Traditionof Nakhon Sri Thammarat


         ประเพณีตักบาตรธูปเทียน อยู่คู่กับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทุกวันนี้ยังคงมีอยู่ถึงแม้ว่าอาจจะแตกต่างไปจากประเพณีดั้งเดิมบ้าง

            ความเป็นมา ประเพณีตักบาตรธูปเทียนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเพราะเป็นประเพณีถวายสังฆทานเนื่องในโอกาสเข้าพรรษาคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8  และสมัยสุโขทัยได้รับการสืบทอดประเพณีนีด้วย ดังหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า
    " ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวถึงประเพณีในสุโขทัยว่า มีการจุดประทีปบูชาพระบรมธาตุพระพุทธรูปถวายสังฆทานเป็นประจำทุกปี สังฆทานที่ถวายมีหลายอย่างเช่น เทียนพรรษา ผ้าอาบน้ำฝนและเครื่องบริขารอื่น ๆ เช่น เสื่อ อาสนะ ยารักษาโรค ตั่งเตียง และดอกไม่ธูปเทียน"

           แต่เดิมจัดที่วัดพระธาตุ ฯ เพียงแห่งเดียว ช่วงพระสงฆ์จะประจำที่วัดพระธาตุ พอถึงวันเข้าพรรษา ชาวเมืองจะนำเครื่องสังฆทานไปถวายพระสงฆ์ เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา ช่วงบ่าย เวลาประมาณ 14.00 เป็นต้นไป พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดพระมหาธาตุทั้งในเมืองและนอกเมือง ต่างมาพร้อมกันเป็นแถวยาวที่หน้าวิหารทับเกษตร วัดพระมหาธาตุ ฯ เพื่อรอรับบิณฑบาตรดอกไม้ธูปเทียนด้วยย่ามในแขวขวา ชาวเมืองก็นำธูปเทียนซึ่งเตรียมไว้เป็นช่อ ๆ ใส่ถาดถวายพระสงฆ์ ไปตามลำดับ รูปละมัด เรียกว่า
" การตักบาตรธูเทียน " 

           เมื่อตักบาตรธูปเทียนแล้ว ชาวเมืองพร้อมใจกัน จุดเปรียง (การจุดเปรียงคือ " จองเปรียง " เป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อจุดโคมรับเทพเจ้า ทำกันในวันเพ็ญเดือน 12 เพื่อบูชาพระบรมธาตุเจดีย์และพระพุทธรูป) บริเวณหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ทุกฐานในวัดพระธาตุ โดยการเอาด้ายดิบใส่ลงไปในภาชนะเล็ก ๆ (เปลือกหอยแครง) แล้วหยดน้ำมันสัตว์หรือน้ำมันมะพร้าวลงในเปลือกหอยแล้วจุดไฟที่ด้าย

           แต่ต่อมาเมื่อถึงวันเข้าพรรษาชาวเมืองนครต่างพากันไปชุมชนที่วัดใกล้บ้าน นำเทียนพรรษาขนาดใหญ่พอที่จะใช้ตลอดพรรษาไปถวายพระสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าอาบน้ำฝน ตั่ง เตียง ตะเกียง ยาและอาหาร

สมัยปัจจุบันประเพณีตักบาตรธูปเทียนเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ กล่าวคือ
    ประการแรก แต่เดิมพระสงฆ์เข้าแถวรับบิณฑบาตรธูปเทียน เฉพาะหน้าวิหารทับเกษตรเท่านั้น แต่ปัจจุบันพระสงฆ์จะเข้าแถวรับบิณฑบาตรธูปเทียนที่ลานพระมหาธาตุแทน
    ประการที่สอง การตักบาตรธูเทียนในปัจจุบันไม่ได้กระทำกันที่วัดพระหมาธาตุ ฯ แต่จะมีการตักบาตรกันทั่วไป เพราะชาวเมืองบางคนไม่มีเวลา ถึงกระทำตามถนนเมื่อเห็นพระสงฆ์
    ประการที่สาม แต่เดิมชาวเมืองจะเตรียมดอกไม้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ใช้ดอกไม้สด เพราะจะได้คงอยู่ตลอดพรรษา แต่ในปัจจุบันทั้งดอกไม้และธูปเทียน มีขายทั่วไป
    ประการที่สี่ แต่เดิมตักบาตรธูปเทียนโดยการจุดเปรียง แต่ปัจจุบันนี้ใช้เทียนไขแทน เพราะการจุดเปรียงทำให้เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง
    ประการที่ห้า แต่เดิมการจุดเปรียงกระทำทั่วไปทุกวิหารและฐานเจดีย์ แต่ปัจจุบันจุดเทียนไขกำหนดให้จุดเฉพาะภายในวิหารพระม้าเพียงแห่งเดียว
    ประการสุด้ทาย แต่เดิมการจุดเปรียงเป็นประเพณีที่ทุกคนต้องทำ แต่ปัจจุบันประเพณีได้ลดความสำคัญ จำนวนชาวเมืองก็ปฏิบัติลดน้อยลง

           ประเพณีการตักบาตรธูปเทียน แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับชาวนคร แสดงออกถึงค่านิยมอันสูงส่งในทางพุทธศาสนาของชาวนคร และประการสำคัญประเพณียังคงตกทอดมาถึงลูกหลานเรามุกวันนี้ นับเป็นมรดกที่เชิดหน้าชูตาชาวนครอย่างยิ่ง ด้วยประเพณีนี้มีเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช
 

ประเพณีขันหมากพระปฐม                    ประเพณีลากพระ