ปัจจุบันมีคนตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอว่า เราจะสอนจริยธรรมได้แค่ไหน เรื่องจริยธรรมสอนกันไม่ได้แต่ฝึกอบรมกันได้ เรามักจะคิดแต่จัดหลักสูตรสอนกันในโรงเรียน เราไม่ได้นึกว่าเป็นเรื่องของการอบรม และการฝึกอบรมจริยธรรมนั้นจะต้องควบคู่ทั้ง ๓ ด้าน  ตามหลักไตรสิกขาเพราะว่าการจะพัฒนาหลักธรรมอะไรก็ตาม  ต้องเอาหลักนี้มาจัด เพราะเป็นหลักสำหรับอบรมฝึกฝนขั้นต้นได้แก่

 

๑. ปัญญาสิกขา คือความรู้ความเข้าใจในหลักการเป้าหมาย เหตุผล วิธีการต่างๆ รู้ทุกอย่างเท่าที่จำเป็นปัญญาขั้นนี้ไม่ใช่ปัญญาขั้นลึกซึ้ง  แต่เป็นปัญญาขั้นพื้นฐานที่ต้องทราบก่อน สมมติว่าเราจะพัฒนาอะไรสักอย่าง เราต้องรู้ก่อนว่าพัฒนาไปทำไม  เป้าหมายเป็นอย่างไรและวิธีการพัฒนาจะทำอย่างไร

 

๒. ศีลสิกขา  คือจะต้องทำพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจนั้นด้วย  ถ้าหากตีความง่ายๆ คือลงมือทำ รู้ เข้าใจ แล้ว ต้องลงมือทำ (หรือจะแปลความตำราว่าการรักษากาย  วาจาให้เรียบร้อยก็ได้)

 

๓. จิตตสิกขา  คือ ต้องมีกำลังใจมั่นคงแน่วแน่ต่อ เป้าหมาย คือเมื่อทำต้องทำซ้ำๆ ซากๆ ต้องทำจนเป็นนิสัย ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ

หลักไตรสิกขา คือ ปัญญา ศีล จิตตะ แต่คนไทยมักเรียก ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งสามอย่างนี้ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ทำอันนี้เสร็จแล้วจึงค่อยทำอย่างที่ ๒ ตัวอย่าง เช่น ถ้าหากเราปลูกต้นไม้เราต้องใช้ไตรสิกขาทั้งหมด  คือ ต้องคิดว่าจะใช้ดินอย่างไร กระถางอย่างไร ถ้าเราขุดดินปลูกต้นไม้จะต้องใช้จอบหรือใช้เสียม  ดินแข็งหรืออ่อน  ต้องขุดกว้างลึกขนาดไหน เอาพืชชนิดใดลง  ต้องรดน้ำกี่ครั้งต่อวันต้องดูแลอย่างไร ต้องรู้หมด นี้เป็นเรื่องของปัญญาสิกขา การลงมือขุด  การเตรียมเพื่อให้การปลุกต้นไม้เป็นไปด้วยดีนี้เป็นเรื่องของศีลสิกขา  การดูแลเอาใจใส่รดน้ำพรวนดิน ไม่ใช้ปลุกเสร็จแล้วทิ้งไปเลย นี้เป็นเรื่องของจิตตสิกขา