11 ทริคลับๆ สำหรับคนขี้ลืม

"ยังไม่ทันแก่ก็ขี้หลงขี้ลืมซะแล้ว.. " ถ้าคุณเคยถูกใครว่าแบบนี้ เห็นทีต้องรีบหาทางแก้ปัญหา ก่อนที่จะถูกตราหน้า เป็นคุณป้าทั้งๆที่หน้ายังสวยใสปิ๊ง

1.  จดบันทึกช่วยจำ

การจดบันทึกลงในสมุดที่มีวันที่กำกับ จะช่วยให้คุณแพลนเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน,แต่ละอาทิตย์ หรือที่ต้องทำในเดือนถัดไป จดเบอร์โทรศัพท์,ที่อยู่เพื่อนฝูง,วันเกิด,ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็นและการรักษา รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของคุณในแต่ละวัน,คำคมที่ชอบ ฯลฯ การจดจะช่วยย้ำให้สมองจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีขึ้น หรือถ้าจำไม่ได้ พกสมุดบันทึกติดตัวไปเปิดดูยามที่นึกอะไรไม่ออก ก็ช่วยได้ดีเชียวละ

2.  พูดกับตัวเองดังๆ

"ฉันกำลังจะเอาเสื้อไปส่งซักที่ร้าน แล้วจะเลยไปซื้อไข่กับนมที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วกลับมาล้างห้องน้ำในตอนสาย" การพูดก็เหมือนกับจดบันทึก และที่ๆดีที่สุดที่จะพูดออกมาดังๆ คือในห้องน้ำ ยามเช้าก่อนเริ่มออกจากบ้าน นึกถึงสิ่งที่คุณต้องทำในวันนั้น แล้วพูดออกมาดังๆ ซ้ำๆกันหลายๆหน ถ้าคิดว่ายังจำไม่ได้และเป็นกังวล ลองใช้เครื่องเทปเล็กๆอัดเสียงที่คุณพูด และนำเทปติดตัวไปเปิดยามที่นึกไม่ออกว่าจะทำอะไร

2.  พูดกับตัวเองดังๆ

"ฉันกำลังจะเอาเสื้อไปส่งซักที่ร้าน แล้วจะเลยไปซื้อไข่กับนมที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วกลับมาล้างห้องน้ำในตอนสาย" การพูดก็เหมือนกับจดบันทึก และที่ๆดีที่สุดที่จะพูดออกมาดังๆ คือในห้องน้ำ ยามเช้าก่อนเริ่มออกจากบ้าน นึกถึงสิ่งที่คุณต้องทำในวันนั้น แล้วพูดออกมาดังๆ ซ้ำๆกันหลายๆหน ถ้าคิดว่ายังจำไม่ได้และเป็นกังวล ลองใช้เครื่องเทปเล็กๆอัดเสียงที่คุณพูด และนำเทปติดตัวไปเปิดยามที่นึกไม่ออกว่าจะทำอะไร

3.  ติดโน้ต

เดี๋ยวนี้มีแผ่นโน้ตเล็กๆ ที่ติดไว้ที่ไหนก็ได้ขายอยู่ทั่วไป ขนาดก็เหมาะกับการพกพา เวลาที่มีการนัดหมายหรือนึกขึ้นมาได้ว่าต้องทำอะไรในวันที่ยังมาไม่ถึง ให้เขียนสิ่งที่จะทำลงบนกระดาษโน้ต แปะไว้ในที่ๆคุณต้องเห็นเป็นประจำ เช่นที่ประตูตู้เย็นในครัว,บอร์ดช่วยจำที่ติดไว้ตรงทางเดินก่อนออกจากบ้าน หรือในรถ ทุกครั้งที่เห็นโน้ตที่ติดไว้ คือการเตือนสมองให้จดจำเรื่องเหล่านี้แม่นยำขึ้น

4.  เก็บข้าวของให้เป็นที่

เก็บของให้เป็นที่ในที่ที่ควรจะเป็น เช่น เก็บยาที่ต้องกินก่อนนอนไว้ที่โต๊ะข้างเตียง ข้างขวดน้ำดื่ม,เก็บกุญแจไว้บนโต๊ะเล็กๆ ข้างประตูทางออก ช่วยให้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลานึกทุกครั้งที่จะใช้ข้าวของที่ว่า

5.  อย่าจับปลาหลายมือ

ไม่ได้หมายถึงสาวๆที่มีแฟนทีเดียวหลายๆคน แต่หมายถึงคนที่ชอบทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกัน เช่น ดูทีวี ในขณะที่หูก็ฟังเสียงเพื่อนในโทรศัพท์ ทำให้ไม่มีสมาธิในการจำ ควรจะเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

6.  ปฎิบัติตัวเป็นกิจวัตร

การทำซ้ำๆ เหมือนๆกัน ช่วยให้สมองจำได้เองโดยไม่ต้องพยายาม เช่น ถ้าทุกครั้งที่อ่านหนังสือยังไม่จบแต่ต้องไปทำอย่างอื่น คุณวางมันไว้ที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ เมื่อเสร็จธุระจะกลับมาอ่านต่อ สมองจะสั่งการโดยอัติโนมัติว่าจะต้องไปหยิบหนังสือที่ไหน

7.  ใช้ทริคช่วยจำ

ทริคประเภทท่องจำ,คำย่อ,คำคล้องจอง อย่างสมัยที่เราทำตอนเด็กๆ ประเภท "ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ.." ยังใช้ได้ดีในกรณีนี้ ยิ่งถ้าต้องทำอะไรหลายๆอย่างในวันเดียว เอามาผูกเป็นเรื่องอย่างข้างต้น หรือจะใช้ตัวย่อ เช่น ฟ-ส-น-ม (ทำฟัน-เอาหนังสือไปคืนเพื่อน-เติมน้ำมันรถ-จ่ายค่ามือถือ) ก็ได้

8.  ช้าๆได้พร้าเล่มงาม

ทำอะไรให้ช้าลงหน่อย เพราะสมองเราจะจำอะไรได้ช้าลงเมื่ออายุมากขึ้น การพูดเร็ว ทำเร็ว จนเกินไปก็มีส่วนทำให้สมองเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ไม่ทัน

9.  ร่างกายแข็งแรง

ความจำก็แข็งแรง ดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารให้ครบหมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อร่างกายแข็งแรง ความจำก็จะดีไปด้วย

10.  บริหารสมอง

ทำกิจกรรมที่แตกต่าง เช่น เล่นเกมส์,อ่านหนังสือ,เล่นดนตรี ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้สมองได้ออกกำลัง ก็เหมือนกับร่างกาย เมื่อได้ออกกำลังก็จะแอคทีฟขึ้น คิดอะไรได้ฉับไว และที่แน่ๆช่วยให้ความจำดี

11.  เข้าใจความถนัดของตัวเอง

คนเราแต่ละคนที่ความถนัดไม่เหมือนกัน บางคนจำได้ดีเมื่อได้มองเห็น (จดบันทึก) บางคนจำได้ดีกว่าเมื่อได้ยินเสียง (พูดดังๆ/อัดเทป) แต่ก็มีบางคนจะจำได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือ ปฎิบัติหรือมีประสบการณ์ร่วม (เขียน/ทำ)

ลองสังเกตุดูว่าคุณจำได้ดีกับวิธีการไหน แล้วเลือกวิธีการที่เหมาะที่สุดสำหรับตัวคุณเอง แต่ถ้าจะให้ดี ใช้ทั้ง 3 วิธีสลับกันก็จะช่วยให้สมองได้ฝึกทักษะมากขึ้น