จะรู้อย่างไรว่า ลูกคุณติดยาบ้า !!

ยาบ้า เป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 เช่นเดียวกับเฮโรอีน เป็นปัญหาสังคมรุนแรงอันดับหนึ่งของประเทศไทยขณะนี้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองทุกคนคงกังวลว่าจะมาถึงลูกหลานของเราหรือไม่ คำถามคาใจสารพัดผุดขึ้นมา เช่น จะป้องกันอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราติดยาบ้าหรือเปล่า แล้วถ้า ใช่...ฉันจะทำอย่างไรล่ะนี่...????

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสำนึกทุกชั่วขณะจิตคือ ห้ามหวาดระแวงลูกหลานตัวเอง เพราะนอกจากจะเป็นการยัดเยียดให้เด็กวิ่งเข้าหาทางผิดเร็วขึ้นแล้ว คุณเองก็จะพาลประสาทเกินกว่าที่จะเป็นเกราะคุ้มครองให้คำแนะนำหรือพาลูกไปบำบัดให้หายได้ แต่สิ่งที่ควรทำคือ สงบอารมณ์ เปิดใจตัวเอง แล้วก็ให้โอกาสเด็ก ด้วยการรับฟังความคิดเห็นของเขา ให้ความรัก และความเข้าใจไม่ซ้ำเติม(ในกรณีที่เด็กติดแล้ว) และโน้มน้าวพาเด็กไปบำบัดด้วยความยินยอม

คุณอาจจะมองภาพไม่ออกว่าปัญหาเด็กติดยาบ้าทุกวันนี้ระบาดหนักเพียงไร...

สถิติปี 2539 ยาเสพติดอันดับหนึ่งคือ กัญชา ปี 2540 ยาบ้าเพิ่มขึ้น 70.7 % กัญชา และเฮโรอีนลดลงอย่างชัดเจน ในที่สุดปี 2544 ยาบ้าเบียดยาเสพติดชนิดอื่นตกขอบด้วยการยึดตลาดครองอันดับ1 ถึง 89 %

ยาบ้า ป็นสารเสพติดที่กำลังระบาดอย่างกว้างขวางในหมู่เด็กวัยรุ่นไปทั่วทุกหัวระแหง ข้อยืนยันจากข้อมูลของป.ป.ส. คือ "สน." ทุกแห่งในประเทศไทยมีคดีจับยาบ้าทั้งสิ้น คิดดูสิว่ามันเข้าถึงทั่วราชอาณาจักรไทยจริงๆ ที่น่ากลัวคือส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน และวัยรุ่นที่ติดยาบ้าโดยเฉพาะในแหล่งชุมชนและโรงเรียน 40 % ของเด็กที่เสพอยู่ชั้นมัธยมต้น และมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ คุณกานดา ช่วยเมือง นักจิตวิทยาบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่คลุกคลีกับวงการนี้มากว่า 20 ปี เล่าว่า "จากข้อมูลของ ป.ป.ส. มีการประมาณการณ์เด็กนักเรียนที่เสพสารเสพติด ในโรงเรียนถึง 5 % ช่วงอายุเด็กที่ติดมากตามสถิติเดิมคือ 15-19 ปี แต่จากประสบการณ์จริง เรารู้ว่ามันต่ำลงเรื่อยๆ ต่ำที่สุดพบอายุ 7 ขวบ ในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ก็มีเด็กอายุ 9 ขวบเข้าไปรับการบำบัด ส่วนพี่เองบำบัดเด็กอายุน้อยที่สุดคือ 12-13 ขวบ

เพราะมันหาซื้อง่ายมีอยู่ทั่วไป ขายตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนเซเว่น อีเลฟเวน เด็กเดินออกไปซื้อของปากซอยบ้านก็หาซื้อได้แล้ว เดี๋ยวนี้ราคาถูกลงมากกว่าเมื่อก่อนที่ขายกันเม็ดละ 80-100 บาทแต่ขายกันเพียงเม็ดละ 25 บาท ก็ซื้อได้ ส่วนใหญ่เป็นเม็ดสีส้มมีสัญลักษณ์บนเม็ดยาต่างกันไป ที่แพงสุด และร่ำลือว่าคุณภาพดี คือ"เม็ดสีเขียวมรกต" สนนราคาเม็ดละ 200-300 บาทขึ้นไป ค่อนข้างหายากจึงเป็นที่ต้องการและมีราคาแพง

