สำหรับเรื่อง อนวัชชะ  ผมอยากเสริมท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาภรณ์สักเล็กน้อย ที่ท่านว่า "ทำดีไม่ได้ดี"  ต้องดูด้วยว่ามีวิบัติหรือสมบัติหรือไม่ ที่จริงตำราจะอธิบายไว้อย่างหนึ่ง แต่เรามักนำมาอธิบายในนัยประยุกต์เท่านั้น

 

คติ  หมายถึงภพภูมิ  ถ้าเราไปเกิดในภพในภูมิหรือในสถานที่ที่ไม่ดี เราก็ไม่มีโอกาสทำดี (คติวิบัติ) แต่ถ้าไปเกิดในสถานที่ดี เอื้อต่อการกระทำดี เราก็มีโอกาสทำดี  นัยประยุกต์ก็เช่น  เมื่อเราไปอยู่ในประเทศที่เขาไม่นิยมหรือไม่นับถือว่าสิ่งนี้ดี  เขาก็ไม่ซาบซึ้งในสิ่งที่เราทำ  แล้วเราก็ไม่มีโอกาสได้ดี พูดง่ายๆ ก็ว่า ทำดีไม่ถูกกับสถานที่

 

อุปธิ หมายถึงร่างกายของเราเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสม คือบุคลิกภาพไม่ดี   เรียกว่า อุปธิวิบัติ หรือร่างกายเหมาะสม บุคลิกภาพดี เราเรียกว่า อุปธิสมบัติ เช่น การบริหารงานโดยจะให้คนผอมไม่สมประกอบไปแบกถุงข้าวสารนั้นไม่ได้  จะต้องเอาคนที่บึกบึนแข็งแรง ความข้อนี้ควรนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารคือ ต้องดูร่างกายคนให้เหมาะสมกับงานด้วย

 

กาละ หมายถึง ถูกต้องตามกาลหรือไม่ ถ้าอยู่ในช่วงบ้านเมืองวิบัติ สังคมเสื่อมจากศีลธรรม คือ กาลวิบัติหรืออยู่ในสภาพที่บ้านเมืองเจริญมีความสงบสุขร่มเย็น คือ กาลสมบัติ ต้องทำให้ถูกและให้เหมาะกับกาลเวลาด้วย

 

ปโยคะ หมายถึง  ทำงานเต็มที่หรือไม่ ถ้าทำแต่ทำไม่เต็มที่ เรียกว่า ปโยควิบัติ หรือทำงานเต็มที่แล้วด้วยการใช้ความเพียรพยายามขวนขวายในทางที่ถูกต้อง เรียกว่า ปโรคสมบัติ

 

เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ  คือ ทำดี ถูกที่หรือไม่ ทำดีถูกคนหรือไม่ ทำดีถูกกาลหรือไม่ ทำดีเต็มที่แล้วหรือไม่ ถ้าทำไม่ถูกที่ ไม่ถูกคน ไม่ถูกกาล  หรือไม่เต็มที่ ก็จะไม่ได้ดี ถ้าได้ก็ได้ไม่มาก บางคนคิดจะทำดี แต่ไม่ถูกกาลเวลา เช่น เห็นคนกำลังตั้งวงดื่มสุรา เราก็ไปสอนเขาบอกว่า นี่มันอบายมุขมันผิดศีลธรรม พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ดี เลิกเสียเถอะ อย่างนี้เรียกว่าทำไม่ถูกที่ไม่ถูกกาลแล้วอาจจะเกิดผล คือถูกทำร้าย  บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลได้ง่ายๆ

 

ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า ผู้บริหารจะต้องมี

๑. ความพร้อมสำหรับตัวเอง คำว่า "พร้อม" คือ มีคุณธรรมพร้อม

๒. มีมนุษยสัมพันธ์คือ รู้จักเอาคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวเองเป็นสื่อ ไปสัมพันธ์กับคนอื่นได้ถูกต้อง

สำหรับตัวเองก็พร้อมและรู้ที่จะปฏิบัติกับคนอื่นด้วย ๒ ข้อนี้  จึงเป็นการสรุปหลักทั้งหมดได้จริงๆ ทุกคนก็ทราบหมดแล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร แม้รู้แล้วแต่จะทำได้หรือไม่ ในช่วงแรกนี้จึงต้องขอจบตรงเรื่องพระโพธิธรรม  ท่านได้เดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนาในเมืองจีน  ได้เทศน์สั่งสอนคนจนลือชื่อว่า ท่านสอนดี ประชาชนจึงพากันไปฟังธรรมจากท่านเป็นจำนวนมาก  เจ้าเมืองสงสัยว่าพระภิกษุรูปนี้มีอะไรดี ไปถามท่านว่า  ท่านสอนอะไร สอนอย่างไร พระโพธิธรรมท่านตอบว่าอาตมาสอนไม่ให้คนทำชั่ว  ทำความดีและทำใจได้ผ่องใส เจ้าเมืองถึงกับร้องโอ้โฮ  นึกว่าท่านสอนได้ลึกซึ่งกว่านี้ เด็กเจ็ดขวบก็รู้ ท่านโพธิธรรมก็บอกว่า เจ็ดขวบยังรู้ ก็จริงแต่เจ็บสิบขวบปฏิบัติไม่ได้ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