ปัญญาพละ หมายถึง กำลังแห่งความรอบรู้ ความรู้มีหลายระดับ บางคนเห็นคำว่า "ปัญญาพละ" ก็สะกดและอ่านได้แต่ไม่รู้ความหมายของคำ ในกรณีนี้ความรู้แค่อ่านออกจัดเป็นความรู้ระดับ "สัญญา" คือ ความจำได้หมายรู้ เมื่อตาเห็นภาพการรับรู้ภาพจัดเป็นรูปสัญญาเมื่อหูได้ยินเสียงการรับรู้เสียงจัดเป็นสัททสัญญา ฯลฯ สัญญา (perception) จึงเป็นการรับรู้เฉพาะส่วน คือ เห็นแค่ไหน รับรู้แค่นั้น ได้ยินแค่ไหน เข้าใจแค่นั้น ฯลฯ  แต่ปัญญารู้มากกว่านั้น เพราะปัญญาเป็นความรอบรู้ เช่นบางคนพอเห็นว่า "ปัญญาพละ" ก็อธิบายได้ว่าหมายความว่าอย่างไร และจะพัฒนาขึ้นได้ด้วยวิธีไหน ความรู้ของเขาจัดเป็นปัญญา คือ รู้มากกว่าที่เห็นเข้าใจมากกว่าที่ได้ยิน เช่น เด็กของเราไม่สบาย เราจับตัวเด็ก ก็รู้ว่าเด็กตัวร้อนจึงพาไปหาหมอ พอหมอจับตัวเด็กตรวจดูอาการเท่านั้น หมอรู้ว่าเด็กป่วยเป็นโรคอะไร และสั่งยารักษาโรคได้ ความรู้ของเราว่าเด็กตัวร้อนเป็นความรู้ระดับสัญญา ส่วนความรู้ของหมอเป็นความรู้ระดับปัญญา

นักบริหารต้องมีปัญญา คือ ความรอบรู้เกี่ยวกับงานในหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยสรุป  นักบริหารต้องทำหน้าที่บริหารตนบริหารคนและบริหารงาน ดังนั้น เขาต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับตนเอง คนอื่น และงานในความรับผิดชอบนั้นคือ นักบริหารต้องมีความรู้ ๓ เรื่องได้ รู้ตน รู้คน และรู้งาน

ก. รู้ตน หมายความว่า นักบริหารต้องรู้จักความเด่นและความด้อยของตนเอง การรู้ความเด่นก็เพื่อทำงานที่เหมาะกับความสามารถของตน การรู้ความด้อยก็เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของตน ตามปกตินักบริหารมักมองเห็นความผิดพลาดของลูกน้องได้ง่าย แต่มองข้ามความผิดพลาดของตนดังพุทธพจน์ว่า "ความผิดพลาดของคนอื่นเห็นได้ง่าย แต่ความผิดพลาดของตนเองเห็นได้ยาก"

เมื่อนักบริหารทำงานผิดพลาด ลูกน้องไม่กล้าบอกหรือแนะนำ ดังนั้นนักบริหารต้องหัดมองตนและตักเตือนตนเองดังพุทธพจน์ที่ว่า "อตฺตนา โจทยตฺตตานํ จงเตือนตนด้วยตนเอง" เช่นถ้านักบริหารสั่งการหลายครั้งแต่ลูกน้องไม่เข้าใจนักบริหารก็อย่าด่วนตำหนิลูกน้องว่าโง่เง่า บางทีตัวเราเอง อาจสั่งการไม่ชัดเจนก็เป็นได้ ดังภาษิตอุทานธรรมที่ว่า

"ถ้าพูดไปเขาไม่รู้อย่าขู่เขา

ว่าโง่เง่างมเงอะเซอะนักหนา

ตัวของเราทำไมไม่โกรธา

ว่าพูดจาให้เขาไม่เข้า"

