" คำว่า "พอเหมาะพอควร"  นี้ เรามักใช้เรียกอย่างย่อ ๆ ด้วยคำว่า "พอ" หรือ "รู้จักพอ" ฉะนั้นคำว่า "รู้จักพอ" ในทางพุทธธรรม     จึงมิได้หมายความว่าหยุดนิ่งหรืออยู่กับที่   แต่หมายถึง"รู้จักความพอเหมาะพอควร"   ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อการบริโภคโดยไม่จำกัดว่าบริโภคอาหารหรือบริโภคลาภ  ยศ  สรรเสริญ   มิใช่ว่าเห็นอาหารอร่อยก็รับประทาน   จนอึดอัด   ในทำนองเดียวกัน มิใช่ว่าเห็นลาภ   ยศ สรรเสริญ   มากองอยู่เฉพาะหน้า ก็เร่งกอบโกยจนขาดสติ "

ารทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของบุคคลอาจพอศึกษาได้จากคำถามที่ว่า "แต่ละบุคคลต้องการอะไรในชีวิต" แม้คำถามนี้จะเป็นคำถามพื้นฐานคล้ายหญ้าปากคอก แต่บ่อยครั้งสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างทั่วไป ความต้องการของมนุษย์ยอมแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ให้กว้างไกลแล้วก็พอจะทราบได้ว่าความต้องการของคนไทยในยุคปัจจุบันมักมุ่งเน้นที่ความต้องการภายนอกเป็นสำคัญอย่างไรก็ดี หลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็ได้ครอบคลุมถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสี่ อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ปัจจัยนอกเหนือจากนี้ยังรวมถึงความต้องการทางเพศและความต้องการ เกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งพุทธทาสภิกขุเรียกโดยย่อว่า "กิน กาม เกียรติ" ดังนั้นความต้องการภายนอกของมนุษย์จึงพอจัดกลุ่มได้คือ

 

(1)  ความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องบำรุงความสุข
 

(2)  ความต้องการทางเพศ ความรัก และการเป็นเจ้าของ
 

(3)  ความต้องการชื่อเสียง เกียรติยศ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และการยกย่องในสังคม

 

กล่าวตามความเป็นจริง ความต้องการทั้ง 3 นี้ จัดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่อยากมีอยากได้สิ่งดังกล่าวในชีวิต คำถามที่ต้องตามมาคือทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ตามความปรารถนาของตน คำตอบก็คือ การที่จะได้สิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการก็ด้วยการ "ทำงาน" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หลักพุทธธรรมเน้นว่าจำเป็นต้องเป็นการประกอบอาชีพที่ชอบ(สัมมาอาชีวะ) และเป็นการกระทำที่ชอบ (สัมมากัมมันตะ)  งานจึงเปรียบเสมือนบันไดทองที่ทอดยาวให้บุคคลก้าวไปสู่เป้าหมายในชีวิต งานที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์ซึ่งในหลักการของพระพุทธศาสนา ก็ปรากฏคำสอนที่ว่า "บุคคลผู้ทอดทิ้งการงาน ย่อมสูญเสียผลประโยชน์อันควรมีควรได้จากชีวิต"
                 นอกจากนี้ปรัชญาเมธีหลายท่านก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาดังเช่น
                            วอลแตร์ถือว่า "งานคือรากฐานของชีวิตมนุษย์" 
                             เวอร์ยิลกล่าวเสริมว่า "การมุ่งมั่นทำงานอย่างแม้จริง ย่อมชนะทุกสิ่งที่ขวางกั้น"
                 และคำพังเพยในประเทศไทยสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีอยู่ว่า
                            "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" เป็นต้น

 