เหตุที่เด็กวัยรุ่นติดยาบ้ากันมาก เพราะหลายปัจจัยประกอบกันทั้งสังคมรอบตัว เพื่อนชวนลอง เด็กอยากลองเอง หาง่ายราคาไม่แพง จุดขายของยาบ้ายอดนิยม คือ เสพง่าย ได้ผลเร็วที่ทำให้ผู้เสพพบกับความสุขถึงระดับ Euphoria ชนิดที่ชีวิตธรรมดาหาไม่ได้ ที่สำคัญเสพครั้งสองครั้งยังไม่ติดทันที เหมือนเฮโรอีน จะเลิกเมื่อไหร่ก็เลิกได้ อาการหลังจากเสพจะมีน้อยมากในระยะแรกๆ บางคนเสพเป็นปียังจับไม่ได้ว่าติดยาบ้า

"วิถีของสังคมเปลี่ยนไปยาบ้ามีอยู่ดาษดื่น หันไปทางไหนก็เจอ มันกลายเป็นความคุ้นเคย เห็นเป็นเรื่องปกติในหมู่เด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะนักเรียนมัธยม จนเกิดการเลียนแบบไม่รู้สึกแปลกที่จะลอง ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องมีปัญหาทางบ้าน เด็กที่มีฐานะ มีความรักความอบอุ่นของพ่อแม่ก็ติดได้ เพราะเพื่อนชวนแ ละส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะติด"

ผู้ค้ารายย่อยจะใช้วิธีล่อให้นักเรียนบางคนติดยา จากนั้นใช้เด็กคนนั้นชวน และขายยาบ้าต่อให้เพื่อนในโรงเรียน โดยได้ค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน หรือยาบ้า นับเป็นการขายตรง และขยายเครือข่ายลูกโซ่ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมาก

มีอะไรในยาบ้า

ในยาบ้ามีสารหลักคือ แอมเฟตามีน(amphetamine) เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1887 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ "เอเดเลียโน" ต่อมาอีกปี นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นก็สังเคราะห์อนุพันธุ์ของแอมเฟตามีนได้เป็น เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) สารประกอบสำคัญในยาบ้า ที่มีคุณสมบัติดีกว่าและผลข้างเคียงแนบเนียนกว่า

ในยาบ้า 1 เม็ด มีเมทแอมเฟตามีนประมาณ 20-30 % คาเฟอีน 40-60 % ที่เหลือเป็นแป้งและน้ำตาล อาจมีอีฟีดีนผสมอยู่บ้างเป็นสารกระตุ้นคล้ายคาเฟอีน

ยาบ้าที่ขายกันจะบรรจุใส่ในหลอดกาแฟ หรือห่อกระดาษฟรอย ปัจจุบันวัยรุ่นนิยมเสพด้วยการสูดดมไอแทนการกิน โดยม้วนกระดาษฟรอยที่ใช้ห่อหมากฝรั่งให้เป็นรูปช้อนหรือเรือ แล้วเอาเม็ดยาใส่ลงไป ขั้นตอนนี้เรียก "พาน้องลงเรือ" แล้วใช้ไฟแช็คลนความร้อนใต้กระดาษฟรอย แล้วสูดดมไอควันของยาที่ระเหยขึ้นมา ยาจะออกฤทธิ์สู่สมองภายในไม่เกิน 8 วินาที ทำให้ผู้เสพรู้สึกกระชุ่มกระชวย สมองแจ่มใส มีความสุขทันที และสุขลึกถึงขั้น Euphoria ความเหนื่อยหายไป ไม่ง่วงนอน และไม่อยากอาหาร คนจึงนิยมใช้เพื่อความสนุกสนานและลดความอ้วน ยาบ้าจะออกฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 1 วัน หลังจากหมดฤทธิ์แล้วผู้เสพจะหมดเรี่ยวหมดแรง อยากนอนอย่างเดียว ไร้อารมณ์จะทำอะไร

