งานหัตถกรรมไม้ไผ่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอีกอย่างหนึ่งของชาวนครศรีธรรมราชแสดงให้เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ซึ่งยังคงปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ ลวดลายจักสานตระการตาจากไม้ไผ่ล้วนเป็นผลจากความคิดสร้างสรรค์ และฝีมือเชิงช่างชั้นครูในอดีตหลายยุคหลายสมัย ผ่านการถ่ายทอดสืบสาน และวิวัฒนาการไม่ขาดสาย ผลงานเหล่านี้จึงสะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ค่านิยมขนบธรรมเนียมประเพณีและสังคมชาวนครศรีธรรมราชได้อย่างดี

        วัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ของแต่ละกลุ่มชน ที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนาน สะท้อนให้เห็นทั้งสถานภาพของสังคมและศักยภาพของกลุ่มชนในการปรับใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสรรสร้างแบบอย่างการดำเนินชีวิตและสร้างทรัพยากรวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและมีระบบ เช่นการนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ด้านสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรม เริ่มต้นด้วยความต้องการพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างง่าย ๆ เสาะหาทรัพยากรรอบตัวที่เลือกหาได้ง่าย ๆ มาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะคราวโดยใช้เครื่องมือที่คิดหาได้อย่างจำกัดทำเป็นที่หลบแดดบังฝนในรูปของเพิงพัก หรือขนำ แล้วจึงพัฒนาขึ้นเป็นเรือน เครื่องผูกโดยนำพวกไม้เลี้อย ไม้เถา เช่น หวาย ใบหรือก้านของปาล์มบางชนิด รวมทั้งแปรลักษณะของต้นไผ่เองมาใช้ผูกมัดและใช้ประกอบกันเข้า ต่อมาก็พัฒนาการเป็นเรือนเครื่องสับโดยใช้วิธีเข้าบากไม้ประกบกัน ใช้ไม้ไผ่เองผ่าและเหลาทำเป็นสลักสอดร้อยหรือผังตอกยัดยื่นออกมาเป็นเดือยสำหรับเอาของอื่นสวม รวมทั้งค่อยรู้จักนำไม้ชนิดอื่น ๆ มาแปรรูปทรงต่างแทนไม้ไผ่ทำสิ่งก่อสร้างเพื่อให้ถาวรยิ่งขึ้น ก่อนที่สถาปัตยกรรมจะพัฒนาการเข้าสู่ยุคคอนกรีตตามวัฒนธรรมตะวันตก คนไทยรู้จักนำเอาไม้ไผ่มาสานเป็นแผงแล้วโบกฉากด้วยปูนขาวผสมด้วยวัสดุพื้นเมืองทำเป็นฝาผนังของอาคารแบบตึก ใช้ไม้ไผ่แทนเหล็กเส้นในการก่อสร้างเจดีย์ ใบเสมา รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่หันมานิยมใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก ในสมัยต่อมา

        ในแง่ศิลปกรรมจะเห็นได้ว่าไม้ไผ่มีส่วนเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสื่อโยงให้เกิดการประดิดประดอยเครื่องมือเครื่องใช้อย่างประณีตผนวกไว้กับประโยชน์การใช้สอย เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดช่างฝีมือและศิลปกรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นบ้านอันเนื่องแต่ไม้ไผ่ที่สะท้อนถึงสถานภาพของสังคม และศัยกภาพของกลุ่มชนในภาคใต้โดยเฉพาะมีนานาลักษณะ


ไม้ไผ่กับการดำเนินชีวิต
ของคนไทย