งานทุกลักษณะที่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมสามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตของมนุษย์ได้ แต่อาจมุ่งเน้นการตอบสนองสำหรับความต้องการภายนอกแต่ละประเภท ในระดับที่แตกต่างกัน ดังเช่นการทำงานในภาคเอกชน อาจสนองตอบต่อความมั่งคั่งสมบูรณ์ได้มากกว่าการทำงานในภาครัฐบาล  แต่ในทางกลับกัน การทำงานในภาครัฐบาลก็ยังคงให้ความมั่นคงและเกียรติยศสูงกว่าการทำงานในภาคเอกชนโดยส่วนรวม อย่างไรก็ตามหน้าที่การงานนั้น จัดเป็นเพียงช่องทางหรือช่องโอกาสที่เปิดให้บุคคลก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น  และความสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่  ย่อมขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ว่า มุ่งอุทิศตนเพื่อการทำงานให้บรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตเพียงใด ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ทำงานด้วยความทุ่มเทเพื่องานในระดับที่แตกต่างกัน ย่อมได้รับผลจากการทำงานไม่เหมือนกัน  บุคคลผู้ทำงานอย่างทุ่มเทด้วยความมุ่งหวังให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพจัดได้ว่าเป็นบุคคลผู้มีแรงจูงใจ หรือมี "ไฟ" ในการทำงานส่วนการกระตุ้น "ไฟ" หรือจูงใจในการทำงานก็มิใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนถึงเครื่องมือหรือสูตรสำหรับกระตุ้นแรงจูงใจดังกล่าวเมื่อ 25 ศตวรรษมาแล้ว  ซึ่งพุทธบริษัทเรียกเครื่องมือนี้ว่า "อิทธิบาทสี่"  กล่าวโดยย่อ อิทธิบาทสี่ คือหลักธรรมที่บันดาลความสำเร็จของงานตามประสงค์ หรืออาจพรรณนาว่าเป็นเครื่องช่วยให้บุคคลมีอิทธิฤทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จในทางที่เหมาะที่ควร  แต่การมีอิทธิฤทธิ์ในทางพุทธศาสตร์ไม่ใช่โดยอาศัยเครื่องรางของขลังวัตถุมงคล ในทางตรงข้ามบุคคลสามารถมีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวได้ในทางพุทธโดยอาศัย ฉันทะ วิระยะ จิตตะ และวิมังสา

 

ฉันทะ หมายถึงความพอใจรักใคร่ในการงานที่กระทำ ประเด็นนี้นับว่ามีความสำคัญและเป็นก้าวแรกของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ บุคคลต้องเกิดความรักในงานที่ทำ หรือในงานที่จะต้องทำเสียก่อน ในหลักการบริหารงานจึงสนับสนุนให้นักบริหารรู้จักใช้คนตามความถนัดและความชอบหรือที่พุดกันว่า "ใช้คนให้ถูกกับงาน"  อย่างไรก็ดีบุคคลไม่ใช่วัสดุสิ่งของที่เมื่อถูกจับวางตรงที่ใดแล้วจะต้องอยู่ที่ตรงนั้น ฉะนั้น ถ้าบุคคลรู้สึกว่าตนเองถูกใช้งานไม่ตรงกับความรู้ความสามารถและความถนัดก็ควรหาทางปรับเปลี่ยนงาน ให้ตรงกับที่ใจรักใจชอบ บุคคลที่ได้ทำงานที่ตรงกับใจรักใจชอบและสอดคล้องกับเป้าหมายของชีวิตย่อมมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานในระดับสูง แต่มิใช่ว่าบุคคลทุกคนจะมีโอกาสดังที่กล่าว  บุคคลบางคนอาจมาตระหนักในภายหลังว่า ตนไม่ชอบงานที่ทำ และอยากเปลี่ยนงานซึ่งถ้ายังไม่สายเกินไปก็ควรพยายามเปลี่ยน   ในทางตรงข้าม ถ้าสายเกินไปจนไม่อาจย้อนกลับได้  หนทางที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ การปรับตัวให้ชอบงานให้รักงานนั้น เพราะการที่บุคคล "แสร้งว่า" ชอบหรือรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเสมอต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ในที่สุดก็จะสามารถชอบและรักอย่างแท้จริงขึ้นมาได้เช่นกัน

 

วิริยะ หมายถึงความเพียรพยายามในการประกอบการงานนั้น ประเด็นข้อที่สองนี้คือหัวใจของความสำเร็จในกิจการทั้งปวงดังสุภาษิตที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" ซึ่งสอดคล้องกับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ทางไปสู่เกียรติศักดิ์จักประดับด้วยดอกไม้หอมหวนยวนจิตไซร้ไป่มี"  บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานต่างก็ต้องต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการมาด้วยกันทั้งนั้น การหวังความสำเร็จในลักษณะราชรถมาเกยมักปรากฏเฉพาะในเทพนิยาย เพราะในชีวิตจริง ความเพียรพยายามของบุคคลคือราชรถที่จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ดังที่มุ่งมาดปรารถนา ในหลักธรรมคำสอนของหลายศาสนา เช่น คริสต์ อิสลาม และ พุทธ มีความสอดคล้องต้องกันในประเด็นที่ว่า พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะช่วยบุคคลที่รู้จักช่วยตนเองก่อน

 

