จริต  คือแนวโน้มของคนที่แสดงออกมาแต่ละคนอาจจะมีหลายจริตรวมกัน ผสมผสานจนกระทั่งดูไม่ออกแต่ต้องดูว่าอันไหนมาก คือ

๑.ราคจริต  มีความประพฤติไปในทางรักสวยรักงาม ดูจากการกินอาหาร เช่น การสั่งก๋วยเตี๋ยว ตามปกติเขาปรุงมาอย่างดีแล้ว  คนที่มีราคจริตจะต้องใส่พริกนิดหน่อย หยอดน้ำปลานิดหน่อยทั้งๆ ที่รสกลมกล่อมดีแล้ว

.โทสจริต  มีความประพฤติหรือแสดงออกในทางใจร้อนหงุดหงิด ถ้าดูจากการกินอาหารเขาจะกินได้โดยจะปรุงหรือไม่ปรุงก็ตาม แต่ถ้าปรุงก็ต้องใส่รสเข้ม เช่น เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด หวานจัด

.โมหจริต มีความประพฤติไปทางเขลา เหงาซึม งมงาย หลงๆ ลืมๆ ถ้าดูจากการกินอาหารรสนิยมไม่แน่นอน บางครั้งกินเผ็ด บางครั้งกินเค็ม

.สัทธาจริต มีความประพฤติหนักไปในทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบานน้อมใจให้เชื่อง่าย

.พุทธิจริต  มีความประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา

.วิตกจริต  มีความประพฤติหนักไปในทางนึกคิดจับจดฟุ้งซาน

 

อย่างไรก็ตาม การสังเกตจริตของแต่ละคนดูยาก เช่น โมหจริต บางครั้งคล้ายกับโทสจริต และบางทีก็คล้ายๆ กับพุทธิจริต  ซึ่งมันปนกัน แต่สังเกตได้จากนิสัย เช่น ผู้หญิงทุกคนต้องมีผ้าเช็ดหน้าอย่างน้อยก็ต้องมีกระดาษทิชชู ถ้าผู้หญิงคนใดไม่มีทั้งผ้าเช็ดหน้าและกระดาษทิชชู  เป็นโมหจริต ถ้ามีกระดาษทิชชูอย่างเดียวยังไม่จัดเป็นโมหจริต หรือจะดูจากการเขียนหนังสือก็รู้ว่าเป็นมีจริตชนิดไหน คนมีโมหจริตเซ็นชื่อไม่คงที  เซ็นชื่อบางที่รับเงินไม่ได้ เพราะเขาคิดว่าเป็นคนละคนอย่างนี้เป็นต้น ต้องดูหลายอย่าง ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ก็เพราะในฐานะเป็นผู้นำคนต้องดูคนให้เป็นแล้วจะได้ใช้งานให้มันถูกใช้คนให้ถูกเรื่องนี้สำคัญมาก

 

ในครั้งพุทธกาลมีเรื่องๆ หนึ่ง คือ มีพราหมณ์คนหนึ่งอยากได้พระพุทธเจ้าเป็นลูกเขย พราหมณ์คนนี้มีลูกสาวสวยมากไม่ยอมยกให้ใคร พอพบพระพุทธเจ้าผู้มีรูปหล่อ จึงบอกจะยกลูกสาวให้ กลับไปบ้านตะโกนบอกเมียให้แต่งตัวให้ลูกสาวเพราะพบคนที่เหมาะสมกับลูกสาวแล้ว ชาวบ้านจึงตามมาด้วย เพราะพราหมณ์คนนี้ใครๆ มาขอไม่ยอมยกให้  พอวันนี้พบคนที่เหมาะสมต้องการดูว่าหล่อขนาดไหน ชาวบ้านจึงตามมาดูกันเต็ม  พระพุทธเจ้าไม่ประทับยืนอยู่ตรงนั้นแล้ว แต่พระองค์ยืนประทับรอยพระบาทไว้  พราหมณ์จึงชี้ให้ดูรอยพระบาทด้วยคิดว่าพระองค์จะต้องประทับอยู่แถวๆ นี้ นางพราหมณีเป็นหมอดูลายเท้า  เมื่อเห็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า จึงรู้ได้ทันทีว่าไม่มีหวังเพราะรอยเท้านี้เป็นรอยเท้าของคนหมดเรื่องโลกียวิสัยแล้ว พราหมณ์ถามพราหมณีว่า เธอรู้ได้อย่างไร นางพราหมณีบอกว่า ฉันเป็นหมอดูลายเท้า ดูลักษณะของคน ฉันจะอธิบายให้ฟัง ว่าแล้วนางก็ร่ายโศลกว่า

รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฎิกํ ปทํ ภเว

ทุฎฐสฺส โหติ สหสานุปีฬิตํ

มูฬหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ

วิวฎจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปทํ

คนราคจริต เท้าเว้ากลาง

คนโทสจริต เท้าหนักส้น

คนโมหจริต เท้าจิกปลาย

คนหมดกิเลส รอยเท้าจะเป็นเช่นนี้ (ราบเสมอกันหมด)

