ถ้าพูดถึงทฤษฎีของความรู้ คำว่า "ความรู้"  คำนี้ในภาษาบาลีมีอยู่มากและแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ คือ

ระดับที่ ๑ ความรู้ระดับวิญญาณ  ระดับที่ ๒ ความรู้ระดับสัญญา  ระดับที่ ๓ ความรู้ระดับทิฐิ ระดับที่ ๔ ความรู้ระดับญาณ ความรู้ในระดับนี้ยังแบ่งออกเป็นระดับต้นและระดับสูง ระดับต้นเรียกว่า ยถาภูตญาณ  คือความรู้ตามความจริง ระดับสูงเรียกว่าสัมมาสัมโพธิญาณ หรืออาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ หรือหมายถึงความตรัสรู้ และยังมีชื่อเรียกหลายอย่าง

ความรู้ ระดับแรกนั้นเป็นจุดเปิดของการรับรู้ภายนอก รับรู้ข้อมูลต่างๆ คำว่า วิญญาณ หมายถึง การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 นี้แหละรวมเรียกว่า วิญญาณ ซึ่งได้แก่

 

จักขุวิญญาณ (วิญญาณทางตา) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรูปกระทบตามันเกิดขึ้นเร็วมาก การรับในสิ่งที่ตาเห็นหรือ "การเห็น" นั้นแหละ คือวิญญาณ

โสตวิญญาณ (วิญญาณทางหู) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเสียงกระทบหู หรือ "การได้ยิน"

ฆานวิญญาณ (วิญญาณทางจมูก) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะกลิ่นกระทบจมูก หรือ "การสูดกลิ่น"

ชิวหาวิญญาณ(วิญญาณทางลิ้น) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรสกระทบลิ้น หรือ "การลิ้มรส"

กายวิญญาณ (วิญญาณทางกาย) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะโผฎฐัพพะ หรือ สัมผัสกระทบกาย หรือ "การสัมผัส"

มโนวิญญาณ (วิญญาณทางใจ) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์กับใจ หรือ"การคิดคำนึง"

 

วิญญาณ เป็นความรู้ระดับ การรับรู้ ส่วนขั้นที่รู้ว่ามันเป็นอะไร เป็นขั้นที่ ๒ (ขั้นสัญญา) มันมีความต่อเนื่องกันมาก เช่น ผู้หญิงเดินมา  เมื่อเห็นเป็นวิญญาณ เรารู้ว่าเป็นผู้หญิงรูปร่างอย่างไร ใส่เสื้อสีอะไร เป็นต้น เป็นขั้น แยกแยะให้เห็นความแตกต่างได้ จำได้ ขั้นนี้เป็นสัญญา ความรู้ระดับนี้คือความรู้ที่ได้จากข้อมูล จากการอ่านหนังสือหรือจากการศึกษาเล่าเรียนความรู้ขั้นทิฐิ เป็นเรื่องความเห็น คือรวบรวมข้อมูลได้มากๆ แล้วนำมาจัดเป็นความเห็นเป็นทฤษฎี คือเทียบได้กับขั้นที่  ๕ ของหลักพหูสูต คือสามารถสรุปรวบยอดได้เป็นความคิดเห็นของตัวเอง แล้วนำมาประยุกต์ใช้ได้  ถ้าหากเกิดความรู้ถึงขั้นนี้แล้ว  จัดเป็นทิฎฺฐิยา  สุปฎิวิทฺธา

 

ขอยกตัวอย่าง เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ทรงนำมาคิดพิจารณา จนกระทั่งเกิดทิฐิ คือสรุปรวบยอดได้ว่า โลกนี้เป็นทุกข์ ทันทีที่เห็นสมณะก็ได้ข้อสรุปรวบยอดว่า การจะออกจากทุกข์ได้ต้องยึดถือรูปแบบชีวิตแบบนี้ เมื่อเกิดความรู้ระดับทิฐิแล้ว ย่อมพร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมทันที เพราะฉะนั้น ความรู้ขั้นทิฐิเป็นขั้นสุดยอดของความพหูสูต

 

ขั้นสูงสุดเรียกว่า ขั้นญาณ  แปลว่าการหยั่งรู้ ไม่ใช่ความเรียนรู้ระดับธรรมดา แต่เป็นขั้นสูงสุดฝรั่งเรียกว่า Relization บ้าง insight enlightenment บ้าง พระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องอริยสัจสี่ จากพระพุทธเจ้า เมื่อฟังเทศน์จบ  ท่านอัญญาโกณทัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม (จกฺขุ อุทปาทิ) คือเกิดตาในสว่างวาบขึ้นมา ท่านอธิบายความรู้แบบนั้นว่า วิชุชา  อุทปาทิ (เกิดความรู้แจ้ง) ปญฺญา  อุทปาทิ เกิดความรู้ทั่วถึง) อาโลโก อุทปาทิ (เกิดความสว่าง) แสงสว่างวาบขึ้นในใจเป็นการหยั่งรู้ เป็นประสบการณ์ตรง  ญาณอันนี้เป็นญาณขั้นต้นเรียกว่า "ยถาภูตญาณ" หรือ "ธรรมจักษุ"

