ในการพัฒนาคุณธรรมนั้น  พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า มีทางเลือกได้ ๒ ทาง คือ

๑. จับธรรมะที่เป็นแกนหลักให้ได้แล้ว ฝึกอบรมให้สมบูรณ์ที่สุด  เมื่อฝึกอบรมธรรมะที่เป็นแกนหลักได้แล้ว ธรรมะข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันก็จะตามมาเอง หมายความว่า พออันนี้เกิด อันนั้นก็จะเกิดขึ้น ตามมาสมมติว่าถ้าเราจะพัฒนาเรื่องธรรมฉันทะ ความใฝ่ดีใฝ่ในเรื่องที่ถูกต้อง  สมมติให้เป็นแกนหลัก เราอาจจะวางหลักการในการฝึกฝนความใฝ่ดี ถ้าเราทำสำเร็จคุณธรรมอื่นก็จะตามมาเอง เช่น ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การงาน ความเคารพต่อความคิดเห็นของผู้อื่น นี่เป็นผลพลอยได้ขึ้นมาเอง วิธีทำให้ผู้ได้รับการอบรมนั้นมีความรู้สึกว่าสามารถทำได้โดยไม่ท้อใจ  เพราะมีความรู้สึกกว่าเรื่องไม่มาก

ในครั้งพุทธกาล  มีพระภิกษุรูปหนึ่งอยากจะลึกเพราะหันไปทางไหนก็ห้ามทำ ทางนี้ก็ผิดทางนั้นก็ผิด ศีลก็มาก ไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงตัดสินใจสึก  แม้พระอุปัชฌาย์จะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง  เมื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  พระองค์ตรัสถามว่าทำไมเธอถึงอยากสึก  พระภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า รู้สึกลำบากเหลือเกิน ปฏิบัติอะไรก็ผิดทั้งนั้น ทางนี้ก็ผิดทางนั้นก็ผิด เป็นฆราวาสดีกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า มันมากไปหรือ ถ้าหากพระองค์จะลดลงเหลือข้อเดียวจะรักษาได้ไหม  พระภิกษุรูปนั้นกราบทูลได้ว่า พระองค์จึงตรัสบอกให้พระภิกษุรูปนั้นรักษาใจเพียงอย่างเดียว  นี้แสดงให้เห็นว่ารักษาข้อเดียวก็จริง แต่คลุมทั้งหมด

 

๒. ในการพัฒนาธรรมอย่ามองในแง่เดียว  ควรมองทุกด้าน ทั้งในแง่บวก แง่ลบ และให้มีความรู้สึกว่าไม่ได้มองหลักธรรมนั้นในด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป แม้ว่าเป็นเรื่องดี แต่ต้องมองทั้งในแง่บวก แง่ลบและทางออก ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราต้องมองแง่ อัสสาทะ คือ แง่บวกว่า ถ้าทำอย่างนี้ดีอย่างไรบ้าง ถ้ามองในแง่ อาทีนวะ คือแง่โทษหรือแง่เสียว่าแง่ลบมีไหม แง่ลบมีอะไรบ้าง แต่ถ้ามองในแง่นิสสรณะ  คือทางออกวิจารณ์แง่บวก เป็นอย่างนี้ แง่ลบเป็นอย่างนี้ มีทางออก อย่างไร ต้องมองให้ครบทั้ง ๓ ด้าน การรู้เพียงจุดใด จุดหนึ่งอาจจะทำให้รู้สึกว่ามีผลเสียมาก

เช่น เรื่องมังสวิรัติ  การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราชูประเด็นการไม่กินเนื้อสัตว์มากเกินไป เราจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมขึ้นมาอธิบายว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร และกินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร จำเป็นต้องหาทางอธิบาย สิ่งที่ตามมาอันหนึ่งคือ "อติมานะ" การดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น ใครไม่ทำอย่างนี้เป็นคนไม่ดี ถึงกับตั้งโศลกขึ้นว่า "คนกินเนื้อสัตว์เป็นมาร" คือ "ถ้ายังกินเนื้อสัตว์อยู่ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้"  เพราะว่าสนับสนุนการฆ่าสัตว์ทางอ้อมอย่างนี้เป็นต้น  เห็นได้ว่า ถ้าเน้นจุดใดจุดหนึ่งกันจะออกมาในลักษณะนี้

ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องมังสวิรัติ อาจจะทำให้เกิดการดูหมิ่นเลยเถิดไป โดยไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง  คือในสมัยที่หลวงพ่อเทียนยังมีชีวิตอยู่  มีนักมังสวิรัติมาหาท่าน ท่านเป็นพระนักปฏิบัติไม่รู้หนังสือ แต่สอนจากใจ  จากประสบการณ์นักมังสวิรัติได้ถามหลวงพ่อเทียนว่า