การที่นักบริหารมักมองไม่เห็นความผิดพลาดของตนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะวันหนึ่งๆ ดวงตาของเรามีไว้สำหรับมองด้านนอก มันไม่ได้มองตัวเราเอง เวลาคนอื่นทำผิดพลาดเราจึงเห็นทันที แต่เวลาเราทำผิดพลาดเองกลับมองไม่เห็น ดังนั้น เพื่อสำรวจตนเอง นักบริหารต้องหัด มองด้านใน คือเจริญวิปัสสนา ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Insight คือมองด้านในนั่นเอง วิปัสสนากรรมฐานเน้นเรื่องการเจริญสติ พิจารณากาย เวทนา จิตและธรรมหรือความดีและความชั่วในใจของเรา

โลกภายนอกกว้างไกลใครรู้

โลกภายในลึกซึ่งอยู่บ้างไหม

จะมองโลกภายนอกมองออกไป

จะมองโลกภายในให้มองตน

ข. รู้คน หมายถึงความรอบรู้เกี่ยวกับคนร่วมงาน นักบริหารต้องรู้ว่าใครมีความสามารถในด้านใด เพื่อจะได้ใช้คนให้เหมาะกับงาน นอกจากนั้นนักบริหารต้องรู้จักจริตของคนร่วมงาน เพื่อใช้งานที่เหมาะสมกับจริตของเขา

จริตได้แก่คนที่ประพฤติบางอย่างเคยชินจนเป็นนิสัย จริงจึงหมายถึงประเภทนิสัยของคนมี ๖ แบบด้วยกันคือ

๑) ราคจริต  คือพวกรักสวยรักงาม มักทำอะไรประณีตเรียบร้อยและใจเย็น คนพวกนี้ชอบทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดประณีต

๒) โทสจริต  คือพวกใจร้อน ชอบความเร็วและมักหงุดหงิดง่ายถ้าถูกขัดใจ คนพวกนี้ชอบทำงานที่ต้องใช้ความรวดเร็ว

๓)  โมหจริต  คือพวกเขลาซึม ขาดความกระตือรือร้น ทำงานอืดอาด เฉื่อยชา ชอบหลับในที่ทำงานเป็นประจำ

๔) สัทธาจริต คือพวกเชื่อง่าย เวลามีข่าวเรื่องแปลกแต่จริง-เชื่อหรือไม่  พวกนี้จะเชื่อก่อนใคร คนพวกนี้ถ้าชอบใครจะทำงานให้เต็มที่

๕) พุทธิจริต คือพวกใฝ่รู้ เป็นคนช่างสงสัย รักการศึกษาหาความรู้ มักต้องการรายละเอียดมากกว่าคนอื่น คนพวกนี้ถนัดทำงานด้านวิชาการ

๖) วิตกจริต คือพวกช่างกังวล เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจมักปล่อยเรื่องค้างไว้เป็นเวลานาน โดยไม่ย่อมลงนามหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราต้องการคนใส่เบรกให้กับการตัดสินใจของเราบ้าง ลองปรึกษาคนพวกนี้

คนจริตใดเราก็พอทำงานร่วมกันกับพวกเขาได้ พวกที่นักบริหารต้องระวังให้มากคือ พวกวิกลจริตที่แฝงเข้ามาในองค์การ

ค. รู้งาน หมายถึงความรอบรู้เกี่ยวงานในความรับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนบรรจุบุคลากร  อำนวยการและติดตามประเมินผล ความรู้เรื่องงานมี ๒ ลักษณะคือรู้เท่าและรู้ทัน

"รู้เท่า" คือความรู้รอบด้านเกี่ยวกับงานว่ามีขั้นตอนอย่างไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ อย่างไร และยังหมายถึงความรู้เท่าถึงการณ์ในเมื่อเห็นเหตุแล้วคาดว่าผลอะไรจะตามมาแล้วเตรียมการป้องกันไว้ เหมือนคนขับรถลงจากภูเขาที่เขาชินกับเส้นทางว่าที่ใดมีเหวหรือเป็นทางโค้งอันตราย  แล้วขับรถอย่างระมัดระวังเมื่อถึงที่นั้น ความรู้เท่าจึงช่วยให้มีการป้องกันไว้ก่อน