 

การดูคนเพื่อจะใช้คนให้เหมาะสมกับงาน มันก็มาเข้าหลักสัปปุริสธรรม  คือรู้ตน รู้งาน  การใช้คนให้เป็นสำคัญที่สุด เช่น ท่านขงจื๊อมีลูกศิษย์ ๓-๔ คน คนหนึ่งพูดเก่ง คนหนึ่งสง่างาม อีกคนหนึ่งกล้าหาญ จึงมีคำถามขึ้นมาว่า เมื่อเขาเก่งแล้วทำไมมาเป็นลูกศิษย์ของท่านอีก ขงจื๊อบอกว่า "ฉันมีในสิ่งที่เขาไม่มี ฉันมีในสิ่งที่เขาขาด"  เพราะฉะนั้นพระเมธีธรรมาภรณ์ กล่าวว่า การบริหารก็คือ การปฏิบัติงานโดยอาศัยคนอื่นคือ ความสำเร็จของงานก็โดยอาศัยผู้อื่น

 

มีตัวอย่าง เรื่องการใช้คนให้เหมาะกับงานที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ พระเจ้าเสือ พระองค์ใช้คนได้เหมาะคนหนึ่ง พระองค์ให้แจวเรือพระที่นั่ง อีกคนหนึ่งพระองค์ไม่ให้ทำอะไรเลย ให้เป็นมหาดเล็กคนสนิท คอยตามเสด็จ ด้วยเป็นผู้มีความคิดความอ่านแหลมคม  วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปจังหวัดสระบุรีเพื่อไหว้พระพุทธบาท  คนฝีพายก็พายเรือจนเหงื่อแตก เมื่อหันไปมองมหาดเล็กนั่นก็นั่งหลับอยู่หน้าพระที่นั่ง จึงเกิดความอิจฉาก็บ่นเบาๆ ว่า "ก็คนเหมือนกันนี่หว่า"  เขาพายไปสักพักหนึ่งหันกลับมามองมหาดเล็กอีกทีก็ยังหลับอยู่ ฝีพายชักไม่พอใจพูดดังกว่าเดิมว่า "ก็คนเหมือนกันนี่หว่า" พระเจ้าเสือทรงทราบว่า ฝีพายกำลังคิดอะไรอยู่ เมื่อเสด็จไปประทับแรม ณ พลับเพลาชั่วคราว มีสุนัขออกลูกข้างล่าง พระองค์ต้องการสอนฝีพายจึงเรียกมาก ตรัสถามฝีพาย

พระราชา:  เอ็งไปดูซิ ข้างล่างเป็นเสียงอะไร

ฝีพาย     :  คลานเข้าไป แล้วกลับออกมากราบทูล ว่าสุนัขออกลูกพระเจ้าค่ะ

พระราชา:  แล้วกี่ตัวล่ะ

ฝีพาย     :  คลานเข้าไปครั้งที่ ๒ แล้วกลับออกมากราบทูลว่า ๔ ตัวพระเจ้าค่ะ

พระราชา: แล้วตัวผู้กี่ตัว ตัวเมียกี่ตัวล่ะ

ฝีพาย:     คลานเข้าไปครั้งที่ ๓ แล้วออกมากราบทูล ว่า ตัวผู้ ๒ เมีย ๒  พระเจ้าค่ะ

พระราชา:  แล้วมีสีอะไรบ้างล่ะ

ฝีพาย:    คลานเข้าไปครั้งที่ ๔ แล้วออกมากราบทูลว่า สีดำ ๒ ตัว สีน้ำตาล ๒ ตัว พระเจ้าค่ะ

พระราชา: แล้วแม่มันสีอะไรล่ะ

ฝีพาย:     คลานเข้าไปครั้งที่ ๕  แล้วออกมากราบทูลว่าแม่สีนวลพระเจ้าค่ะ

 

หลังจากนั้นพระองค์รับสั่งให้เรียกมหาเล็กคนสนิทมา ตรัสว่าเอ็งลงไปดูซิว่าข้างล้างมีอะไร   เมื่อเข้าไปมหาเล็กกลับมาถวายรายงาน กราบทูลได้หมดทุกเรื่องโดยไม่ต้องคลานเข้าไปครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนคนแรก  พระองค์ตรัสว่า เอ็งบอกว่าเป็นคนเหมือนกัน แล้วทำไมไม่เหมือนกัน เอ็งคลานเข้าไปกี่ครั้ง แล้วคนนี้เข้าไปกี่ครั้ง นี้คือ เทคนิคของการบริหารอย่างหนึ่ง

 

