การปฏิบัติตามหลักการแห่งพรหมวิหาร 4 ที่มีดุลยภาพ 2 ด้าน (เมตตา-กรุณา-มุทิตา ด้านหนึ่ง และอุเบกขาด้านหลังหนึ่ง) นี้ก็คือการที่ผู้นำนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ทั้งกับคนและกับงาน ทั้งกับคนและกับธรรม หรือทั้งกับคนและกับหลักการ คือต้องเอาทั้งคน และทั้งงาน หรือเอาทั้งคนและหลักการ

 

ถ้าเอาคนอย่างเดียวก็จะเอียงสุดไปข้างหน้า และจะเกิดปัญหาหรือเกิดความเสียหาย เช่น เมตตา กรุณา มุทิตา จนไม่มีขอบเขต แม้จะปิโย คือเป็นที่รัก แต่ก็เสียหลักการและทำให้เสียความเป็นธรรม นอกจากนั้น เมื่อพยายามทำตัวให้เป็นที่รักโดยเป็นกันเองเกินไปอย่างไม่มีขอบเขต ก็อาจจะเลยเถิดไปกลายเป็นเพื่อนเล่น หรือกลายเป็นที่ล้อเล่น จนกระทั่งคำพูดไม่มีความหมาย ไม่มีน้ำหนัก พูดอะไรเขาก็ไม่ฟัง อย่างนี้ก็หมดความหมาย พร้อมกันนั้นก็อาจจะกลายเป็นว่าแทนที่ตัวเองจะไปนำเขา ก็กลายเป็นว่าถูกเขาชักพาออกนอกลู่นอกทางไป  เลยหมดความเป็นผู้นำ

 

เพราะฉะนั้น ปิโย "เป็นที่รัก"  ซึ่งเกิดจากคุณสมบัติในข้อเมตตา กรุณา มุทิตา ที่เอาคน จึงต้องมีขอบเขตโดยมีความสมดุลกับข้ออุเบกขา  ที่เอาธรรม เอาหลักการ และเอาตัวงาม

 

ทีนี้ ถ้าเอาตัวงาน เอาหลักการ หรือเอาธรรม ก็จะได้ลักษณะที่เรียกว่าเป็น "ครุ" ซึ่งแปลว่า "น่าเคารพ" คือ เป็นคนมีหลักหนักแน่น จึงเป็นผู้ที่น่าเคารพ แต่ถ้าเอาหลักอย่างเดียวแม้จะน่าเคารพก็แห้งแล้ง บางทีไม่มีใครกล้าเข้าหน้าเลย อย่างนี้ลำบากเสียผลเหมือนกัน ครุ ก็จะเอียงข้างไป เพราะฉะนั้น  จึงต้องพอดี ถ้าได้ทั้งข้อ 1-2-3 แล้วมาสมดุลกับข้อ 4 ก็จะได้ทั้ง ปิโย เป็นที่รัก หรือน่ารักด้วย และครุ เป็นที่เคารพด้วย หมายความว่าได้ทั้งคนได้ทั้งงาน ได้ทั้งคนได้ทั้งหลักการ และได้ทั้งคนได้ทั้งธรรม อันนี้เป็นหลักการสำคัญที่เป็นเรื่องของดุลยภาพ

 

เป็นอันว่า คนที่น่าเคารพ เป็นครู นั้นจะยึดถือหลักการเป็นใหญ่ เอางานเป็นสำคัญ เอาธรรมนำหน้า เมื่อเอาใจใส่ดูแลคนให้ดี ก็เป็นปิโยด้วย  ก็ได้ดุลยภาพอย่างที่ว่ามานี้ แต่ข้อที่สำคัญก็คือ เมื่อมองกว้างออกไปถึงที่สุด การเอาคนกับเอาหลักการก็จะมาบรรจบกัน หมายความว่า ถ้าเอาคนที่เป็นบุคคล เป็นรายคน หรือเป็นคน ๆ ไป ก็อาจจะขัดกับธรรม เพราะธรรมนั้นก็คือเอาคนทั้งหมดหรือทั้งสังคม ถ้าเราเอาบุคคลโดยยอมเสียธรรม ก็จะเสียแก่สังคมทั้งหมด เมื่อรักษาธรรมก็จะรักษาสังคมไว้ได้ เพราะในที่สุดสังคมดำรงอยู่ได้ด้วยธรรม เนื่องจากธรรมเป็นฐานที่รองรับสังคมไว้ เพราะฉะนั้น การเอาธรรม ก็ คือเอาทั้งหมด หรือรักษาสังคมของมนุษย์ชาติเอาไว้ มิใช่เห็นแก่บุคคลผู้เดียวแล้ว ยอมทำลายธรรมที่รักษาสังคมของมนุษย์ทั้งหมด

 

นอกจากนั้น  การที่งานการและทุกสิ่งทุกอย่างจะบรรลุผลสำเร็จก็จะต้องเป็นอย่างถูกต้องหลักการ  คือ ตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งพูดส้น ๆ ว่า ตามธรรมนั่งเอ เพราะฉะนั้น ธรรมหรือหลักความจริงและหลักการจึงเป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้าย  ด้วยเหตุนี้ผู้นำจึงต้องเป็นผู้มั่นใจธรรม  เป็นผู้ถือหลักการเป็นใหญ่ และเข้าใจชัดเจนในหลักการ