"รู้ทัน" หมายถึงความรู้เท่าทันสถานการณ์ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาขึ้นก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ดังกรณีของคนที่ขับรถลงจากภูเขาแล้วรถเบรกแตก เมื่อเจอกับสภาพปัญหาเช่นนั้น  เขาตัดสินใจฉับพลันว่าจะทำอย่างไร  นั่นเป็นความรู้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ความรู้เกี่ยวกับงานจึงได้แก่ความรู้เท่าและความรู้ทัน "รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข"

ปัญญา คือ ความรู้ตนรู้คนและรู้งานเป็นสิ่งสำคัญในการบริหาร นักบริหารต้องพัฒนาปัญญาอยู่เสมอด้วยวิธีพัฒนาปัญญา ๓ ประการ  ดังนี้

(๑) สุตมยปัญญา

สุตมยปัญญา  หมายถึง  ความรอบรู้ที่เกิดจากสุตะคือการรับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ คนที่มีปัญญาประเภทนี้จะต้องเป็นอ่านมากและฟังมาก ใครที่จดจำเรื่องราวที่อ่านและฟังแล้วได้มากมายเรียกว่า พหูสูต

นักบริหารต้องพัฒนาปัญญาขั้นสุตะอยู่เสมอนั่นคือเกาะติดสถานการณ์ ด้วยการขยันอ่านหนังสือ ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยและฟังคำแนะนำของวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนสั่งการแต่ละครั้ง นักบริหารต้องมีข้อมูลพร้อมเพื่อประกอบการตัดสินใจ

นักบริหารควรมีใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่เสนอแนะ  จากทุกฝ่าย  เขาไม่ควรปิดใจตัวเองไม่รับข้อมูลใหม่ เพราะหลงผิดคิดว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้ว  เขาควรยึดแนวปฏิบัติของโสคราตีสผู้กล่าวว่า "หนึ่งเดียวที่ข้าพเจ้ารู้ คือรู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไร" เมื่อรู้ตัวว่าขาดความรู้ในเรื่องใด โสคราตีสก็ศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้น

พระพุทธเจ้าเสนอคำสอนในทำนองเดียวกัน เมื่อพระองค์ตรัสว่า "คนโง่(พาล)  ที่รู้ตัวเองว่าเป็นคนโง่ยังพอเป็นคนฉลาด(บัณฑิต) ได้บ้าง แต่คนโง่ที่สำคัญผิดคิดว่าตัวเป็นคนฉลาด จัดเป็นคนโง่แท้ ๆ"

ดังนั้น นักบริหารต้องรู้จักแกล้งทำโง่เพื่อศึกษาหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญดังภาษิตที่ว่า

"หัดนิ่งเป็นบ้าง หัดโง่เป็นบ้าง หัดแพ้เป็นบ้าง นั่นแหละท่านกำลังชนะและกำลังฉลาดขึ้น"

เวลาศึกษาความรู้เรื่องใหม่ นักบริหารต้องเก็บความรู้เก่าใส่ลิ้นชักสมองไว้ชั่วคราว อย่าให้เรื่องเก่าครอบงำความคิด กลายเป็นอคติบังตาเสียจนไม่ยอมรับข้อมูลใหม่ หรือไม่ยอมปรับเปลี่ยนความคิดให้ทันเกตุการณ์ นั่นคือ ต้องมียถาภูตญาณทัสสนะ หมายถึงความรู้เห็นตามความเป็นจริง นักบริหารต้องรู้จักคนตามที่เขาเป็น ไม่ใช่ว่าชอบใครหลงใครก็ปกป้องคนนั้นทั้งๆ ที่เขาทำผิดมหันต์ หรือเกลียดใครก็ตำหนิคนนั้นทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย นักบริหารต้องมองคนตามที่เป็นจริงด้วยการถอดแว่นสีออกจากปัญญาจักษุ อคติหรือความลำเอียงเปรียบเหมือนแว่นสีที่เราสวมใส่ซึ่งกำหนดให้เรามองโลกไปตามสีของแว่นเราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง คนที่สวมแว่นสีเขียวจะมองเห็นทุกสิ่งเป็นสีเขียว คนที่สวมแว่นสีแดงจะมองเห็นทุกสิ่งที่เป็นสีแดง  สีที่แท้จริง คืออะไรเขาไม่มีทางทราบ อคติที่ว่านั้นมี ๔ ประการ คือ๘   

ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะชอบ) ถ้าเราชังใคร ไม่ว่าเขาจะพูดหรือทำอะไร เราเห็นด้วยกับเขาไปทุกอย่าง

โทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง) ถ้าเราชังใคร ไม่ว่าเขาจะพูดหรือทำอะไร เรารู้สึกขวางหูขวางตาไปหมด

โมหาคติ (ลำเอียงเพราะหลง) ถ้าเราขาดข้อมูลในเรื่องใด พอมีคนให้ข้อมูลเท็จในเรื่องนั้น เรามักเชื่อเขาและตัดสินใจผิดพลาดได้ง่าย

ภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว) ถ้าผู้มีอำนาจให้เราพูดหรือทำสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของเราบางครั้งเราจำเป็นต้องทำตามเพราะความกลัวภัย

นักบริหารที่ดีต้องมีความยุติธรรมในหัวใจ เขาตัดสินคนตามที่เป็นจริงเพราะเขาไม่ยอมให้อคติทั้ง ๔ ประการมาเป็นม่านบังตา เขาจะทำอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อรู้จักวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่เห็นหรือได้ยินด้วยจินตามยปัญญา

(๒) จินตามยปัญญา

จินตามยปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่เรารับมาจากการฟังหรือการอ่านสุตมยปัญญา เปรียบเสมือนการรับประทานอาหารในขั้นต่ำตักใส่ปาก  จินตามยปัญญา เปรียบเสมือนการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด แล้วกลืนลงไป คนบางฟังเรื่องอะไรแล้วเชื่อทันทีโดยไม่ทันพิจารณา เหมือนกับคนที่กลืนอาหารโดยไม่ทันได้เคี้ยว  การพินิจพิจารณาไตร่ตรองเรื่องที่ฟังหรืออ่านรวมถึงการตรวจสอบแหล่งข่าวแหล่งข้อมูลหรือหนังสืออ้างอิง  เหล่านี้เป็นกระบวนการของ  จินตามยปัญญา

คนบางคนจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากแต่วิเคราะห์ไม่เป็น บางคนท่องกฎหมายได้ทุกมาตรา แต่ไม่สามารถตีความกฎหมายเหล่านั้น คนเหล่านี้ขาดจินตามยปัญญา

คนที่มีจินตามยปัญญาได้แก่ คนที่คิดเป็นตามแบบโยนิโสมนสิการ

โยนิโส แปลว่า ถูกต้อง แยบคาย

มนสิการ แปลว่า ทำไว้ในใจหรือการคิด

ดังนั้น โยนิโสมนสิการจึงหมายถึง การทำไว้ในใจโดยแยบคาย หรือการคิดเป็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

คนไทยโบราณเข้าใจความสำคัญของโยนิโสมนสิการดีจึงกล่าวไว้ว่า

"สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น

สิบตาเห็นไม่เท่าหนึ่งมือคลำ

สิบมือคลำไม่เท่าหนึ่งทำไว้ในใจ"

คำว่า "ทำไว้ในใจ" คือโยนิโสมนสิการ

การคิดแบบโยนิโสมนสิการสรุปได้ ๑ วิธี คือ

๑) อุปายมนสิการ (คิดถูกวิธี) หมายถึง การคิดที่อาศัยวิธีการ (Methodology) อันสอดคล้องกับเรื่องที่ศึกษา  เช่นเดียวกับการทำวิจัยต้องมีระเบียบวิธีวิจัยที่เหมาะสม หากใช้วิธีวิจัยผิดก็จะไม่ได้ความจริงในเรื่องนั้น การตรวจสอบความจริงบางเรื่องต้องใช้วิธีอุปนัย (Induction) บางเรื่องต้องใช้วิธีนิรนัย (Deduction) แต่บางเรื่องต้องใช้ประสบการณ์ตรงเป็นเครื่องตรวจสอบยืนยันความจริง เช่น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่าการทรมานตนหรือทุกกรกริยาไม่ใช่วิธีบำเพ็ญเพียรที่ถูกต้อง เมื่อพระองค์ทรงหันมาใช้วิธีบำเพ็ญเพียรทางจิตจึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

