นอกจากนักบริหารที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะทั้งสามประการดังกล่าวมาแล้ว สไตล์หรือวิธีการบริหารก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการบริหาร นักบริหารที่มีคุณลักษณะทั้งสามประการอาจใช้วิธีบริหารงานที่ตนเคยชิน วิธีการบริหารต่าง ๆ พอสรุปได้เป็น ๓ ประการ ตามนัยแห่ง อธิปไตยสูตร ดังนี้

๑) อัตตาธิปไตย  หมายถึง การถือตนเองเป็นใหญ่นักบริหารที่เป็นอัตตาธิปไตย ถือตนเองเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ เขาเชื่อมั่นตนเองสูงมาก คิดว่าตัวเองฉลาดว่าใคร จึงไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร  เขาไม่อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์เขานิยมใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ เมื่อบริหารงานนานๆ ไป จะไม่มีคนกล้าคัดค้านหรือทัดทาน ลงท้ายนักบริหารประเภทนี้มักเป็นเผด็จการ วิธีการบริหารแบบนี้ทำให้ ได้งานแต่เสียคน  นั่นคือ งานเสร็จเร็วทันใจนักบริหาร แต่ไม่ถูกใจคนร่วมงาน เขาผูกใจคนไม่ได้ เขาได้ความสำเร็จของงาน แต่เสียเรื่องการครองใจคน

๒) โลกาธิปไตย  หมายถึง การถือคนอื่นเป็นใหญ่ นักบริหารประเภทนี้มีวิธีทำงานที่ตรงกันข้ามกับประเภทแรกนั่นคือ นักบริหารโลกาธิปไตยไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง เขาขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  ไม่สามารถตัดสินใจอะไร ถ้านั่งเป็นประธานอยู่ในที่ประชุม เขาจะฟังทุกฝ่ายก็จริง แต่เมื่อฝ่ายต่างๆ พูดขัดแย้งกัน เขาจะไม่ตัดสินชี้ขาด แต่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทุ่มเถียง  ทะเลาะกันเอง  ใครเสนอความคิดอะไรมา เขาเห็นคล้อยตามด้วยจนไม่ย่อมตัดสินใจเด็ดขาดลงไปว่า ฝ่ายไหนถูกหรือผิด ในที่สุดลูกน้องต้องวิ่งเต้นเข้าหานักบริหารประเภทนี้อยู่เรื่อยไป ผลลงเอยด้วยลูกน้องตีกันเอง เพราะนักบริหารไม่ยอมวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะทำตามข้อเสนอของใคร นักบริหารประเภทนี้ได้คนแต่เสียงาน นั่นคือ ทุกคนชอบเขา  เพราะเขาเป็นคนอ่อนผู้ไม่เคยตำหนิใคร  ลูกน้องจะทำงานหรือทิ้งงานก็ได้ เขาไม่กล้าลงโทษ เขาสุภาพกับทุกคน แต่องค์การวุ่นวายไร้ระเบียบ และไม่มีผลงาน

๓) ธรรมาธิปไตย หมายถึง การถือธรรมหลักการเป็นสำคัญ และยึดเอาความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง  เพื่อทำงานให้สำเร็จ เขายินดีรับฟังคำแนะนำจากทุกฝ่าย ซึ่งรวมทั้งคนที่ไม่ชอบเขาเป็นส่วนตัว  เขาแยกเรื่องงานออกจากความขัดแย้งส่วนตัว  เขายอมโง่เพื่อศึกษาความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญ ดังที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) นิพนธ์ไว้ว่า

โง่ไม่เป็นเป็นใหญ่ยากฝากให้คิด

ทางชีวิตจะรุ่งโรจน์โสตถิผล

ต้องรู้โง่รู้ฉลาดปราดเปรื่องตน

โง่สิบหนดีกว่าเบ่งเก่งเดี๋ยวเดียว

นักบริหารประเภทนี้เดินทางสายกลาง คือใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ใครทำดีต้องให้รางวัล ใครทำชั่วต้องลงโทษ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

นิคฺคณฺเห   นิคฺคหารหํ

กำราบคนที่ควรกำราบ

ปคฺคณฺเห   ปคฺคหารหํ

ยกย่องคนที่ควรยกย่อง

การบริหารเช่นนี้ทำให้ได้ทั้งคนและงาน  นั่นคือ งานสำเร็จเพราะทุกคนมีโอกาสแสดงความสามารถ นักบริหารจะเปิดโอกาสให้คนที่ตนไม่ชอบได้ทำงานด้วย ถ้าเขาคนนั้นมีฝีมือ ดังกรณีของพระเดชพระคุณ พระธรรมมหาวีรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงรูปปัจจุบัน ใช้ทุกฝ่ายทำงานให้ท่านซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์ท่าน ท่านกล่าวว่า "ใครจะด่าว่าเราบ้างก็ไม่เป็นไร ข้อสำคัญขอให้เขาทำงานให้เราก็แล้วกัน"