คนเรานั้นหากอยากประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากการพัฒนาการ พัฒนาจิตแล้ว การพัฒนาการดำรงตนควบคู่ไปกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คน นับเป็นสิ่งที่ต้องกระทำเป็นอย่างยิ่ง
        เกี่ยวกับการพัฒนา "การดำรงตน" ก็คือการตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสัมมาอาชีวะที่ดีงาม โดยเฉพาะในด้านการงาน ควรจะมีแผนและเป้าหมายดังนี้ อาจทำให้ครบวงจรเรียกว่าวงจรแห่งความสำเร็จ คือ
        ประการที่ 1 วางแผน คือลองคิดพิจารณาว่าในอนาคตต่อไปจากวันนี้เราทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร และทำไม
        การวางแผนอย่างนี้ อาจทำเป็นรายวัน รายเดือน รายปี หรือหลาย ๆ ปีก็ได้ ถ้าไม่เคยทำเลย ลองแบบรายวันดูก่อนก็ได้ ลองสมมุติว่าพรุ่งนี้เมื่อมาถึง ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เราจะทำอะไรบ้าง ในแต่ละช่วงของเวลา และไปที่ไหนบ้าง แต่งชุดอะไร จากนั้นก็มีการเตรียมการเพื่อให้สามารถทำไปตามแผนให้ได้ เช่นคิดจะแต่งชุดหล่อ ชุดสวย สีม่วง ก็ไปลองดูซิว่าได้ซักรีดหรือยัง ถ้ายังก็ไปจัดเตรียมไว้ให้พร้อม และลองทำไปตามกำหนดเวลาต่าง ๆ ตามที่วางไว้ ซึ่งแน่นอน อาจไม่เป็นไปตามแผนทั้งหมด แต่ก็ทำให้ดูอะไรได้มากขึ้น

        ประการที่ 2 ปฏิบัติตามแผน เมื่อวางแผนแล้ว ก็ปฏิบัติไปตามที่วางแผนไว้ เป็นขั้นเป็นตอน เรื่องการปฏิบัติตามแผนนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนเขาชอบพูดกันว่า การวางแผนภาษาฝรั่งเรียกว่า "แพลนนิ่ง" คนไทยเราวางแผนเสร็จก็มักจะ "นิ่ง" ตามชื่อ คือไม่ได้ปฏิบัติไปตามที่แผนวางไว้ เลยทำอะไรไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น เมื่อวางแผนแล้ว จึงต้องปฏิบัติตามแผนให้ได้

        ประการที่ 3 ประเมินผลแผน ภายหลังการวางแผนชีวิตไปแล้ว และปฏิบัติไปตามที่วางแผนไว้แล้ว แน่นอน บางอย่างก็ประสบความสำเร็จด้วยดี บางอย่างก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ เราจึงต้องมีการประเมินผลแผนว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ในส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็จะได้หาหนทางแก้ไขในคราวต่อไป โดยกลับไปวางแผนใหม่ แล้วก็ปฏิบัติตามแผนใหม่และประเมินผลใหม่อีกครั้ง

        ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ ถ้าเรานำมาใช้ในการดำรงชีวิตของเราบ่อย ๆ จะทำให้ชีวิตมีแก่นสาร มีการดำรงชีวิตไปอย่างมีคุณค่า ยิ่งถ้านำไปใช้กับอาชีพการงานที่ทำแล้ว จะยิ่งแจ๋วมาก

        แต่อนิจจา คนไม่ค่อยทำกันหรอก หรือทำก็ไม่ค่อยจริงจังอะไรกันนัก เรียกว่าอยู่กันแบบลอยลมไป แล้วแต่โชคชะตาราศีจะกำหนด หรือแล้วแต่หน้าที่การงานที่เจ้านายเขาสั่งมาจะกำหนด แล้วก็ทำไปตามเขา ไม่ได้ทำไปตามเรา ดังนั้นการพัฒนาการดำรงชีวิตตนจึงไม่เกิดมากนัก

        คราวนี้มาถึงการพัฒนา "ความสัมพันธ์กับผู้คน" บ้าง ในหลายตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงหลักทั่วไป รวมทั้งหลักของนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศมาแล้ว ต่อไปนี้จะขอคุยแบบหลักไทย ๆ บ้าง

        หลักการนี้รวบรวมโดยอาจารย์ชิต นิลพานิช อดีตอธิการบดีวิทยาลัยการปกครองและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด ท่านได้รวบรวมหลักมนุษยสัมพันธ์ที่ใช้ในการปกครองและการบริหารงานไว้มากมาย