๒) ปถมนสิการ (คิดมีระเบียบ) หมายถึงการคิดที่ดำเนินตามขั้นตอนของวิธีการนั้น ๆ ไม่มีการลัดขั้นตอนหรือด่วนสรุปเกินข้อมูลที่ได้มา การด่วนสรุปจัดเป็นเหตุผลวิบัติ (Fallacy) ประการหนึ่ง    ดังกรณีที่เราหยิบส้มผลหนึ่งมาชิม เมื่อส้มผลนั้นเปรี้ยว เราก็ด่วนสรุปว่า ส้มที่เหลือในลังทั้งหมดเปรี้ยว  นอกจากนั้น การคิดต้องดำเนินตรงทางไปสู่เป้าหมายโดยไม่มีการฟุ้งซ่านออกนอกทาง นั่นคือนักบริหารต้องมีสมาธิในการคิด บางคนกังค้นคว้าข้อมูล เพื่อทำวิจัยเรื่องน้ำท่วมอยู่ดี ๆ เมื่อพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องภัยแล้ง ก็ลืมจุดมุ่งหมายเดิม เขาไปเสียเวลาอ่านข้อมูลเรื่องภัยแล้ง ซึ่งออกนอกทางไปเลย คนนี้ไม่มีปถมนสิการ

๓) การณมนสิการ  (คิดมีเหตุผล)  หมายถึง การคิดจากเหตุโยงไปหาผล (ธัมมัญญุตา) และการคิดจากผลสาวกลับไปหาเหตุ (อัตถัญญุตา)  การคิดแบบนี้จะทำให้นักบริหารเป็นคนรู้เท่าทันเหตุการณ์  เมื่อจะสั่งการแต่ละครั้ง ต้องคาดได้ว่าผลอะไรจะตามมา  หรือเมื่อเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นในองค์การ  ต้องสามารถบอกได้ว่ามาจากสาเหตุอะไร นอกจากนั้น นักบริหารไม่กลัวความล้มเหลว อันที่จริงความล้มเหลวไม่มี สิ่งที่เรียกว่าความล้มเหลวนั้นแท้ที่จริง คือวิบากหรือผลของกรรมที่ไม่ดี ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ ครั้งต่อไปเราต้องทำกรรมคือเหตุที่ดี แล้ววิบากหรือผลที่ดีก็จะตามมา

๔) อุปปาทากมนสิการ (คิดเป็นกุศล) หมายถึง การคิดแง่สร้างสรรค์ Creative thinking คือคิดให้มีความหวังและได้กำลังใจในการทำงาน เมื่อเห็นหรือได้ยินอะไรก็เก็บมาปรับใช้ประโยชน์ในหน่วยงานของตนดังที่ ขงจื๊อ กล่าวว่า

" เมื่อข้าพเจ้าเห็นคนสองคนเดินสวนทางมา คนหนึ่งเป็นคนดี อีกคนหนึ่งเป็นคนเลว คนทั้งสองเป็นครูของข้าพเจ้าได้เท่ากัน เมื่อเห็นคนดี ข้าพเจ้าพยายามเอาอย่างเขา เมื่อเห็นคนเลวข้าพเจ้าพยายามไม่เอาอย่างเขา"

คนที่คิดสร้างสรรค์จะรู้จักแสวงหาประโยชน์แม้จากสิ่งที่เหมือนไม่มีประโยชน์  เขาหาสาระแม้จากเรื่องที่ดูไร้สาระเขาเห็นความงามในความน่าชังดังคำประพันธ์ที่ว่า "ศิลปินอย่าดูหมิ่นศิลปะ    กองขยะดูให้ดียังมีศิลป์"

