Tradition of Nakhon Sri Thammarat


        ประเพณีขันหมากพระปฐม  เป็นการทำบุญทั่วเมืองนคร แต่ส่วนมากจะมีในชนบท การเขียนเรื่องนี้อาศัยเค้าโครงเรื่องจาก พ่อท่านดำ วัดหัวอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

           การยกขันหมากพระปฐม จัดขึ้นในวัดต่าง ๆ เมื่อวัดมีความจำเป็นทางการเงิน เพื่อจัดสร้าง โบสถ์ วิหาร และกำแพงวัด เป็นต้น

           การยกขันหมากพระปฐมเป็นประเพณีโดยอาศัยเค้าและแบบอย่างมาจากพระพุทธประวัติ กล่าวคือ ยึดเอาตอนอาวาทมงคลของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาเป็นแบบ จะสมมติคู่บ่าวสาว 1 คู่ เจ้าบ่าวแทนพระเจ้าสุทโธทนะและเจ้าสาวแทนพระนางสิริมหามายา และสมมุติให้ผู้สูงอายุเป็นญาติของแต่ละฝ่ายด้วย

           การจัดประเพณีนี้จัดได้ทุกฤดูกาล แต่ส่วนใหญ่จะยกเว้นในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เพราะเป็นช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ที่อยู่ห่างไกลจะลำบากในการเดินทางและเป็นการขัดต่อสมณบัญญัติ การจัดงานก็ไม่สะดวกเพราะเป็นช่วงหน้าฝน ระยะนี้ชาวนาต้องทำนาด้วย
 


สมมติเป็นบิดา มารดาของเจ้าบ่าวกำลังเตรียมขันหมาก

ขบวนขันหมาก

           ขั้นตอนในการจัดพิธี
  • เริ่มต้นด้วยทางวัดจัดเตรียมสถานที่และองค์ประกอบในการจัดงานต่าง ๆ
  • ส่วนชาวบ้านจัดพาเจ้าบ่าวและเจ้าสาว จะเลือกคนโสด ชายจริงหญิงแท้ โดยเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะอยู่ต่างตำบล หรือต่างอำเภอ หรือหากคนล่ะจังหวัดก็ยิ่งดี ทั้งนี้เพราะจะได้ชักชวนพี่น้องเพื่อนฝูงจากต่างถิ่นมาร่วมงานมาก ๆ

  •            เมื่อถึงกำหนดวันงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะยกขันหมากตามประเพณีแต่งงานมาที่วัด เจ้าบ่าว เจ้าสาว และผู้สูงอายุซึ่งเป็นพระพุทธบิดาและพุทธมารดาสมมตินั้นแต่งกายอย่างกษัตริย์ทุกประการ สำหรับเครื่องแต่งกายยืมจากคณะลิเก ส่วนการแต่งการของบ่าวสาวมิได้เคร่งครัดตามพระพุทธประวัติ มักจะแต่งกายตามความสะดวกมากกว่า

               การทำพิธีไม่นิยมทำในโบสถ์เพราะแคบ นิยมจัดกันในศาลาโรงธรรม หลังจากนั้นพราหมณ์ก็เริ่มประกอบพิธี แต่ระยะหลังพราหมณ์ในเมืองนครมีน้อย ดังนั้นในบางครั้งจึงมอบให้ผู้เฒ่าผู้แก่ประกอบพิธีแต่งงานแทน
     

    พิธีสู่ขอ

    ทำพิธีพร้อมกันที่วัด

               เมื่อประกอบพิธีแต่งงานผ่านไปแล้ว ผู้เฒ่าของแต่ละฝ่ายก็นำคู่บ่าวสาวไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่าย ซึ่งญาติผู้ใหญ่เหล่านี้ได้รับการสมมุติให้ตรงตามลำดับพระญาติวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาในพุทธประวัติทุกคน เช่น พระมาตุจฉา พระปิตุลา พระปิตุจฉา เป็นต้น ซึ่งคัดเลือกมาจากชาวบ้านในท้องถิ่นของฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวที่ตนนับถือ ญาติผู้ใหญ่จะมอบของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงิน เพราะวัดต้องการเงินมากกว่าสิ่งของ

               ครั้นบ่าวสาวไหว้ผู้ร่วมงานเสร็จ ก็จะนำเงินที่ได้เป็นของขวัญรวมกับเงินขันหมากและมอบให้แก่วัด เพื่อใช้ในการดำเนินงานการก่อสร้างตามเจตนาของวัดต่อไป

               จากนั้นบ่าวสาวญาติวงศ์และผู้ที่มาร่วมงานทุกคนก็ร่วมกันประกอบพิธี เพื่อบูชาพระ ฟังเทศน์ฟังธรรม หลังจากนั้นก็จะแยกย้ายกันไปจัดข้าวของและทำความสะอาดสถานที่ประกอบพิธีและบริเวณวัด เมื่อเรียบร้อยจึงแยกย้ายกลับ

               ประเพณียกขันหมากพระปฐมเป็นประเพณีของชาวนครที่กำลังจะสูญหาย ในระยะหลังนี้หาดูประเพณีได้ยากมาก วัดเจดีย์ อำเภอลานสกา เป็นวัดที่จัดประเพณีเป็นวัดสุดท้าย หลังจากนั้นก็ไม่มีปรากฏอีก ที่เป็นเช่นนี้เพราะวัดต่าง ๆ ได้รับเงินบำรุงในการสร้างเสนาสนะต่าง ๆ โดยวิธีอื่น ๆ
     

    ประเพณีแรกนาขวัญ                    ประเพณีตักบาตรรูปเทียน