        โดยท่านถือหลักว่า คนเรานั้นมีผู้คนแวดล้อมอยู่ 4 ประเภท คือ เบื้องสูง ได้แก้เจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา เบื้องกลาง ได้แก่เพื่อร่วมงานระดับเดียวกันเบื้องต่ำ คือลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา และเบื้องรอบ ๆ ทั่วไป คือ ลูกค้า ประชาชน

        บุคคลทั้ง 4 ประเภทนี้ ถ้าอยากสัมพันธ์ให้ดี ต้องเข้ากับเขาให้ได้ ซึ่งท่านอาจารย์ชิตได้สรุปย่อ ๆ ไว้เยอะแยะ ลองอ่านไล่ไปดูก็ได้ว่าเราได้ทำหรือยัง ถ้ายังไงลองทำดูนะครับ รับรองว่าแจ๋ว



1

หลักการเข้ากับผู้บังคับบัญชา
ทำงานให้ดี หลีกเลี่ยงการสอพลอ
หาทางให้ความคิดของผู้บังคับบัญชาได้ผล
เคารพยกย่องตามฐานะ
ไม่ควรพูดว่า "ได้ครับ" หรือ "ไม่ได้ครับ" ตลอดเวลา ควรใช้คำว่า "แต่ว่า" บ้าง
อย่าก่อศัตรูกับเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน
เรียนรู้นิสัยการทำงานของผู้บังคับบัญชา
อย่ารบกวนผู้บังคับบัญชาด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
เข้าหาผู้บังคับบัญชาให้เหมาะกับเวลาและโอกาส
อย่านินทานายลับหลัง
อย่าโกธรเมื่อผู้บังคับบัญชาไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรา
เมื่อผู้บังคับบัญชาปฏิบัติดีต่อเราจะต้องหาทางแสดงความขอบคุณ
อย่าบ่นถึงความยากลำบากในการปฏิบัติงานต่อหน้านาย
สรรเสริญนายในโอกาสต่าง ๆ
ประเมินตัวเองเป็นระยะ ๆ ว่า
    เงินเดือนขึ้นหรือเปล่า
     ถูกถามความเห็นบ้างหรือเปล่า
    ถูกสั่งงานข้ามหัวบ้างหรือเปล่า
    ถูกตำหนิบ้างหรือเปล่า
    มีความรู้เกี่ยวกับตัวผู้บังคับบัญชา และครอบครัวบ้างหรือไม่



2

หลักการเข้าหาเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน
เข้าหาเขาก่อน
มีความจริงใจต่อเขา
อย่าซัดทอดความผิดให้เขา
ยกย่องชมเชยเขาในกรณีที่สมควร
ให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจเสมอ
แจ้งให้เขาทราบโดยด่วนในเรื่องที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของเขา
ฟังความเห็นเขาบ้าง
หลีกเลี่ยงการทำตัวเหนือกว่า
เสมอต้นเสมอปลาย
สรรเสริญเขาในโอกาสอันควร
หลีกเลี่ยงการขอร้องหยุมหยิม
ใจกว้างพอประมาณ
พบปะสังสรรค์กันตามควร
ให้อภัยซึ่งกันและกัน



