www.tungsong.com
  วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอลานสกา 5 ปี
(พ.ศ. 2545 - 2549)

 
วิสัยทัศน์อำเภอลานสกา

 
ลานสกาน่าอยู่        ประชาชนใฝ่เรียนรู้
เปิดสู่ท่องเที่ยว        เศรษฐกิจมั่นคง
รณรงค์สิ่งแวดล้อม        พร้อมชุมชนเข้มแข็ง

 
ยุทธศาสตร์อำเภอลานสกา
 
ประชาชนตระหนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
พร้อมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
ราษฎร์ รัฐ ร่วมประสานกิจทิศทางเดียว
มีวัฒนธรรมยึดเหนี่ยวในสังคม
ประชาชนใฝ่ศึกษาอยู่เป็นนิจ
เศรษฐกิจยั่งยืนอย่างเหมาะสม
ชีวิตมีคุณภาพ ทุกชุมชน
ประชาคมรวมพลังสร้างสังคม

 
ประชาชนตระหนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
ปัจจุบัน

             อำเภอลานสกามีพื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติเขาหลวงและอุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นแหล่งน้ำลำธาร ได้แก่ คลองท่าดี คลองเขาแก้ว สำหรับในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตร สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินทรายในพื้นที่ราบ และดินภูเขา ประเภทดิน เรด - เยลโลว์ คอนโซลิน เหมาะสำหรับการเกษตร แต่สถานการณ์ปัจจุบันประชาชนยังขาดจิตสำนึกในการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
 
เป้าหมาย

             ปี 2550 อำเภอลานสกา มีการอนุรักษ์ทรัพยากรและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพทั้งทรัพยากรดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ และพลังงาน สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งในเขตเมือง และชนบทมีความสมดุลย์ มีมาตรการกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกวิธีและเพียงพอ ตลอดจนการกำกับดูแลมลพิษต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ
 
แนวทาง

          1. สร้างมาตรการใหม่ ๆ ให้ชุมชนองค์กรปกครองท้องถิ่น และภาครัฐมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
          2. ระดมทรัพยากรภาครัฐ และเอกชนเพื่อกอบกู้สภาพเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
          3. รณรงค์ให้การบังคับใช้กฏหมาย สิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างเคร่งครัด
          4. หามาตรการกำจัดขยะมูลฝอยที่ประหยัด และมีคุณภาพสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่
          5. จัดให้มีระบบพัฒนาแหล่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
          6. จัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งในเขตภูเขา ที่ราบ
          7. รณรงค์ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงานแก่ทุกกลุ่มเป้าหมายให้ใช้อย่างมีคุณค่า และเหมาะสม
          8. ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศน์ต้นน้ำลำธาร

  พร้อมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

ปัจจุบัน

             อำเภอลานสกาอยู่ห่างจากตัวหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร มีทางหลวงแผ่นดินที่ 4015 (สายนครศรีธรรมราช - ฉวาง) สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน และมีพื้นที่ป่าไม้ อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีธารน้ำไหล เป็นสายน้ำตกมากมายหลายแห่งที่มีความสวยงามมาก เช่น น้ำตกกะโรม น้ำตกวังไม้ปัก น้ำตกสอยดาว น้ำตกหนานโจน มีประเพณีงานมังคุดหวาน สมดั่งคำขวัญอำเภอลานสกา คือ เมืองมังคุดหวาน หมู่บ้านพัฒนา ถ้ำผาสวยงาม น้ำตกกะโรมตระหง่าน สืบตำนานอู่ข้าว อู่น้ำ
  แหล่งท่องเที่ยวของอำเภอลานสกา
      1. อุทยานแห่งชาติน้ำตกกะโรม
  2. อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
  3. น้ำตกวังไม้ปัก
  4. น้ำตกสอยดาว
  5. น้ำตกลำงา
  6. ถ้ำพระ
  7. น้ำตกในแพรก,หนานหินท่าห่า,หนานหินลาด
  8. ถ้ำแก้วสุรกานต์
  9. ถ้ำน้ำขุนทะเล
10. ถ้ำวัดชายเขา
11. ถ้ำเหมาบ้านท่านุ้ย
12. น้ำตกแม่พังทราย
13. ศาลาเทวดานาคราช
14. ศูนย์ปฎิบัติธรรมในชนบท
               ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวของอำเภอลานสกา ขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี ขาดการพัฒนาเพื่อความสะดวก และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
 