 

ธรรมจักษุ คือ ญาณขั้นต้น เป็นความรู้ของโสดาบัน เป็นยถาภูตญาณ  คือรู้ความเป็นจริงรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

ส่วนโพธิญาณ คือ ญาณขั้นสูงสุด อาจจะขึ้นอยู่กับความรู้ที่เรียนมาหรือไม่ก็ได้  เพราะฉะนั้นคนที่เรียนมาน้อยก็อาจจะเกิดญาณแบบนี้ได้

การเกิดความรู้ขั้นญาณนี้ยากมาก  บางครั้งความรู้ที่ได้เรียนมาอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการตรัสรู้ได้  หรือบางทีถ้านำมาใช้ถูกก็จะเสริมในตัวโดยไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ชาวนาอยู่อย่างง่ายๆ อยู่อย่างพื้นๆ อาจจะได้ญาณง่ายกว่าผู้ที่ร่ำเรียนมาสูงๆ ในทางโลก เพราะอาจเป็นผู้เต็มไปด้วยความสงสัย เพราะฉะนั้นความรู้ที่ได้มาแบบพหูสูต อาจจะเป็นไปในลักษณะเส้นผมบังภูเขาได้

 

ตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรและพระโมคคัลานะออกบวชพร้อมกัน  พระสารีบุตรเป็นนักปรัชญาเป็นผู้ลึกซึ่งกว่าพระโมคคัลลานะ เมื่อบวชได้ ๗ วัน พระโมคคัลลานะท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรบวชได้ ๑๔ วันจึงบรรลุ โดยปกติพระสารีบุตรน่าจะบรรลุก่อน และการที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์นั้นไม่ได้รับฟังคำสอนโดยตรง พระพุทธเจ้าทรงสอนคนอื่น กล่าวคือท่านพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคนอื่น กล่าวคือท่านพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนหลานของท่านพระสารีบุตรนั่งฟังไปพร้อมกับถวายงานพัดพระพุทธเจ้าไปด้วย เมื่อฟังไปพิจารณาไปในที่สุดท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงความรู้ในภาษาไทย หมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าพูดในแง่ศาสนาต้องแยกออกว่าเป็นความรู้ชนิดใดกันแน่

 

ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาภรณ์ กล่าวว่า จุดสำคัญของการสอนธรรมจะต้องสอนให้ถูกกับจริตของผู้เรียน ถ้าหากสอนไม่ตรงกับจริตแล้วการสอนก็ไม่สัมฤทธิ์ผลเช่นตัวอย่างพระสารีบุตร สอนกรรมฐานแก่พระภิกษุรูปหนึ่งใช้เวลาถึง ๓ เดือน แต่ก็ไม่สามารถทำให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เมื่อพระภิกษุรูปนั้นได้เข้าเผ้าและรับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าท่านได้นั่งพิจารณาดอกบัวสด จนกระทั่งดอกบัวเหี่ยวเฉา ด้วยการเพ่งกระแสจิตมองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในที่สุด

เพราะฉะนั้น การสอนธรรมจะต้องสอนให้ถูกกับลักษณะจริต คนหนึ่งๆ อาจจะมีหลายจริตรวมอยู่ เช่น สัทธาจริตกับราคจริตมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนพุทธิจริตกับโทสจริตมีลักษณะใกล้เคียงกัน

ในหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยม  จัดให้เรียนพระไตรปิฎกในแง่ต่างๆ เช่น พระสุต ตันตปิฏก เรียกว่าอนุโลมเทศนา เป็นการแสดงตามอุปนิสัยหรือพื้นเพเดิมตามความถนัดของแต่ละบุคคล การสอนธรรมจึงต้องมีเทคนิคการสอนหลายวิธี ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับผู้ฟังพระพุทธเจ้าก่อนจะแสดงธรรมแก่ใครแล้ว บุคคลนั้นก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้เร็ว

 

สำหรับในเรื่องนี้ มีตัวอย่างคือ เรื่องพระจูฬปันถก  ท่านออกบวชตามคำแนะนำของพระมหาปันถกซึ่งเป็นพี่ชายท่านท่องคาถาเพียงคาคาเดียวอยู่ ๔  เดือน แต่ก็ไม่สามารถจำได้ คาถานั้นคือ

"ปทฺมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ

ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ

องฺครสํ ปสฺส  วิโรจนมานํ

ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข"

ดอกบัวโกกนุท มีกลิ่นหอม

บานแต่เช้า และหอมหวนอยู่นาน

พระพุทธเจ้า ทรงรุ่งเรืองงามยิ่ง

ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงในกลางหาว

 