จิตตะ  หมายถึง ความใฝ่ในงานไม่ทอดทิ้งธุระประการที่สามนี้มีความหมายต่อเนื่องกับประเด็นที่สอง กล่าวคือ เมื่อบุคคลมีความเพียรพยายามกระทำสิ่งใดแล้ว ก็ควรเฝ้าติดตามเอาใจใส่กระทำในสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และเป็นระบบ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานสักเพียงใด  มิใช่เพียรพยายามจนกระทั่งอดตาหลับขับตานอนในตอนต้น แต่พอต่อมาก็ค่อย ๆ คลายความสนใจจนเลิกไปทั้ง ๆ ที่งานนั้นยังไม่เสร็จสิ้น บุคคลประเภทพลังแรงในตอนต้น แต่ถอดถอยในตอนท้ายก็จัดเป็นบุคคลที่จะประสบความสำเร็จได้โดยยากเช่นกัน เปรียบประดุจชาวสวนผู้ปลูกไม้ผลด้วยความเพียรพยายาม หมั่นรดน้ำพรวนดินบำรุงปุ๋ยอย่างเต็มกำลังในระยะแรกเริ่ม  แต่กลับมาหยุดเสียกลางคัน กรณีเช่นนี้ ความสูญเสียย่อมเกิดขึ้นทั้งกำลังงานทั้งทุนทรัพย์โดยไม่ได้ผลได้ดังที่ตั้งใจไว้แต่ต้น  ความเอาใจใส่ไม่ทอดทิ้งธุระจึงเกี่ยวพันกับสมาธิ ซึ่งดังที่กล่าวแล้วว่าหมายถึงสภาวจิตที่สงบและมั่นคงในเรื่องที่กำลังกระทำอยู่ไม่ฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ความใฝ่ใจต่อการงานที่กระทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง จึงเป็นการสานต่อความพยายามที่เริ่มต้นไว้ดีแล้ว ให้คงอยู่ตลอดการงานที่กระทำอยู่นั้นจนกระทั่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

วิมังสา หมายถึงความหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในงานที่ทำ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้บุคคลรักงานเพียรพยายามในงาน ต่อสู้อุปสรรคในงานและใจจดใจจ่อต่องาน มิใช่ด้วยความลุ่มหลงงมงาย แต่ด้วยเหตุผล ด้วยความรู้จักใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์ในงานหรือกิจการทั้งปวงที่บุคคลนั้นมุ่งมั่นกระทำอยู่ การพิจารณาหาเหตุผลจนเข้าใจความเป็นจริงได้อย่างแจ่มแจ้ง ย่อมช่วยให้บุคคลไม่ไขว้เขวโดยง่าย ไม่หลงตามคารมการหลอกล่อของบุคคลอื่น  เพราะบุคคลนั้นเข้าใจถึงความสำคัญ  ความจำเป็นและจุดมุ่งของงานที่ตนกำลังดำเนินการอยู่ว่า จะสามารถสนองตอบองค์ต่อองค์การที่ตนสังกัดและสนองตอบต่อเป้าหมายชีวิตของตนเองได้อย่างไร การหมั่นพิจารณาตรึกตรองก็เพื่อเตือนตนมิให้ทำงานแบบหูหนวกตาบอด  แต่ทำงานอย่างผู้รู้แจ้งเห็นจริงโดยตลอด  ซึ่งหมายความว่าบุคคลจะสามารถเข้าใจได้ว่างานของตนจะไม่มุ่งตอบสนองแต่เฉพาะความต้องการของตนและหน่วยที่ตนสังกัดเท่านั้น แต่สามารถเข้าใจได้ด้วยว่างานนั้นจะสามารถส่งกระทบถึงสังคมโดยส่วนรวมได้อย่างไรและเพียงใด

 

ความหมายของอิทธิบาทสี่  ได้รับการผูกเป็นโครงโลกนิติไว้บทหนึ่ง ความว่า

 

 

พอใจเป็นเหตุให้   พากเพียร  

 

จิตมุ่งไป่พาเหียร   สิ่งนั้น  

 

ดำริตริตรองเขียน    มูลเหตุ ผลนา  

 

จักสำเร็จสมใจหมั่น    เที่ยงแท้ ธรรมดา  

 

อิทธิบาทสี่  จึงเป็นเคล็ดลับของความสำเร็จในกิจการทั้งปวงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงาน บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานต่างอาศัยเคล็ดลับนี้จะต่างกันก็แต่เพียงชื่อเรียกในแต่ละภาษา และแต่ละสังคมเท่านั้น อนึ่งเพื่อสนับสนุนความเป็นสากลของหลักอิทธิบาทสี่ ผู้เขียนจึงใคร่ยกตัวอย่างในสองสังคมประกอบการพิจารณา

 

ตัวอย่างที่หนึ่ง คือ ดุกแห่งเวลลิงตัน  ซึ่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญของอังกฤษผู้สามารถชนะจักรพรรดิ นโปเลียน  อย่างไรก็ดี ก่อนการชนะ นโบเลียนในการรบครั้งสำคัญ เวลลิงตันได้เคยปราชัยแก่นโบเลียนมาแล้วหลายครั้ง  แต่เมื่อพ่ายในการรบแต่ละครั้งเวลลิงตันไมได้ทอดอาลัยด้วยการดื่มเหล้าเมาสุราในลักษณะทำลายตนเอง  ตรงกันข้ามเวลลิงตันกลับมุมานะเพียรพยายามศึกษาค้นหาจุดอ่อน จุดบกพร่องในการรับของตนและวิเคราะห์ ค้นหาจุดเด่นในการรบของนโปเลียน เวลลิงตันได้เพียรพยายามอยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายคราว จนในที่สุด เวลลิงตันสามารถชนะ นโปเลียนในการรบครั้งสำคัญที่วอเตอร์ลู  อันเป็นการรบที่เปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ยุโรป