(๓) ภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญา  หมายถึงความรอบรู้ที่เกิดโดยประสบการณ์จากภาคปฏิบัติหรือการลงมือทำจริงๆ สุตมยปัญญาทำให้นักบริหารได้ข้อมูลใหม่  จินตามยปัญญาทำให้ได้ความคิดที่ดี  ส่วนภาวนามยปัญญาทำให้มีผลงานเป็นรูปธรรม นักบริหารบางคนมีความรู้และความคิดดีแต่ไม่มีผลงานเพราะไม่ยอมลงมือทำตามความคิด วนบางคนมีความรู้ดีแต่ไม่สามารถนำความรู้ออกมาใช้ทันท่วงที คนเหล่านี้ขาดความชำนาญในการปฏิบัติดัง กล่าวที่ว่า "มีเงินให้เขากู้ มีความรู้อยู่ในตำรา" เมื่อเกิดความจำเป็นก็เรียกความรู้นั้นมาใช้ไม่ได้ ดังนั้นภาวนามยปัญญาจึงมีความสำคัญในการบริหาร เพราะเป็นความรอบรู้ที่แปรทฤษฏีสู่ภาคปฏิบัติ ดังกรณี ต่อไปนี้

เมื่อพระเจ้าจันทรคุปต์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์เมารยะของอินเดียยกทัพเข้าตีเมืองหลวงของกษัตริย์เชื้อสาย
กรีกผู้ปกครองภาคเหนือของอินเดียนั้น  ปรากฏว่ากองทัพของพระเจ้าจันทรคุปค์ประสบความปราชัย  พระเจ้าจันทรคุปต์หนีเอาชีวิตรอดไปซ่อมพระองค์ด้านหลังกระท่อมชาวนาในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ขณะที่หลบซ่อนอยู่นั้นพระองค์ได้ยินเสียงเด็กร้องและแม่ของเด็กได้กล่าวกับเด็กด้วยเสียงอันดังว่า
"เจ้าโง่ขนมเบื้องยังร้อนอยู่ เจ้ากัดกินมันที่ตรงกลางได้อย่างไร  ปากเจ้าก็พองหมดหรอก  เจ้าควรกัดกินขนมเบื้องที่ร้อนโดยเริ่มจากมุมรอบๆ ก่อนมิใช่หรือ"

เมื่อได้ยินคำพูดประโยคนี้ พระเจ้าจันทรคุปต์ได้ความคิดว่าพระองค์เองก็ไม่ต่างจากเด็กคนนั้น  การยกทัพเข้าตีเมืองหลวงในขณะที่ข้าศึกยังเข้มแข็ง ก็มีลักษณะการเหมือนกับการกัดกินขนมเบื้องร้อน ๆ ที่ตรงกลาง พระองค์จึงประสบความพ่ายแพ้ ดังนั้น  พระเจ้าจันทรคุปต์จึงคิดเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่โดยใช้ยุทธการ "ป่าล้อมเมือง"   คือ นำทัพยึดเมืองเล็กรอบนอกให้ได้ก่อนที่จะบุกตีเมืองหลวง  เช่นเดียวกับการเริ่มกินขนมเบื้องจากมุมโดยรอบมาก่อน  ในที่สุดพระเจ้าจันทรคุปต์ได้ประสบชัยชนะเพราะใช้ยุทธวิธีนี้ ซึ่งเกิดจากการได้ยินคำด่าเด็กของหญิงชาวนาคนหนึ่ง  ในกรณีนี้ พระเจ้าจันทร์คุปต์ได้ปัญญาทั้งสามประการ  คือพระองค์ได้สุตมยปัญญาจากการฟังคำพูดของหญิงชาวนา

ได้จินตามยปัญญาจากการนำคำพูดนั้นมาไตร่ตรองจนค้นพบยุทธวิธีใหม่

และได้ภาวนามยปัญญาจากการแปรยุทธวิธีเป็นยุทธการในสนามรบ

นักบริหารบางคนมีความคิดแปลใหม่ดีแต่ไม่ยอมนำความคิดนั้นไปปฏิบัติ  เขาจึงไม่มีภาวนามยปัญญา ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเขาขาดกำลังใจในการปฏิบัติคือ วิริยพละ