พระพี่ชายเคี่ยวเข็ญให้ท่อง  ท่านก็พยายามท่องตลอด แต่ไม่สามารถที่จะจำได้ พระพี่ชายจึงขับไล่ ท่านจึงตัดสินใจที่จะสึกและได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ  ทรงปลอบใจและไม่ให้ท่องคาถานั้นอีก พระองค์ประทานท่อนผ้าแก่จูฬปันถก  ตรัสว่า เธอจงผินหน้าไปทางทิศตะวันออก ลูบผ้าท่อนนี้และภาวนาไปด้วยว่า "รโชหรณํ รโชหรณํ"  หมายถึงผ้าเช็ดธุลีๆ พระจูฬปันถกท่านนั่งลูกอยู่พักหนึ่ง  เมื่อผ้าเปื้อนเหงื่อเกิดสีคล้ำ  ท่านจึงเกิดความสงสัยแล้วคิดว่า "ผ้ามันสะอาดอยู่แท้ๆ เพราะมือของเรานี่เองทำให้ผ้ามันสีคล้ำ"  ท่านได้ข้อเปรียบเทียบนี้มาเปรียบเทียบกับตัวเองว่าจิตใจของเราก็เหมือนกันเดิมที่เดียวเหมือนผ้าขาว ต่อมาก็สกปรก เพราะกิเลสคือความโลภ ความโกรธ และความหลงนี่เอง และเมื่อท่านได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์

จะสังเกตเห็นได้ว่า เทคนิคการสอนมีหลายวิธี ควรเลือกให้เหมาะสมกับจริตของแต่ละคน  แต่คนไทยมักถกเถียงกันในเรื่องวิธีการ  หรือแนวทางปฏิบัติ  ซึ่งมันไม่ดีไปกว่ากันทุกวิธีนำไปสู่จุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือการบรรลุ ดังนั้น จึงไม่ควรถกเถียงกันว่าสำนักไหนดีกว่าสำนักไหน  เพราะแต่ละแนวทางมันดีพอๆ กัน

 

อย่างไรก็ตาม  นักบริหารนอกจากจะดูจริตแล้วยังต้องดูความพร้อมด้วย  เทคนิคแต่ละอย่างเคยใช้ได้ผลสำหรับบุคคลในเวลานี้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป อาจจะใช้ไม่ได้ผลก็ได้ ดังนั้น จึงอยากจะฝากไว้สำหรับนักบริหารว่า "ทฤษฎีบางอย่าง เทคนิคบางอย่าง เคยใช้ได้ผล เมื่อนำมาใช้อีกอาจจะใช้ไม่ได้ผลก็เป็นไปได้" นี่เป็นเรื่องสำคัญ

 

จุดสำคัญของการบริหารที่ดีนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี  ผู้บริหารต้องคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงานประชาสัมพันธ์  เพราะเป็นหน้าที่ให้บริการ  ผมมีเรื่องซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงในเรื่องผู้บริหารใช้คนไม่ตรงกับงาน คือผมไปรับลูกชายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในช่วงโรงเรียนเลิกแต่ได้ทราบว่าโรงเรียนได้ส่งให้ไปร่วมกิจกรรมในวันลูกเสือ ผมจึงขออนุญาตให้ประชาสัมพันธ์ช่วยประกาศให้  ประชาสัมพันธ์ตวาดกลับมาทันทีว่า "ทำไมต้องประกาศ เขาไม่ประกาศกันหรอก" ขณะนั้นมีอาจารย์ที่รู้จักผมมาไหว้และเข้าไปช่วยพูดกับประชาสัมพันธ์เพื่อให้ช่วยประกาศให้ ประชาสัมพันธ์เขาจึงประกาศให้ แต่เขาประกาศให้อย่างเสียไม่ได้ ผมจึงได้ทราบจากอาจารย์ว่าประชาสัมพันธ์คนนี้เคยตวาดผู้ปกครอง มาแล้วหลายครั้ง ผมจึงได้เขียนโน้ตถึงผู้อำนวยการว่าท่านเอาคนอย่างนี้มาประชาสัมพันธ์ได้อย่างไร  ท่านควรหาคนให้เหมาะสมกับงานเพราะหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ให้บริการ นี้คือ ตัวอย่างที่นักบริหารควรคำนึงถึง

 

ในกรณีที่ พระเมธีธรรมาภรณ์ กล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักบริหารคือเรื่องความเครียด ท่านบอกว่า สมาธิคลายความเครียดได้ ในที่นี้จะขอเสริมคือนักบริหารควรมีอารมณ์ขัน เพื่อจะได้คลายเครียด  ถ้าไม่มีอารมณ์ขันเป็นใหญ่ได้ยาก  พระอริยเจ้ามี "หสิตุปปาทจิต"  สร้างอารมณ์ขันให้เกิดขึ้นแบบพระอริยเจ้า คือการอยู่ด้วยสุขวิหารธรรม เป็นการคลายความเครียดของท่านด้วยการเข้านิโรธสมาบัติ การทำสมาธิ เป็นการพักผ่อนคลายความเครียดได้อย่างดี เพราะฉะนั้น นักบริหารที่มีอารมณ์ขันเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาความทุกข์ของลูกน้องได้