เมทแอมเฟตามีนทำงานอย่างไร

เมทแอมเฟตามีน(Metamphetamine) เป็นสารที่ทำลายสมอง บริเวณสมองส่วนนอก(Cerebral Cortex) เรียกกันว่า"สมองส่วนคิด" ที่ทำหน้าที่คิดใช้เหตุผล จินตนาการ และตัดสินใจ และยังออกฤทธิ์อีกส่วนคือที่ ก้านสมอง (Brain Stem) หรือ "สมองส่วนอยาก" เป็นส่วนควบคุมสัญชาตญาณ เช่น ความอยาก ความหิว การระวังภัยต่างๆ เช่น ถ้าใครเอานิ้วมาจิ้มตา ตาของคุณจะกระพริบปิดฉับพลัน หรือเมื่อคุณเห็นมะม่วงน้ำปลาหวานแล้วเกิดน้ำลายสอขึ้นมาโดยอัตโนมัตินั่นเอง ในคนปกติสมองส่วนคิดจะมีอิทธิพลเหนือสมองส่วนอยาก แต่เมื่อเสพยานานเข้าสมองส่วนอยากจะเริ่มมีอิทธิพลเหนือสมองส่วนคิดโดยมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง จึงทำให้เกิดการติดยาเพราะสมองส่วนอยากสั่งการ เรียกว่า "สมองติดยา" จนถ้าขาดยาจะเกิดความอยากอย่างรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เรียกว่า "ขาดยา"

เมทแอมเฟตามีนเมื่อเสพเข้าสู่สมองแล้ว จะเข้าไปกระตุ้นสารสื่อเคมีในสมอง (Neurotransmitter) บริเวณศูนย์ความสุข ทำให้แจ่มใส ความคิดโลดแล่น มีความสุข กระฉับกระเฉง แต่เมื่อเสพนานเข้า สารสื่อเคมีในสมองจะลดลง ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า จำเป็นต้องเสพเติมเข้าไปกระตุ้นสารสื่อเคมีสมองอีก และเมื่อปลายประสาทหลั่งสารเคมีสมองออกมามากๆ แขนงประสาท (Axon) จะถูกทำลายสั้นลง จนมีลักษณะและการทำงานผิดปกติ หนักๆ เข้าก็จะมีอาการหูแว่วรู้สึกเหมือนมีตัวแมลงมาไต่ตามตัว ประสาทหลอน หวาดกลัวคนมาทำร้ายตน กลาย เป็นโรคจิตคุ้มคลั่งควบคุมตัวเองไม่ได้ เข้าขั้น "โรคจิตจากยาบ้า" ประมาณว่าจิตสังหารชวนให้ฆ่าตัวตาย หรือไม่วายจับตัวประกันมาปาดคออยู่บ่อยๆ

พัฒนาการติดยา

ผลของการเสพครั้งแรกๆ จะให้ความสุขลึกล้ำ หายเครียด ขยันขันแข็ง จิตแจ่มใส ต่อจากนั้นถ้าเสพไปนานๆ ประมาณ 4-6 สัปดาห์ติดต่อกันจะมีการดื้อยา (Tolerance) จนต้องเพิ่มปริมาณ และความถี่ บางคนเสพติดๆ กันเป็นสิบๆ เม็ด เพราะหลงใหลในความสุขระดับ Euphoria ที่ได้รับ จนต้องการมีความสุขต่อเนื่อง การเสพยาติดๆ กัน เท่ากับกระตุ้นให้สารในสมองหลั่งออกมาตลอดเวลา การเสพระยะนี้เรียกว่า ระยะการติดทางใจ (Psychological dependence) การเสพต่อไปเรื่อยๆ ก็จะนำไปสู่ การติดทางกาย(Physical dependence) เพราะสมองส่วนควบคุมความอยากถูกกระตุ้นอย่างสาหัสจนทำงานผิดปกติเสียแล้ว หากว่าขาดยาในช่วงนี้ก็จะเกิดอาการขาดยา (Withdrawal symptoms) ซึ่งจะมีอาการรุนแรงทรมานมาก

