Culture of Nakhon Sri Thammarat


       ประเพณีไล่แม่มด  เป็นประเพณีขับไล่ผีกลีบ้านกลีเมือง ประจำ เดือนสี่ ของเมืองนคร เชื่อกันว่าเมืองนครเป็นเมืองแรกที่รับประเพณีนี้มาจากลังกา

          พิธีไล่แม่มดของชาวเมืองนคร เมื่อรับมาก็เปลี่ยนใหม่ว่า " พิธีสัมพัจฉรฉินท์ " (แปลว่าพิธีทำบุญสิ้นปี) 

          ความเป็นมา ชาวนครประสบความเดือนร้อน เกิดไข้ห่าและภัยพิบัติต่าง ๆ อยู่บ่อย เนื่องจากการแพทย์ไม่เจริญและไม่ทราบสาเหตุของโรคภัยต่าง ๆ จึงได้หาทางแก้ไขโดยการคิดหาวิธีเอาแบบอย่างการขับไล่ผีจากลังกา

          เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้สร้างเมืองนครเป็นราชธานี มีกำแพงรอบเมือง ได้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โรคห่าระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ในที่สุดก็ได้มีการทำเงินตราโมโปรยทั่วกำแพงเมือง ตามความเชื่อมาแต่โบราณ เงินตราโมมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถขับไล่โรคห่าจัญไรกาลีบ้านกาลีเมือง

          การทำเงินตราโมโนในสมัยพระเจ้าศรีะรรมโศกราช ตั้งที่วัดพระมหาธาตุด้านตะวันออก ส่วนประกอบที่นำมาทำเหรียญตรานโม คือ ทองคำ ทองอุไร ทองแดง เงิน เหล็ก สักกะสี ปรอท พลวง และ ตะกั่ว รวม 9 อย่าง เรียกว่า " นวโลหะ " ส่วนพิธีการในการทำเงินตรานโมและพิธีไล่แม่มด อดิเรก กล่าวไว้ว่า

           " การหลอมผสมวัตถุธาตุทั้ง 9 เข้าด้วยกัน ต้องซัดทอดว่านยาจนกระทั่งได้ที่ นำเข้าพิมพ์และตรอกตราสำเร็จรูปเป็นเงินตรานโม คณาจารย์ฝ่ายพุทธจะสวดพระพุทธคุณ ฝ่ายพราหมณ์ก็โอมอ่านพระเวทย์กฤตยาคุณ สรรเสริญและบูชาเทวดาไปจนได้เงินตราเต็ม 9 นำไปเข้าพิธีอาฏานา ที่โรงพิธีซึ่งปลูกไว้ ณ เชิงฐานเจดีย์พระบรมธาตุด้านตะวันออก พิธีสวดอาฏานาดำเนินไปโดยคณาจารย์ฝ่ายพุทธ และฝ่ายพราหมณ์ ซึ่งสมมุติว่าเป็นผู้รับเสนียดจัญไรทุกอย่างออกไปนอกเมือง เมื่อแม่มดคนสุดท้ายออกนอกเมือง เมื่อแม่มดคนสุดท้ายวิ่งออกนอกเมือง ปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ ณ ประตูเมืองทั้ง 9 ก็จะถูกจุดยิง พร้อม ๆ กันนั้นมหาเถรผู้ทรงคุณวิเศษและพราหมณาจารย์ผู้เรืองกฤติยาคุณก็นำเงินตรานโมทั้ง 9 บาตรออกไปทำพิธีอาถรรพณ์พระเวทฝังตามประตูเมืองทุก ๆ ประตู เชิงใบเสมากำแพงเมืองทุกใบ นอกจากฝังแล้วยังโปรยเงินตรานโมและน้ำมนต์ทั่วกำแพงโดยรอบ ตามถนนหนทาง วัดวาอาราม เทวสถาน ปราสาท ราชวังและสถานที่สำคัญ ๆ "

          สมัยต่อ ๆ มาพิธีไล่แม่มดของเมืองนครจัดบริเวณวัดพระมหาธาตุวรวิหาร มีทั้งพิธีทางพระพุทธศาสนาและพิธีทางพราหมณ์ โดยพิธีทางพุทธศาสนาจะประกอบพิธีในวิหารหลวง ส่วนพิธีทางพราหมณ์จะประกอบพิธีด้านทิศใต้ของพระวิหารหลวง พิธีนี้จะเริ่มกระทำในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 4 จนถึงวันแรม 12 ค่ำ เดือน 4 แต่พิธีทางพราหมณ์จะกระทำในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 4

