โดยหลักทฤษฎีจริง ๆ แล้ว การเกิดของปัญญาที่เรียกว่า พหูสูต มี ๕  ระดับ ผู้ที่เป็นพหูสูตต้องทำถึง ๕ ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ ๑  พหุสฺสตา  แปลว่า ฟังมาก เรียนมาก ท่องมาก รวบรวมข้อมูลได้มาก ขั้นนี้เป็นการศึกษาเล่าเรียนจากข้อมูลต่างๆ จากอาจารย์ จากตำรา การใฝ่หาความรู้ต่างๆ ขั้นนี้ทุกคนสามารถทำได้

 

ขั้นที่ ๒  ธตา แปลว่า จำได้ จำสาระสำคัญให้ได้ว่าสิ่งไหนที่ควรจะจำเมื่ออ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งๆ ต้องจับประเด็นหลักให้ได้  แล้วนำความจำประเด็กหลักๆ มาขยายความได้ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นั้น สมัยท่านอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ มีลูกศิษย์เรียนอยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นเด็กที่ดีมาก เวลาผมไปหาท่าน ถ้าหากท่านไม่อยู่ก็นั่งคุยกับเด็กคนนี้ ผมถามว่า ท่านสอนอะไรบ้าง เด็กบอกว่า ท่านบอกให้อ่านหนังสืออย่างช้า ๆ แล้วทำความเข้าใจไปด้วย เมื่ออ่านจบให้สรุปสาระสำคัญให้ได้ แล้วนำหนังสือไปเก็บโดยไม่ต้องนำกลับมาอ่านอีก ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ แสดงว่าเป็นผู้แสวงหาความรู้ที่ถูกทาง ถูกต้อง ขั้นนี้เรียกว่า ธตา คือควรจำได้ในสาระที่ควรจำ

 

ขั้นที่ ๓ วาจา ปริจิตา  คือท่องให้คล่องปาก เมื่อสมัยก่อนมีบทอาขยานให้ท่อง ปัจจุบันไม่มีแล้ว ให้เรียนแบบฝรั่ง เพื่อสอนให้คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น แต่ครูยังสอนเหมือนเดิม เด็กก็ยังคิดไม่เป็น แถมยังจำอะไรไม่ได้อีก  โง่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น หลักขั้นที่ ๓ คือต้องท่องให้คล่องปาก จนสามารถจำได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสุภาษิต คติ หรือพุทธวจนะเมื่อต้องการสามารถหยิบมาใช้ได้ทันที

 

ขั้นที่ ๔ มนสานุเปกฺขิตา คือเพ่งให้ขึ้นใจจนสามารถสร้างภาพพจน์ขึ้นในใจ เป็นวิธีการเรียนหนังสืออย่างหนึ่งสมัยผมเรียนเป็นสามเณร เปรียญ ๘ เปรียญ  ๙ ผมใช้เวลาในการอ่านหนังสือ ๑ ถึง ๒ เที่ยวก็จำหมด เพราะผมใช้วิธีสร้างภาพในใจ จนกระทั่งมองเห็นว่าข้อความนั้นๆ อยู่บรรทัดเท่านั้น หน้านั้นได้ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านเคยเล่าว่า เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ไทยตอนพระนเรศวรรบกับพระมหาอุปราชา ท่านมองเห็นภาพว่าพระนเรศวรยืนอยู่ตรงไหน พระมหาอุปราชายืนตรงไหน ตอนรบกันทำท่าอย่างไร เวลาท่านมาพูดเหมือนกับบรรยายภาพ ไม่ใช่พูดจากความจำ ท่านผู้นี้ไม่รู้ภาษาบาลี  แต่พูดภาษาบาลีได้คล่อง มีความจำดีชอบอ่านพระไตรปิฎก  รู้ข้อความสำคัญๆ หมดโดยไปถามอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ในสมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุอยู่ว่า ตรงนี้ภาษาบาลีว่าอย่างไร อาจารย์สุชีพได้ไปเปิดภาษาลีมาให้ดู ท่านก็ท่อง ๒-๓  เที่ยวจำได้เลย

 

ขั้นที่ ๕  ทิฎฺฐิยา สปุฎิวิทฺธา  คือขบให้แตก ด้วยทฤษฎี หมายถึง สิ่งที่เรียนจำมาแล้ว สิ่งที่ท่องจนคล่องปากแล้ว สิ่งที่คิดในใจ  วาดภาพออกมาชัดเจนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะต้องนำมาขบมาคิดตีให้แตก แล้วสามารถนำมาสรุปเป็นแนวคิดของตัวเองได้ นำไปประยุกต์ใช้ได้ ภาษาการศึกษาเรียกว่าได้ข้อสรุปรวบยอด แล้วนำมาประยุกต์ ใช้ได้

การอ่านหนังสือ เมื่ออ่านจบแล้วให้เก็บหนังสือเล่มนั้นได้เลย  ถ้าหากมีใครถามว่าหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไรเราสามารถสรุปออกมาได้โดยไม่ต้องคัดลอกคำพูดของเขาและประยุกต์ใช้ให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ได้ ถ้ารู้แล้วยังประยุกต์ไม่ได้ก็ไม่เป็นพหูสูต  ไม่เรียกว่าพหูสูต

ฉะนั้น การที่พวกเรามาที่นี้เพื่อต้องการจะเป็นพหูสูต เพื่อนำไปใช้กับระบบการบริหาร  การนำไปใช้ต้องนำมาสรุปให้เป็นความคิดรวบยอดให้ได้  ประยุกต์ใช้ได้ ไม่ใช่แค่จำได้ท่องได้เท่านั้น