สังเกตอย่างไรว่าลูกติดยา

1.  สภาพร่างกายทรุดโทรม น้ำหนักลดรวดเร็ว ไม่สดชื่นแจ่มใส อ่อนเพลีย หน้าซีด ผิวแห้ง ปากแห้ง มักจะเลียปากบ่อยๆ ดื่มน้ำบ่อย ตาแดง ม่านตาขยาย นอนไม่หลับ หรือนอนมากผิดปกติ

2.  บุคลิกเปลี่ยนแปลง หงุดหงิดง่าย พูดหรือมีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ กลับไปกลับมา หรือเคลื่อนไหวตลอดเวลา กัดฟันกรามบ่อยๆ บ้างก็ซึมเศร้าผิดปกติ บางทีไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่งกายแปลกๆ

3.  การใช้เงิน ขอเงินบ่อยขึ้น บางสิ่งที่บอกว่าจะซื้อแต่ไม่ได้ซื้อ หรือขอเงินไปใช้หนี้เพื่อนบ่อยๆ เงินทอง ข้าวของในบ้านหายบ่อยๆ

4.  การเรียน/การงาน แย่ลง ไม่สนใจเรียน หรือทำงาน ขาดสมาธิ บางทีไปโรงเรียนแต่ไม่เข้าเรียน ขาดเรียนบ่อยๆ สอบตก หรือถูกพักการเรียน เด็กที่ติดยาบ้าส่วนใหญ่แล้วทางโรงเรียนจะทราบก่อนพ่อแม่ผู้ปกครอง

5.  ความซื่อสัตย์ เด็กจะโกหกบ่อยขึ้น มีความลับที่บอกไม่ได้บ่อยๆ อึกอักไม่สบสายตา ไม่รักษาคำพูด ผิดนัด ผิดเวลา ผิดข้อตกลง ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ปกครองและโรงเรียน

6.  สัมพันธภาพในครอบครัวเปลี่ยนไป มักแยกตัวออกจากครอบครัวบ่อยๆ ไม่เข้ามาคลุกคลีใกล้ชิด ไม่ร่วมกิจกรรมครอบครัว ไม่สนใจเรื่องราวของพี่น้องในบ้าน แสดงออกถึงความรำคาญ เมื่อคนไต่ถามทุกข์สุข มักขัดแย้งทางความคิดกับคนรอบข้างเนืองๆ ใช้เสียงดัง ก้าวร้าว ใช้กำลัง

7.  อาจพบอุปกรณ์การเสพ เช่น เข็ม หลอดกาแฟ แก้วน้ำ กระดาษฟรอย ไฟแช็ค กระดาษม้วน ภาชนะเสียบหลอด

ความรัก ความเข้าใจคือเกราะกันภัยยาบ้า

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าหัวเลี้ยวหัวต่อ มีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงขึ้น ติดเพื่อน มีพฤติกรรมเอาอย่าง คิดอะไรได้ไม่ลึกซึ้งเท่าผู้ใหญ่ ตื่นเต้นกับสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งเร้าได้ง่าย เหล่านี้คือจุดเปราะบางของพวกเขา คุณกานดา แนะนำข้อคิดดีๆ แด่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานในวัยรุ่นและกำลังก้าวสู่วัยรุ่นได้น่าฟัง

