทธทาสภิกขุ ประพันธ์ไว้ว่า

เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา

จงเลือกเอาส่วนดีเขามีอยู่

เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู

ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย

การจะหาคนดีโดยส่วนเดียว

อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย

เหมือนมองหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย

ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

กรุณา คือความสงสารเห็นใจ ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เมื่อเพื่อนร่วมงานประสบเคราะห์กรรม นักบริหารต้องมีความสงสารหวั่นใจ และคิดหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกนั้น ความสงสารจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักบริหารเปิดใจกว้างรับฟังปัญหาของคนอื่น

กรุณาต่างจากเมตตาตรงที่ว่า กรุณาเกิดขึ้นเมื่อมอง จุดด้อย ของคนอื่น ส่วนเมตตาเกิดขึ้นเมื่อมอง จุดดี ของเขา เช่น เราเห็นเด็กน้อยหน้าน่าตารักเดินมา เรามีจิตเมตตาเขาเมื่อเด็กนั้นหกล้มปากแตกเรามีจิตกรุณาเขา

๓  มุทิตา  คือความรู้สึกพลอยชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข  นักบริหารต้องส่งเสริมให้คนทำงานมีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถจนได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่กลัวว่าลูกน้องจะขึ้นมาทาบรัศมี เขาไม่กีดกันใครแต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำงานแสดงความสามารถเต็มที่และพลอยชื่นชมยินดีในความก้าวหน้าของคนร่วมงาน มุติตาจะทำลายความริษยาในใจนักบริหาร ถ้านักบริหารมีจิตริษยาลูกน้องเสียแล้ว ลูกต้องจะรับความริษยานั้นและจะไม่ทุ่มเททำงานให้ดังคำกลอนที่ว่า

อันเพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย

ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา

แม้เกลือหยิบหนึ่งน้อยด้อยราคา

ยังดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล

อุเบกขา  คือความรู้สึกวางเฉยเป็นกลางไม่ลำเอียงเข้าข้างคนใดคนหนึ่งนั่น คือ มีความยุติธรรมในการให้รางวัลและลงโทษ  ข้อสำคัญก็คือนักบริหารต้องรู้เท่าทันคนร่วมงานทุกคน  นักบริหารที่ไม่รู้เท่าทันสถานการณ์อาจจะวางเฉยได้เหมือนกัน แต่การวางเฉยเช่นนั้นเรียกว่า "อัญญาณุเบกขา"  คือ วางเฉยเพราะโง่ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดี

นักบริหารต้องวางเฉยด้วยปัญญาคือ มีอุเบกขาอย่างรู้เท่าทันกัน  เมื่อทุกคนทำงานในหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง นักบริหารก็มองดูพวกเขาเฉย ๆ ถึงคราวให้บำเหน็จรางวัลก็เฉลี่ยให้แก่ทุกคนอย่างถ้วนหน้า ถ้ามีการทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้น  นักบริหารต้องลงไปห้ามทัพทันทีและจัดการลงโทษคนผิดตามความเหมาะสม  นักบริหารต้องไม่นั่งดูลูกน้องทะเลาะกันแล้วเอาตัวรอคนเดียว