          พิธีทางพุทธศาสนา เมื่อถึงวันกระทำพิธี อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพิธีนอกเหนือจากพระพุทธรูปในพระวิหารหลวงแล้ว ยังมีเทียนชัยบาตรน้ำพระพุทธมนต์และศัสตราวุธ พระสงฆ์จะมาประชุมเพื่อสวดอาฏิยสูตร (ภาณยักษ์) ตลอดคืนแรม 11 ค่ำ วันแรม 12 ค่ำ แรม 13 ค่ำ และวันแรม 14 ค่ำ เดือนสี่ เมื่อพระสงฆ์สวดเสร็จจะมีการประกาศเทวดาเป็รภาษาสิงหล ขณะประกาศเทวดาให้พระสงฆ์ยืนบนผ้าขาวพับหนึ่ง เมื่อประกาศเสร็จจะประเคนผ้าขาวนั้นแก่พระสงฆ์ ทุก ๆ วันจะจัดให้มีการเลี้ยงพระเป็นพิเศษ เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ พระสงฆ์ก็ออกไปประพรมน้ำพระพุทะมนต์ตามที่ต่าง ๆ แล้วจัดเลี้ยงพระที่วัดพระธาตุอีก

          พิธีทางพราหมณ์ พิธีพราหมณ์จะกระทำในโรงพิธีชั่วคราวทางด้านใต้ของพระวิหารหลวงวัดพระธาตุวรมหาวิหาร พราหมณ์จะเข้าพิธีในวันแรม 11 ค่ำ เดือน 4 แต่ทำพิธีจริง ๆ ในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 4 ในพิธีพราหมณ์จะมีการโหมกุณฑ์ (มีการจุดไฟ) คร่าวไม้ติดเสาถึงกันทุกเสาเรียกตามพราหมณ์ว่า พรหมโองการ แล้วพาดผ้าไตรทวาร ภายในโรงพิธีมีเตียง 3 เตียง สำหรับวางเทวรูปลดลั่นกันตามลำดับ คือ พระนารายณ์และพระพิฆเณศ พระอิศวรและพระอุมาทรงโค เป็นเตียงที่ 1 สูงที่สุด เตียงที่ 2 ต่ำลงมาวางเทวรูปนพเครราะห์ (ดาวพระเคราะห์ทั้งเก้าคือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์และเกตุ) ส่วนเตียงสุดท้ายวางเบญจศัพท์ (น้ำเต้าอยู่ในหมู่ของใช้ในการพระราชพิธี สำหรับใส่น้ำอภิเษกหรือน้ำเทพมนตร์) กรดและสังฆ์ นอกจากนี้ภายในโรงพิธีมีเตาทองแดงสำหรับโหมกุณฑ์ หม้อข้าวและหม้อน้ำมนต์ด้วย

          พิธีทางพราหมณ์จะเริ่มเมื่อเวลา 02.00 น. เพราะพิธีพราหมณ์จะกระทำในกลางคืน เริ่มด้วยการชำระร่างกาย บูชาทิศทั้งแปด บูชาพระอศวร บูชาเบญจศัพท์ บูชากรดสังข์ หม้อข้าว หม้อน้ำมนต์ บูชาใบไม้สำหรับโหมกุณฑ์ (นิยมใช้ไม้หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นใบตะขบ ใบทองและใบมะม่วง) นำใบไม้ชุบน้ำมันและน้ำผึงรวงแล้วโหมกุณฑ์ เป็นอันเสร็จพิธี ครั้นวันต่อไปจะกระทำเช่นนี้อีก

          ส่วนด้านพระวิหารหลวงมีแม่มดสมมติเป็นตัวแทนของผีกลีบ้านกลีเมืองและความชั่วทั้งปวง แม่มดสมมติจากผู้สมัครใจจะได้เงินเป็นค่าตอบแทน ด้านหน้าของแม่มดจะมีแผงสำหรับชาวเมืองนำของเพื่อการลอยเคราะห์หรือเสดาะเคราะห์มาวาง มักเป็นข้าวสาร เงินอัฐฬส บางรายตัดเล็บ ตัดผมวางไว้ด้วย และจะนำไปลอยน้ำเมื่อเสร็จพิธี

          เมื่อเสร็จพิธีไล่แม่มดจะไล่ตีแม่มดด้วยตะบองเพชร (ทำด้วยใบตาลหรือใบลานที่ตัดออกมาเป็นใบ ๆ ขมวดที่ปลายเป็นปมแล้วลงคาถาด้วยอักษรขอม) วิ่ง่กันเป็นทิวแถว แม่มดวิ่งออกนอกเมือง มีการพรหมน้ำมนต์ตลอดทาง ไล่แม่มดจนออกนอกเมืองจึงหยุด ส่วนใหญ่แม่มดออกทางด้านประตูชัยเหนือแล้วไปอาศัยอยู่ที่หัวอิฐ ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรี ฯ เมื่ออกนอกเมืองแล้วห้ามเข้ามาในเมืองอีก

          เมื่อไล่แม่มดเสร็จ ชาวเมืองกลับบ้านเพราะถือว่าต่อไปนี้เมืองจะมีแต่ความสงบสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ทั้งนี้เพราะสิ่งชั่วร้ายถูกไล่ออกนอกเมือง พิธีไล่แม่มดของเมืองนครได้ล้มเลิกภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
 

ประเพณีให้ทานไฟ                    ประเพณีการออกปาก