การมีศิลปะในการบริหาร คือรู้จักใช้คนให้เป็น สัปปุริสธรรม ก็เข้าในเรื่องของปัญญา ในส่วนของ ฆราวาสธรรม ๔ ท่านจัดเอา สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ ตีความให้เป็นเรื่องสนับสนุนความเพียร  แต่ความเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความฉลาดด้วย เช่น ความขยันก็ต้องขยัน แต่จะขยันอย่างไร ถ้าใช้ความขยันไม่ถูกก็จะเป็นโทษ คือขยันโกง ขยันลักเล็กขโมยน้อย ขยันเบียดเบียนคนอื่น  จึงกล่าวว่าความขยันต้องมีเงื่อนไขว่าเมื่อขยันต้องฉลาดด้วย  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต้องควบคู่กันเสมอ

 

พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า บรรดาธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะนำหัวข้อใด ๆ ก็ตาม ต้องสมดุลกัน เมื่อตั้งเป้าหมายไว้แล้วต้องปฏิบัติให้ตรงเป้าหมาย เมื่อรู้เป้าหมาย เราปฏิบัติให้ไปสู่เป้าหมายนั้น แต่ว่ามันสมดุลหรือไม่ต้องดูที่ความพอเหมาะพอดี ปัญญามากเกินไปก็ไม่ดี  ทั้งนี้เพราะผู้มีปัญญามาก มักจะไม่เชื่อฟังใครง่ายๆ คิดว่า  ตัวเองเก่งอยู่เสมอไม่เชื่อใคร จึงต้องมีตัวคุมเพื่อให้เกิดความสมดุลกัน

 

ความเพียรเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามีความเพียรมากเกินไปก็ไม่ดีเพราะทำให้จิตฟุ้งซ่านการทำความเพียรอย่างเดียวไม่พอยิ่งมากเกินไปยิ่งไม่ดี มีพระภิกษุรูปหนึ่งนั่งกรรมฐานใต้ต้นไม้ ๗ วัน ๗ คืน  อาจารย์เซนมาพบเข้าจึงถามว่า คุณทำอะไรได้รับคำตอบว่า ฉันกำลังนั่งสมาธิเพื่อให้เป็นพระพุทธเจ้า อาจารย์เซนไม่ได้ว่าอะไร ท่านกลับเอาก้อนอิฐมาถูกับมือ ถูจนเลือกไหลซิบๆ พระภิกษุจึงถามว่าท่านกำลังทำอะไร  อาจารย์เซนตอบว่า ฉันกำลังให้เป็นกระจกใส พระภิกษุ กล่าวว่าท่านจะบ้าหรืออย่างไร ท่าเอาก้อนอิฐมาถูกจนมือขาด ก็เป็นกระจกไปไม่ได้  อาจารย์เซนจึงตะโกนบอกว่า แล้วคุณไม่บ้าหรืออย่างไร  คุณนั่งอยู่บนต้นไม้เหมือนลิงก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้  นี้แสดงให้เห็นว่าการมีวิริยะมากเกินไปก็ไม่ดี และถ้าทำความเพียรไม่ถูกต้องก็ไม่ประสบความสำเร็จ  ต้องปฏิบัติให้พอเหมาะ พอดี

ศรัทธามากก็ไม่ดี จะทำให้หลงใหล เชื่อคนง่าย

สมาชิกมากก็ไม่ดี  จะทำให้เฉื่อยชา  และมีข้อเสีย อยู่ด้วยอย่างหนึ่ง  เพราะว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิก็จะขับสารตัวหนึ่งออกมา เรียกว่า เอ็นโดฟีน จะทำให้ติดอยู่ในความสุขอาจารย์ของผมท่านสอนกันมัฎฐาน  ไปนรก ไปสวรรค์ได้ ผมก็ไปได้ ซึ่งเคยไปติดหรือหลงอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน การนั่งสมาธินั้น ถ้านั่งจนน้ำตาด หรือน้ำลายไหล มันมีความสุขจริงๆ เวลาจิตสงบสารตัวนั้นจะถูกขับออกมา ทำให้เกิดความสุขแล้วไม่อยากจะออกจากสมาธิ ในที่สุดกลายเป็นคนขี้เกียจเฉื่อยชา  ไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก มีความสุขส่วนตัวแต่สังคมลำบาก เช่นในหน่วยงานหนึ่งๆ ถ้าหัวหน้ามัวแต่นั่งสมาธิอยู่ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทะเลาะกัน งานก็จะได้รับความเสียหายโดยไม่มีผู้ใดสนใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมาธิมากเกินไปทำให้ขี้เกียจต้องสมดุลกัน อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่มากแล้วดี  สิ่งนั้นคือสติ สติยิ่งมากยิ่งดี ด้วยสติเป็นสิ่งจำเป็นทุกเมื่อ สติเป็นตัวคุมในหลักการปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นนักวิชาการถึงจะมีปัญญา   แต่ถ้าไม่มีสติก็คือว่าเป็นคนที่ไมสมบูรณ์