เป้าหมาย

             ปี 2550 อำเภอลานสกามีแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญหลายแห่งมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ถนนหนทางและความปลอดภัยในศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง
 
แนวทาง
    1. เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
2. จัดให้มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
3. ส่งเสริมหน่วยงานที่เกี่ยว และองค์กรท้องถิ่นแก้ไขปัญหาแหล่งท่องเที่ยว
     เสื่อมโทรม
4. รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้นักท่องเที่ยว
5. รณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
6. จัดงานประเพณีหรือการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น
7. ส่งเสริมให้มีการจัดทำของที่ระลึก และศูนย์จำหน่ายของที่ระลึกนัก
    ท่องเที่ยว

  ราษฎร์ รัฐ ร่วมประสานกิจทิศทางเดียว
  ปัจจุบัน
          อำเภอลานสกามีพื้นที่ 342.90 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 40 หมู่บ้าน มีหน่วยการปกครองท้องถิ่น ครอบคลุมเต็มพื้นที่ ประกอบด้วย เทศบาลตำบล 1 แห่ง องค์การบริหารส่วน ตำบลจำนวน 5 แห่ง ประชาคมทุกหมู่บ้าน การพัฒนาท้องถิ่นมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่ประสานสอดคล้องกันเท่าที่ควรโดยเฉพาะภาครัฐและประชาชน
 
เป้าหมาย

          ปี 2550 พลเมืองชาวอำเภอลานสการวมตัวเป็น กลุ่มองค์กรประชาชนที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพัฒนา และปกครองท้องถิ่น การบริหารการจัดการมีศักยภาพและขีดความสามารถในการบริหาร จัดการ โดยมีการประสานเชื่อมโยงกันทุกพื้นที่ ทั้งภาครัฐและประชาชนไปในแนวทางเดียวกัน
 
แนวทาง
    1. ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานภาครัฐ
2. เสริมสร้างสถาบันครอบครัว องค์กรชุมชน หมู่บ้านตำบล เทศบาลให้เข้มแข็งสามารถเชื่อมโยง
    ประสานร่วมงานกันได้ในระดับต่าง ๆ
3. สนับสนุนส่งเสริมการรวมตัวก่อตั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
4. ปรับปรุงระบบการบริการราชการ และพัฒนาข้าราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
    ประชาชน

  มีวัฒนธรรมยึดเหนี่ยวในสังคม
  ปัจจุบัน
          อำเภอลานสกา มีประเพณีตลอดจนวิถีชีวิตที่ดีงาม แต่มีความขัดแย้ง วัฒนธรรมไม่เข้มแข็ง ไม่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งทั้งในการอนุรักษ์วัฒนธรรม และนำมรดกทางวัฒนธรรมมาฟื้นฟู และพัฒนาประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