 

ตัวอย่างที่สอง คือ มหาตมคานธี ซึ่งเป็นมหาบุรุษทางเอเชีย ท่านผู้นี้ได้อุทิศเกือบตลอดชีวิตของท่านสำหรับการต่อสู้เพื่ออิสระและเสรีภาพของชาวอินเดีย ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษทั้งในแอฟริกาใต้และในอินเดีย  การต่อสู้ของคานธีคือด้วยอหิงสธรรมซึ่งหมายถึงวิธีการอดกลั้นและไม่ใช่ความรุ่นแรง เช่น อดข้าวประท้วงบ้าง  อดทนต่อการถูกทุบตีบ้าง  และสันติวิธีอื่น ๆ บ้าง ในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย  คานธีถูกอังกฤษจองจำ หลายครั้งตลอดช่วงชีวิต  แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางหรือล้มเลิกความพยายามของคานธีได้ จนกระทั่งประเทศอินเดียได้รับเอกราชในที่สุด

 

จากกรณีอย่างที่กล่าวมานี้จึงพอเห็นได้ว่าการกระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สามารถกระทำได้โดยอาศัยอิทธิบาทสี่  สำหรับกรณีตัวอย่างของไทยก็มีอยู่มาก เช่น   กรณีชาวบ้านบางระจันรักษาบ้านบางระจันจากพม่า    กรณีพระยาตากกอบกู้เอกราชของชาติไทย  และกรณีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้ทรงวิริยะอุตสาหะรักษาเอกราชของชาติ จากมหาอำนาจตะวันตกเป็นต้น กล่าวได้ว่าหลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักสากลซึ่งบุคคลย่อมได้รับการขนานนามว่าเป็นชาวพุทธหรือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าบุคคลนั้นได้เข้าถึงการปฏิบัติตามหลักการอันเป็นสากลดังกล่าวในชีวิตประจำวัน พระพุทธเจ้าได้ชี้แนะให้บุคคลตระหนักถึงความสำคัญของการทำงาน และให้ทราบถึงคุณค่าของการทุ่มเทอุทิศตนเพื่องาน โดยมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลักดังปรากฏตามพระพุทธพจน์ที่ว่า "โยคา เว ชายเต ภูริ" ซึ่งหมายความว่า ความฉลาดรอบรู้ย่อมบังเกิดจากประสบการณ์ในชีวิต    อิทธิบาทสี่จึงเปรียบเสมือนเครื่องกระตุ้มแรงจูงใจและสงวนรักษาแรงจูงใจการทำงานไว้ด้วยในขณะเดียวกัน

 

แรงจูงใจในการทำงานนับว่ามีความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่ควรประพฤติอันจะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน    แรงจูงใจดังกล่าวก็จะเบี่ยงเบนบุคคลจากพฤติกรรมซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่พึงปรารถนา  กล่าวโดยย่อ  บุคคลผู้มีเป้าหมายในชีวิตและมีความปรารถนาอย่างแรง กล้า ที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นยอมสามารถกระตุ้นพลังภายในมาใช้ประโยชน์ เพื่อการสร้างชีวิตสร้างอนาคตได้     บุคคลเช่นนี้ตามปกติจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมอมเมา หรือไม่ยอมตกเป็นทาสของสุรา นารี พาชี และกีฬาบัตร เพราะบุคคลผู้มีเป้าหมายชีวิตในทางที่ถูกที่ควรย่อมตระหนักดีกว่าอบายมุข  หรือหนทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่จะพาตนไปสู่เป้าหมายของชีวิต ในทางตรงข้ามสิ่งมอมเมารังแต่จะทำให้บุคคลหลงทางและเสียเวลาอันมีค่าในชีวิต ในประเด็นนี้  พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

 

 

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย           ขอให้เธอทั้งหลาย  

 

จงหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า        วันคืนล่วงไป  

 

บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่  

 

พุทธพจน์บทนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของเวลาในชีวิตที่เมื่อล่วงเลยไปแล้วย่อมไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ บุคคลผู้มุ่งมั่นความสำเร็จในชีวิตจักต้องรู้จักถนอมเวลา ดังสุภาษิตที่ว่า " เวลา    และวารี     มิใยดีจะคอยใคร "