การทำนากระจูด

        

         เดิมทีไม่มีการทำนากระจูด ผู้ประกอบการจะนำกระจูดจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ซึ่งในที่บางแห่งต้องประสบปัญหาด้านการขนส่งและระยะทาง ต่อมาในบางหมู่บ้านได้มีผู้ริเริ่มนำต้นกระจูดมาปลูกในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านของตน เช่น ที่หมู่บ้านทะเลน้อย เรียกได้ว่า เป็นการทำนากระจูดอย่างแท้จริง เดิมหมู่บ้านนี้ใช้กระจูดที่นำมาจากตำบลเคร็ง ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณ 7 - 8 กิโลเมตร โดยทางเรือ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 นายสุข เดชนครินทร์ กำนันตำบลพนางตุง ได้ริเริ่มนำกระจูดจากแหล่งธรรมชาติมาทดลองปลูก จนในปี พ.ศ. 2504 การปลูกกระจูดบริเวณที่ลุ่มชายฝั่งทะเลน้อยก็มีขึ้นอย่างกว้างขวางทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเหนือ ด้านตะวันออก และด้านใต้

         พื้นที่จะปลูกกระจูดได้ต้องมีน้ำขังตลอดปี หรือ จะแห้งสัก 2 - 3 เดือน การปลูกหรือการทำนากระจูดมีกรรมวิธีคล้ายกับการทำนาข้าว (นาดำ) คือ ก่อนปลูกชาวนาจะต้องตกแต่งพื้นที่ให้เรียบ แต่ไม่ต้องยกคันนา เพียงแต่ทำเขตให้มองเห็นเป็นสัดส่วนว่า พื้นที่ใดเป็นของใครก็เพียงพอ การปลูกกระจูดต้องทำในช่วงเวลาที่ในนามีน้ำขังหรือน้ำแฉะๆ โดยนำกล้ากระจูด (หัวกระจูด) มาเป็นกอ ๆ กอ หนึ่ง ๆ จะมีกระจูดประมาณ 10 - 20 ต้น ปักให้ห่างกันประมาณ 70 -100 เซนติเมตร จากนั้นก็คอยกำจัดวัชพืชอื่น ๆ เช่น จำพวกตั๊กแตนกินดอก หนูและนากที่คอยจะถอนหัวหรือต้นอ่อนของกระจูด ประมาณ 12 เดือน กระจูดก็จะโตพอถอนมาใช้งานได้ กระจูดส่วนหนึ่งก็จะถูกถอนไปใช้งาน เหลือต้นอ่อนหรือต้นที่ความยาวยังไม่พอไว้ถอนครั้งต่อไป นากระจูดแต่ละแปลงสามารถถอนกระจูดหมุนเวียนต่อเนื่องกันไปได้ 9 - 10 ปี จึงจะมีการปลูกใหม่ ทั้งนี้หลังจากที่เห็นว่ากระจูดงอกหนาเกินไปและมีต้นแห้งตายมาก


ขั้นตอนการผลิต

คุณค่าทางวัฒนธรรม