นักมังสวิรัติ:    ท่านบรรลุธรรมขั้นไหน

หลวงพ่อเทียน: โยมมีเงินอยู่ ๑๐  บาท โยมจะรู้เองว่าโยมมีเงินอยู่  ๑๐ บาท (หมายถึงท่านพูดเป็นปรัชญาให้คิด) นักมังสวิรัติ:  ผมไม่ได้ถามเรื่องเงิน ผมถามท่านว่าท่านบรรลุธรรมขั้นไหน  ท่านต้องบอก ถ้าท่านไม่บอกแล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าบรรลุขั้นไหนที่ท่านพูดมาเชื่อถือได้แค่ไหน  และเขาคุยว่าอาจารย์ของเขาบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ ซึ่งในขณะนั้น  ลูกศิษย์เก่าหลวงพ่อเทียนที่กำลังนั่งฟังอยู่สึกสงสัยว่า คนนี้มาจากที่ไหนไม่มีมารยาทเสียเลย  หลวงพ่อกำลังเทศน์อยู่ ทำให้เสียบรรยากาศหมด  จึงกล่าวว่าคุณชาล้นถ้วย  อธิบายเท่าไรก็ไม่ฟัง  หลวงพ่อเทียนไปห้ามลูกศิษย์ว่า อย่าไปว่าเขาเลยโยมคนนี้ไม่ใช่ชาล้นถ้วย  ท่านพูดแล้วก็ยิ้มๆ ท่านเอากาน้ำชามา ถ้วยน้ำชาแทนที่จะหงายท่านก็คว่ำลง แล้วท่านก็ริน ท่านกำลังจะบอกว่านักสังวิรัติคนนี้ไม่ใช่ชาล้นถ้วย แต่เป็นชาถ้วยคว่ำ ยังไงๆ ก็ไม่มีทางที่น้ำชาจะเข้าไปในถ้วยได้เลย นี้เป็นตัวอย่างอันดีตัวอย่างหนึ่ง

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องทาน เรื่องทานนี้ มีการเน้นกันมากในสังคมไทย จนกลายเป็นเครื่องมือหากินของคนบางกลุ่ม ความใจบุญสุนทานของคนไทยกลายเป็นการขูดรีด การเรี่ยไรแทนที่จะเป็นผลดีก็จะกลายเป็นผลเสีย เพราะฉะนั้นอย่าไปเน้นให้มาก มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าไว้ว่า มีแม่เสือตัวหนึ่งเมื่อเห็นโจรก็กระโจนใส่ โจรตกใจคว้าธนูยิงไปที่แม่เสือ  แม่เสือไม่กลัว กระโจนไล่ไป  โจรจึงวิ่งหนี พระภิกษุรูปหนึ่งเดินผ่านมาพอดี เสือจึงกระโจนใส่พระ พระจวนตัวก็คว้ากระดาษในย่ามขว้างไป เสือตกใจวิ่งหนี ลูกเสือวิ่งตามมา  พอไปถึงที่แม่เสือหยุดพักอยู่ใต้ต้นไม้และหายใจหอบแรงอย่างเหน็ดเหนื่อย ลูกเสือถามแม่ว่า คนหัวดำเอาธนูยิงแม่ทำไม แม่ไม่กลัวพอคนไม่มีผมเอากระดาษปาแม่ ทำไมแม่วิ่งหนี  แม่เสือบอกลูกว่าลูกเอ๋ย  ธนูถึงเจ็บอย่างไรแม่ก็พอทนได้ แต่ใบฎีกานี้ซิ แม่ทนไม่ได้ เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อคิดได้อย่างหนึ่ง

ส่วนรูปแบบของการปฏิบัติก็ไม่ควรเน้นมาก มีเพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นชาวฝรั่งทำงานอยู่บริษัทที่สี่พระยา ได้คุยกับผมว่าทำไมนักปฏิบัติธรรมมีปัญหามากเหลือเกิน เพราะที่สำนักงานมี นักปฏิบัติอยู่ ๒  คน  ซึ่งต่างสำนักกัน ถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลา  ไม่มีใครยอมใคร ที่มีปัญหาไม่ใช่เรื่องของสำนัก แต่คนไปเน้นที่รูปแบบ ติดรูปแบบ เช่น เมื่อนั่งสมาธิต้องหลับตา ต้องใส่ม่อฮ่อม ผมสั้น ต้องกินอย่างนั้นต้องไม่กินอย่างนี้ นี้คือรูปแบบ เพราะฉะนั้น ต้องทำลายรูปแบบให้ได้

ในวิธีการสอนกัมมัฎฐานของหลวงพ่อเทียน พระรูปหนึ่งไปพักอยู่วัดของท่าน ได้เห็นหลวงพ่อเทียนสอนให้พระวิ่งจงกรม รู้สึกแปลกใจจึงถามท่านว่า ทำไมสอนให้พระภิกษุจิ่งจงกรม ตามปกติการเดินจงกรมต้องเดินช้า ๆ ไม่ใช่หรือครับ หลวงพ่อเทียนตอบกลับมาทันทีว่า แล้วทำไมต้องเดินจงกรมช้า ๆ ด้วยล่ะ  พระภิกษุรูปนั้นตอบไม่ได้ ครั้งแรกยังนึกตำหนิท่านอยู่ในใจ ตอนหลังมาคิดได้ว่านี่เป็นเรื่องรูปแบบนั่นเอง แท้จริงแล้ว สมาธิ คือ การที่จิตจดจ่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆ จะเดินหรือนั่งไม่สำคัญ แต่สำคัญที่สติตามทันหรือไม่ ถ้าสติควบคุมทันการเคลื่อนไหวแสดงว่าเป็นสมาธิแล้ว  เดินจงกรมก็ได้ วิ่งจงกรมก็ได้ มันเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงเรื่องปัญญาจะพูดรวมๆ กัน ที่จริงปัญญา มีหลายระดับ ปัญญาระดับโลกคือปัญญาในการทำมาหาเลี้ยงชีพเรียกว่าโลกียปัญญาส่วนปัญญาระดับสูง เรียนกว่า โลกุตตรปัญญา