ทุกวันนี้แม้ว่าผู้คนจะตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี ทั้งในเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกาย หากแต่ด้วยวิถีชีวิตประจำวันที่รีบเร่งและเพียบพร้อมด่วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ทำให้หลายๆ คนแทบไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าใดนัก ฉะนั้น หลังจากการทำงานหนัก ร่างกายของคุณควรได้รับการบำบัดให้คลายความเมื่อยล้าเพื่อช่วยปรับกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูกข้อต่างๆ ให้เข้าที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ทั้งยังลดความปวดเมื่อยได้เป็นอย่างดี
          ลองฝึกการหายใจเพื่อการผ่อนคลายง่ายๆ ด้วยท่าง่ายๆ ต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เวลาเพียง 10 - 15 นาที ก่อนการทำสมาธิในช่วงเช้าตรู่หรือก่อนนอนเพื่อผ่อนคลายกายและใจ และยังได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออีกด้วย

          เริ่มด้วยการสูดลมหายใจเข้า-ออกลึกๆ และเป็นจังหวะช้าๆ โดยใช้วิธีการหายใจในแบบของโยคะ นั้นคือ การหายใจเข้า - ท้องพองประมาณ 4 วินาที และหายใจออก - ท้องยุบลงอีกประมาณ 8 วินาที หากฝึกได้เช่นนี้แล้วเราจะได้ "พลังสงบภายใน" ที่นิยมเรียกกันว่าสมาธินี้เป็นวิธีเก่าแก่ที่ก่อให้เกิดความสงบเยือกเย็นจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน นั่งท นอน หรือการเคลื่อนไหวอื่นใด ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราอาจฝึกสมาธิทุกคืนก่อนเข้านอนก็ได้ โดยให้เพ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเพ่งที่ร่างกาย เพ่งที่ธรรมชาติ เพ่งที่ลมหายใจ หรือการนับการย่างก้าว โดยให้เน้นที่ลมหายใจเข้า หายใจออก และปล่อยวาง มันจะทำให้กายและจิตเกิดดุลยภาพ รู้สึกสดชื่นและมีความสุข การหายใจแบบนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่กล้ามเนื้อการที่เราหายใจเร็วเกินไปจะทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดขึ้นได้
          ต่อไปเป็น ท่ากักลมหายใจ เริ่มจากนั่งขัดสมาธิในท่าตรงหรี่เปลือกตาลงเบาๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ให้เต็มปอดแล้วกักลมหายใจไว้นับ 1-6 ในใจ แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกแผ่วๆ เบาๆ แล้วหยุด กลืนน้ำลายลงคอเบาๆ ก่อนแล้วค่อยๆ สูดลมหายใจเข้ากักลมหายใจอีกครั้ง ผ่อนลมหายใจเบาๆ ทำซ้ำอีกสัก 5 ครั้ง และเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่ฝึกการหายใจเช่นนี้ ไม่เพียงแค่ผ่อนคลายเท่านั้นแต่ยังเอื้อผลต่อดีสุขภาพ เพราะลมที่กักไว้จะทำให้หัวใจเราเต้นแรง หลอดเลือดจะขยายโลหิตจะไหลเวียนได้มากยิ่งขึ้น ใครที่เป็นโรคเส้นโลหิตอุดตัน หรือเป็นโรคความดัน การฝึกการกักลมหายใจจะช่วยรักษาอาการได้

          หากเราฝึกปฏิบัติการหายใจเพื่อการผ่อนคลายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณผ่อนคลาย ร่างกายยืดหยุ่นไม่เกร็ง และยังทำให้ร่างกายสามารถใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ขอเพียงแต่เติมความมุ่งมั่นตั้งใจลงไป แล้วคุณจะพบกับหนทางใหม่ที่แสนง่ายดายในการนำสุขภาพดีมาสู่ตัวคุณเอง

แหล่งอ้างอิง:
      วรณัน มะลิวัลย์.  การฝึกหายใจเพื่อการผ่อนคลาย
. โพสต์ทูเดย์ (13 เม.ย. 2548) หน้า C3.