จะขอรวบรัดพูดถึงหลักธรรมสำคัญ  ที่ชาวพุทธรู้จักกันดี ซึ่งผู้นำแน่นอนว่าจะต้องมี แม้จะจักกันเป็นเรื่องง่าย ๆ พื้น ๆ ก็ขาดไม่ได้ที่จะต้องพูดไว้ด้วย  และที่จริงก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจกันดีเท่าไร หลักธรรมนั้นเรารู้กันดีว่า คือ พรหมวิหาร 4 ประการ

 

พรหมวิหารเป็นธรรมสำหรับทุกคนที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ในฐานะเป็น "พรหม" คือ เป็นผู้มี  ศักยภาพในการที่จะสร้างสรรค์และธำรงรักษาสังคมไว้  โดยเฉพาะสำหรับผู้นำนั้นแน่นอนว่าจะต้องเป็นแบบอย่างที่จะต้องมีพรหมวิหาร 4 ประการ เพราะพรหมวิหารนั้นเป็นธรรมประจำใจของคนที่มีจิตใจยิ่งใหญ่  เป็นผู้ประเสริฐ อันแสดงถึงความเป็นบุคคลที่มีการศึกษา ได้พัฒนาตนแล้ว

 

พรหมวิหาร 4 ประการ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่จะต้องให้มีอยู่ประจำในจิตใจ  และเป็นท่าทีของจิตใจที่จะทำให้แสดงออกหรือปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างถูกต้องโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้ง  4 ที่เขาประสบ กล่าวคือ

 

1. ในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา คือ ความเป็นมิตรไมตรี ความมีน้ำใจปรารถนาดี ต้องการให้เขามีความสุข  ซึ่งหมายถึงความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ทั้งแต่ละคน ๆ ที่เราเกี่ยวข้อง ขยายออกไปจนถึงความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์หรือต่อสังคมทั้งหมดทั่วทั้งโลก  เมตตานี้เป็นคุณธรรมพื้นใจประการแรกที่ต้องมี ซึ่งใช้ในยามปกติ คือ เมื่อคนอื่นเขาอยู่กันเป็นปกติ  เราก็มีเมตตาปรารถนาดี คิดหาทางสร้างสรรค์ความสุขความเจริญให้เขาเรื่อยไป

 

2. ในสถานการณ์ที่เขาตกต่ำเดือดร้อน  เราก็มีกรุณาคือ ความพลอยรู้สึกไหวตามความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือปัญหาของเขา และต้องการช่วยเหลือปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนนั้น  กรุณานี้ต่างไปจากเมตตา คือเมตตาใช้ในยามปกติ แต่เมื่อเขาตกต่ำลงไปกลายเป็นเดือดร้อนเป็นทุกข์ เราก็มีกรุณา ใฝ่ใจช่วยบำบัดทุกข์ให้

 

3. ในสถานการณ์ที่เขาขยับสูงขึ้นไปในความดีงาม ความสุขความสำเร็จ เราก็มีมุติตา หมายความว่า เมื่อเขาเปลี่ยนไปในทางขึ้นสูง  ได้ดีมีสุข ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ประสบความสำเร็จ เราก็ย้ายไปเป็นมติตา คือพลอยยินดีด้วย ช่วยส่งเสริมสนับสนุน

 

ในวงการงานตลอดจนการเป็นผู้ทั่วไปนั้น เรื่องที่สำคัญมากก็คือ เมื่อคนมีปัญหา มีทุกข์เดือดร้อน เช่น จับไข้ได้ป่วย หรือยากไร้ขาดแคลน ก็ต้องมีกรุณาที่จะเอาใจใส่แก้ปัญหา  เมื่อมีคนประสบผลสำเร็จในการทำสิ่งดีงาม  ทำให้อะไรต่ออะไรพัฒนาก้าวหน้าไป ก็ต้องมีมุติตาช่วยส่งเสริมสนับสนุน  แต่ในยามปกติก็ต้องไม่ปล่อยปละละเลย  ต้องเอาใจใส่ต่อการที่จะให้เขาอยู่ดีมีสุข  เช่น มีสุขภาพดี อยู่ในวิถีทางของความสุขความเจริญ และการพัฒนาสืบต่อไป คือ ต้องมีเมตตาปรารถนาดี ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ก็จะทำให้กิจการงานและประโยชน์สุขที่มุ่งหมายพร้อมที่จะสำเร็จผลหนึ่งก็จะเกิดขึ้นในตัวผู้นำ คือ "ปิโย" แปลว่า "ผู้เป็นที่รัก" กล่าวคือผู้ร่วมงานหรือผู้ร่วมไปด้วยกัน หรือจะเรียกผู้ตามก็แล้วแต่ ก็จะมีความรัก มีความรู้สึกสนิทสนม สบายใจต่อผู้นำนั้น เสริมความรู้สึกอยากร่วมไปด้วยให้หนักแน่นมากขึ้น ทั้งร่วมใจและร่วมมือ

 

อย่างไรก็ตาม ปิโย เท่านั้นไม่พอ ปิโยนั้นได้มาจากเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ยังต้องมีอีกข้อหนึ่ง คือพรหมวิหารข้อสุดท้ายได้แก่

 

4. ในสถานการณ์ที่เขาทำผิดหลักหรือละเมิดธรรม เราก็มีอุเบกขา หมายความว่า เมื่อใดเขาทำอะไรไม่ถูกต้อง โดยละเมิดธรรม คือ ละเมิดต่อหลักการ หรือละเมิดต่อความถูกต้อง ทำให้เสียหลัก เสียกฎเกณฑ์ เสียความเป็นธรรม เสียความชอบธรรม ทำลายกติกา เป็นต้น ผู้นำจะต้องอยู่ในหลักที่เรียกว่า อุเบกขา

 

อุเบกขาก็คือรักษาความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างหยุดการขวนขวายในการที่จะปฏิบัติตามข้อ 1-2-3 คือ จะต้องเอาธรรมเป็นใหญ่  แล้วก็รักษาหลักการกฎเกณฑ์กติกา  หรือรักษาตัวธรรมไว้

 

อุเบกขานี้เป็นตัวรักษาดุล เป็นตัวจำกัดหรือคุมการปฏิบัติตามข้อ 1-2-3 (เมตตา-กรุณา-มุทิตา)  ไม่ให้เกินขอบเขตไปจนกลายเป็นเสียธรรม คือ การปฏิบัติต่อคน หรือช่วยเหลือคน จะต้องไม่ให้เสียความเป็นธรรม ไม่ให้เป็นการทำลายหลักการ  ไม่ให้เป็นการละเมิดต่อกฎเกณฑ์กติกาที่ชอบธรรม