"การให้ความรักความอบอุ่น โดยการแสดงความรักให้ประจักษ์ สำคัญมาก เพราะเด็กจะให้ความสำคัญกับการกระทำและวิธีการของพ่อแม่มากกว่าคำพูด เช่นพ่อแม่ที่รักลูกก็ควรแสดงออกด้วยคำพูดที่ชัดเจนเช่น "พ่อแม่รักลูก" พูดอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องพูดทุกวัน แต่ไม่ใช่พูดปีละครั้ง ไม่ใช่แค่พูด สังคมไทยยังขาดการแสดงออกและการสัมผัสถ่ายทอดความรู้สึกซึ่งกันและกัน บางครั้งการลูบหลัง ลูบไหล่ เป็นการให้ความรักความอบอุ่นที่เด็กจะรู้สึกดีมาก การส่งสายตา การมองด้วยความรัก ความห่วงใย ประกอบคำพูด "แม่เป็นห่วงหนูนะ" หรือคำพูดแสดงความรู้สึกอื่นๆ ออกมาด้วย เช่น "แม่ภูมิใจในตัวลูก" "แม่รักลูกมาก" นอกจานี้สิ่งที่มักจะไม่ได้ปฏิบัติกันในสังคมไทยก็คือถามไถ่ความรู้สึกกันในแต่ละวัน เพื่อแสดงความใส่ใจ ไม่ว่าลูกจะมีความสุข ความทุกข์อย่างไรในแต่ละวันนั้นสำคัญมาก พ่อแม่ควรจะรับรู้ และเป็นผู้รับฟังปัญหาของลูกได้เสมอ "

จงอย่าลืมว่าผู้ใหญ่เป็นผู้วางรากฐานแต่ไม่ใช่ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ให้เด็กเดินตาม หรือคิดว่าความคิดตนเองเท่านั้นถูกเสมอ แบบ "พ่อนี้อาบน้ำร้อนมาก่อน" อย่างนี้ถูกครึ่งเดียว เพราะเด็กมีสิทธิ์คิดและเลือกด้วยตัวเอง ที่แน่ๆ หากลูกหลานคุณมีปัญหา ผู้ใหญ่ห้ามตัดปัญหาสั้นๆ ง่ายๆ แบบรวบรัด เช่น หากลูกคุณดูหน้าตาย่ำแย่กลับมาจากโรงเรียน ควรจะถามไถ่ก่อนไม่ใช่ "ไล่ไปอาบน้ำให้สบายไปจะได้หายหน้าเมื่อย" อย่างนี้ลูกคุณคงไม่ดีขึ้นแถมยังรู้สึกพึ่งพาคุณไม่ได้เสียอีก คุณน่าจะไต่ถามดูว่า "วันนี้หนูไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า" ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน สนใจ แล้วปล่อยให้ลูกเล่า อย่าอคติ อย่าใช้วิธีสืบสวนให้เด็กเกร็งกลัวจนไม่กล้าเล่า อย่างนี้คงไม่สามารถจะเข้าใจปัญหาของลูกได้แน่นอน

วิธีการที่จะทำให้เด็กสนิทใจจนเชื่อมั่นกล้าเล่าความรู้สึกนึกคิดของเขาออกมาให้คุณรับรู้คือสิ่งสำคัญมาก ประการแรกคือท่าทีรับฟัง อ่อนโยน ทั้งน้ำเสียงแววตา ทาทาง คุณต้องใจกว้าง เป็นผู้ฟังที่ดี ยอมรับความคิดเห็นของเด็ก ให้โอกาสเขาคิด ทำ และพูด ให้คำแนะนำ อย่าตอกย้ำซ้ำเรื่องเดิมๆ หรือจุดอ่อนของเด็กที่เคยผิดพลาด เรื่องใดแล้วให้แล้วไปเริ่มต้นใหม่ให้ดีกว่าเก่า เขาจะรู้ว่าคุณคือผู้ที่รักและห่วงใย เป็นเพื่อนคู่คิดของเขาอย่างแท้จริง แปลว่าคุณเข้าถึงจิตใจของเขา

ตราบที่คุณเข้าไปนั่งในใจเขาได้ คุณนั่นล่ะที่จะเป็นอัศวินคอยคุ้มครองให้เขาปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง


ที่มา  : Health today