เป้าหมาย

          ปี พ.ศ. 2550 อำเภอลานสกาจะต้องมีองค์กรระดับหลากหลายอย่าง จนมีการเชื่อมโยงเครือข่ายในท้องถิ่นและต่างท้องถิ่น ชุมชนมีความเกื้อกูล สร้างสรรค์สัมพันธภาพที่ดี ทั้งในชุมชนและระหว่างชุมชน สังคมมีค่านิยม ก่อให้เกิดความ ถูกต้องดีงามตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและสังคม ทันโลกแต่ไม่ตามกระแสโลกที่ทำให้ตกต่ำ และอ่อนทางวัฒนธรรม มีเครือข่ายพัฒนาในลักษณะภาคี ระหว่างบ้าน สถาบัน ศาสนา สถานศึกษา รัฐ ราชการ ธุรกิจเอกชน ฯลฯ และมรดกทางวัฒนธรรมของอำเภอลานสกาต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มศักยภาพ
  แนวทาง
    1. สร้างจิตสำนึก วิถีชีวิต คุณค่าศิลปะ และวัฒนธรรมจารีตประเพณีให้รู้สึกหวงแหน
2. สร้างจิตสำนึกความเป็นไทยและส่งเสริมให้คนมีคุณธรรมมีวินัยสำนึกในส่วนรวม
3. มุ่งพัฒนาส่งเสริมเด็กและเยาวชนเป็นหลัก
4. อนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองนคร
5. เสริมสร้างสถาบันครอบครัว องค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง
6. มีการเข้มงวดกวดขันอย่างจริงจัง ให้ลด ละเลิก การเล่นการพนันและอบายมุข
7. สนับสนุนกิจกรรมที่สร้างค่านิยมที่ถูกต้องดีงาม ยกย่องคนดี

  ประชาชนใฝ่ศึกษาอยู่เป็นนิจ
 
ปัจจุบัน

          อำเภอลานสกามีระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ประชากรในพื้นที่มีพื้นฐานเดิมเป็นคนใฝ่ศึกษาเรียนรู้ รักอิสระ มีจิตใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น เป็นตัวของตัวเองสูง แต่ก็มีบางส่วนที่ยังขาดความรู้อยู่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
 
เป้าหมาย
          พ.ศ. 2550 อำเภอลานสกาประชาชนต้องเป็นผู้มีความรู้ การศึกษาดี สามาถใช้การศึกษานำการพัฒนาสู่ชุมชนและท้องถิ่น อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ มีทักษะสามารถรับผิดชอบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่หลงในวัตถุนิยม ใจกว้างรับฟังผู้อื่น เคารพในกฏ และกติกา มีความพร้อมต่อการให้บริการผู้อื่นด้วยความเต็มใจ
  แนวทาง
        1. ยกระดับการศึกษา พัฒนาคุณภาพเพื่อพัฒนาคน
      2. ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งด้านวิชาการและวิชาชีพ
      3. องค์กรเอกชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่น มีบทบาททางการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ
      4. จัดเครื่องมือเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้ เวทีท้องถิ่น สถานศึกษา เสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างจริงจัง
      5. มีการกระจายการศึกษาสู่ท้องถิ่นต่อเนื่องและตลอดชีวิต
      6. ให้ประชาชนทุกประเภททุกระดับได้รับการศึกษา อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ

  เศรษฐกิจยั่งยืนอย่างเหมาะสม
 
ปัจจุบัน
          อำเภอลานสกา ประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอ ลานสกา ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร อาชีพหลักคือการทำสวนยางพารา สวนผลไม้ต่าง ๆ เช่น เงาะ ทุเรียน และอื่น ๆ สำหรับการทำนา และปศุสัตว์มีบ้างเพื่อใช้บริโภค ภายในครัวเรือน ราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะปานกลาง ปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในชนบท และขาดประสิทธิภาพในการจัดการเพื่อการประกอบอาชีพต่าง ๆ
  แนวทาง
        1. ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งด้านการเงิน การดำเนินชีวิต
      2. ส่งเสริมการออมในทุกระดับ และส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ให้ทั่วทุกเป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
      3. ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เร่งสร้างปัจจัยพื้นฐานทางการท่องเที่ยวโดยประชาสัมพันธ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
      4. ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยจัดให้มีสาธารณสุข และสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
      5. ให้มีแผนหลักการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอย่างครบวงจร โดยเฉพาะไม้ผล และยางพารารวมทั้งการศึกษาวิจัยและเพิ่มความรู้ทักษะให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนอุตสาหกรรม
      6. พัฒนาส่งเสริมผลผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอโดยเฉพาะมังคุดให้เป็นที่รู้จักและนิยมทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ

  ชีวิตคุณภาพทุกชุมชน
  ปัจจุบัน
          อำเภอลานสกามีประชากรทั้งสิ้น 40,105 คน แยกเป็นชาย 19,804 คน เป็นหญิง 20,301 คน แม้จะมีหน่วยงานของทางราชการหลายฝ่าย แต่ศักยภาพก็ยังมีอยู่ก็ไม่อาจดูแลได้อย่างทั่วถึง องค์กรชุมชนมีอยู่จำนวนน้อยขาดความเข้มแข็งโครงของพื้นฐานด้านคมนาคม ในชนบทขาดประสิทธิภาพ สุขภาพของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำดูแลตนเองปานกลาง และประชาชนยังขาดความมั่นคงในชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดีมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งปัญหา ยาเสพติดได้แพร่หลายสู่เยาวชน
  เป้าหมาย
ปี 2550 ประชากรของอำเภอลานสกามีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดีมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีจิตสำนึกสาธารณะ
  แนวทาง
    1. เสริมสร้างสถาบันครอบครัว องค์กรชุมชนให้เข้มแข็งมีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
2. พัฒนาด้านสุขภาพ โดยผ่านเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน
3. ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปลอดจากยาเสพติด อบายมุข โดยเน้น
    วิธีชุมชนบำบัด
4. พัฒนาจิตใจ โดยใช้หลักคุณธรรมนำการพัฒนาจิตใจ
5. ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับองค์กรชุมชน ในการจัดการปัญหา เพื่อให้เกิด
    ประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและชุมชน
6. พัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคุณภาพชีวิตให้ครบถ้วนเพียงพอไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็น
    พื้นฐาน
7. ส่งเสริมสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้บุคคชุมชนมีการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต

  ประชาคมรวมพลังสร้างสังคม
  ปัจจุบัน
          ประชาชนในพื้นที่อำเภอลานสกา มีความสนใจตื่นตัว มีการรวมตัวตั้งกลุ่มองค์กรตามสถานการณ์มากกว่าก่อตั้งอย่างเป็นธรรมชาติ การเชื่อมประสานงานระหว่างองค์กรยังไม่เพียงพอ ตลอดจนขาดการรวมพลังเป็นประชาคมที่เพียงพอเข้มแข็งและยั่งยืน
  เป้าหมาย
          ปี 2550 อำเภอลานสกาต้องมีกลุ่มองค์กรประชาชน ประชาคมอำเภอ ตำบล หมู่บ้านที่เข้มแข็งมีจิตสำนึกสาธารณะ รักชุมชนท้องถิ่น ร่วมมือพัฒนาในทุก ๆ ด้านบ้านเมืองเต็มไปด้วยบรรยากาศการประสานร่วมมือเพื่อพัฒนาเมืองน่าอยู่
  แนวทาง
    1. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีเวทีสาธารณะของประชาชนอย่างอิสระในทุกระดับ ทุกพื้นที่ในลักษณะเวทีประชาคมในระดับอำเภอ ควรให้มีอย่างน้อยปีละครัว
2. รณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึก รัก และภูมิใจในท้องถิ่น ตลอดจนการส่เงสริมการเรียนรู้ฟื้นฟู ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา
3. สนับสนุนส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม และร่วมก่อตั้งกลุ่มองค์กร ประชาคมอย่างหลากหลายกว้างขวางทั่วถึงโดยมาจากพื้นฐานความต้องการของประชาคม
4. ส่งเสริมบทบาทสตรีในการมีส่วนร่วมพัฒนาทุกระดับ
5. เสริมสร้างเครือข่าย และรบบการประสานงานเครือข่าย องค์กรและประชาคมที่เอื้อต่อการร่วมมือร่วมพลังการพัฒนาอย่างจริงจัง


กลับสู่หน้าแรก