3

หลักการเข้ากับผู้ใต้บังคับบัญชา
รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง
    อย่าอารมณ์ฉุนเฉียว
    อย่าหลงตัวเองว่าเก่งกว่าคนอื่น
    อย่าใช้อำนาจเกินความจำเป็น
    อย่าตัดสินใจในเวลาโกธร
    อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง
วิธีส่งเสริมกำลังใจ
    เอาใจเขามาใส่ใจเรา
    ยกย่องเมื่อเขาปฏิบัติดี
    แสดงความเชื่อมั่นในตัวผู้ใต้บังคับบัญชา
    อย่าจุกจิกจู้จี้ เหมือนคนเป็นโรคประสาท
    เอาใจใส่ในความยากลำบากในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
    มีความจริงใจและเห็นอกเห็นใจ
รู้จักใช้รางวัลล่อใจ
    ให้บำเหน็จรางวัลอย่างเป็นธรรม
     หลีกเลี่ยงการใช้ระบบหยุมหยิมเกินความจำเป็น
ชี้แจงความเคลื่อนไหวในวงงาน
     ชี้แจง นโยบาย แผนงาน และปัญหาต่าง ๆ อย่างกระจ่างชัดและทันต่อเหตุการณ์
     อย่าทำให้เขารู้สึกว่านายเท่านั้นที่ควรรู้ และลูกน้องไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด
    อย่าปล่อยให้เก็บเรื่องราวจากข่าวลือ
     เมื่อเขาถามข้อข้องใจ หาคำตอบที่ถูกต้องมาทำความเข้าใจให้ได้
     ความเห็นของเขาที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ ชี้แจงเหตุผลให้เขาทราบ
รักษาผลประโยชน์ของผู้ใต้บังคับบัญชา
     เอาใจใส่ในผลประโยชน์ของเขา
     ใครสมควรได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนฐานะ รีบดำเนินการให้
    ใครมีเรื่องทุกข็ร้อนหาทางปัดเป่าให้
     ใครทำดีรีบให้รางวัลตอบแทน
     เอาใจใส่ในความทุกข์สุขส่วนตัวและครอบครัวของเขา
     อย่าเบียดบังผลประโยชน์ของผู้ใต้บังคับบัญชา
     อย่าสัญญาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาในสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือไม้ตั้งใจที่จะปฏิบัติ
     อย่าให้ยาหอมกับผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่มีความจริงใจ
     อย่าใจแคบกับผู้ใต้บังคับบัญชา
พยายามละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการกระทำดังต่อไปนี้ เพราะจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสื่อมศรัทธา ขาดความจงรักภักดี
     เจ้าอารมณ์ ขี้โมโห ฉุนเฉียว
     เลือกที่รัก มักที่ชัง
     ชอบแสดงอำนาจ
    ซัดทอดความผิด
     ไม่กล้ารับผิดชอบ
     ระเบียบจัดเจนเกินควร จุกจิก จู้จึ้ (เหมือนคนเป็นโรคประสาท)
    ชอบรวมอำนาจ
     ทำตัววิเศษกว่าคนอื่น
    ชอบทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอึดอัดอับอาย
     ดูหมิ่นผู้ใต้บังคับบัญชา
     ไม่เห็นความสำคัญในผลงานการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
     ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวผู้ใต้บังคับบัญชา
     มีแต่ยาหอม ปราศจากความจริงใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
     เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว
     ชอบขู่เข็ญ
     มรรยาทส่วนตัวหยาบคาย
     ขี้หวาดระแวง
     ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา
     ไม่รักษาคำพูดที่ได้สัญญาไว้
     ไม่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของลูกน้อง
     ชอบเสี้ยมเขาควายให้ชนกัน
    หูเบาไม่สนใจกับปัญหาในวงงาน
     ไม่สนใจคำเรียกร้องของผู้ใต้บังคับบัญชา
     ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวงงาน
     ปิดบังความรู้ในการทำงาน กลัวลูกน้องแย่งเก้าอี้
     นินทาผู้ใต้บังคับบัญชา
     ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นสตรี
     ไม่มีศิลปะการสอนงานผู้ใต้บังคับบัญชา
     ไม่สนใจความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา



4

หลักการเข้ากับประชาชน
ศึกษาและพยายามใช้ภาษาพื้นเมือง
พยายามทราบความต้องการของเขา
หาโอกาสไปเยี่ยมเยือน สนทนาปราศรัย
ไม่ปฏิเสธการต้อนรับของชาวบ้าน
หาโอกาสเข้าร่วมพิธีทางศาสนา
เลิกความรู้สึกเป็นเจ้าขุนมูลนาย
เปลี่ยนทัศนคติให้เป็นไปตามระบบรักกันฉันท์พี่น้อง
สุจริต
ไม่เบียดเบียนหยามชาวบ้าน
มีท่าทีเป็นมิตรเสมอ
นำบริการต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน
ติดตามดูแลลูกน้องที่ออกไปทำงานร่วมกับประชาชนเป็นกรณีพิเศษ
หาทางที่จะทราบความเป็นอยู่และพฤติการณ์ของชาวบ้านโดยละเอียด
เปิดโอกาสให้เขาระบายทุกข์ร้อน

        ครับทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักการเข้าถึงบุคคลที่อาจารย์ชิต นิลพานิช ท่านรวบรวมไว้ ผมเองในฐานะลูกศิษย์ท่านก็ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ก็ลอง ๆ ดูนะครับว่าเราทำครบตามที่อาจารย์สอนแนะไว้หรือยัง ถ้ายังลองทำดูนะครับ รับรองว่าจะสัมพันธ์กับผู้คนทุกระดับชั้นได้อย่างดี มีสุขจริง ๆ

        ที่มา: ข้อเขียนจากคอลัมน์ "สาระน่ารู้" วารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

        [ อ่านบทความย้อนหลัง ]