Tradition of Nakhon Sri Thammarat


        ประเพณีการทำศพ เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นในบ้าน ญาติจะต้องรีบไปหาหมอผี เพื่อขจัดไล่ความชั่วร้าย และป้องกันไม่ให้ผีร้ายมาทำร้ายศพหรือก่อความเดือนร้อนแก่ญาติมิตร เรียกว่า พิธีดอย คือจะพรมน้ำมนต์และเสกคาถาที่ศพ

        พีธีกรรม

          1. เอาขมิ้นตำรวมกับดินเหนียว ผสมกับน้ำมะพร้าว น้ำร้อน และน้ำเย็นมาอาบศพ ต้องใช้ภาชนะตักน้ำ 12 ชนิด เพื่อให้รู้สึกถึงอายตนะทั้งสิบสอง ( จักษุ โสต ฆาน ชิวหา กาย และใจ เรียกว่าอายตนะภายใน ส่วน รูป เสียง กลิ่น ร โผฏฐัพพะ และธรรม เป็นอายตนะภายนอก)

          2. อาบน้ำศพเสร็จบางที่เอาใบมะกรูด ใบมะนาว รากสะบ้า( เพื่อให้คติธรรมลดกิเลส) และขมิ้น ตำรวมกันทาตัวศพ เพื่อดับกลิ่น จากนั้นจับศพนั่งเงยหน้า ใช้น้ำผึ้งรวงผสมการบูนกรอกลงไปในท้องศพทำให้ศพเน่าช้า แล้วใส่เสื้อผ้าชุดที่ผู้ตายชอบ ใส่กลับด้านคือนุ่งโจงกระเบนเอาชายพกไว้ข้างหน้า เสื้อกลับด้านเอาข้างหน้าไว้ข้างหลัง เพื่อให้คติว่า " ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้แน่นอน " บางแห่งใช้เสื้อผ้าสั้น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจงรีบทำความดีในขณะมีชีวิตอยู่ จากนั้นหวีผมมาทางข้างหน้าแล้วหักหวีทิ้งลงในโลง
 

          3. หลังจากนั้นเอาด้ายดิบกรองมือ เท้า และคอศพ ผูกมือให้อยู่ในท่าพนมมือ นำซองหมากพลู ดอกไม้ ธูปเทียน เชื่อว่าเพื่อนำไปบูชาพระจุฬามณี ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์ ณ ดาวดึงส์ และภาวนาว่า " ธนํหัต.เถ " ( ทรัพย์สินเป็นห่วงผูกมือ ) นำด้ายที่ผูกมือไปผูกคอและว่า " ปุต.โต คีวํ หรือ คีเว" ( บุตรเป็นห่วงผูกคอ ) และขณะที่ผูกเท้ากล่าว " ภริยา ปาเท ( ภริยาเป็นห่วงผูกเท้า ) ส่วนการเอาเหรียญหรือเงินทองใส่ในปากศพเพื่อแสดงว่า ของเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่าเมื่อตายไม่สามารถเอาไปได้ บางแห่งมีความเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสวรรค์ของผู้ตาย

          4. เอาผ้าขาวยาว 5-6 เมตร ห่อศพหลาย ๆ ชั้น ชายผ้าอยู่ทางหัวศพ มัดศพด้วยด้ายดิบขนาดใหญ่ตั้งแต่หัวจรดเท้า เป็น 5 เปลาะ เรียกว่า " มัดตราสัง " จากนั้นเอาศพใส่โลง (กระดานโลงต้องปิดด้วยชันหรือดินเหนียวผสมใบบอน ใบฝรั่ง ที่ก้นโรงโรยปูนขาว เพื่อไม่ให้น้ำหนองซึมออกมา พื้นโลงมีไม้รอง 4 อัน ( ธาตุ 4) วางทับด้วยฟาก 7 ซี่ ( บางแห่งเรียก** นาด หมายถึง พระธรรม 7 คัมภีร์ ) ซึ่งมัดด้วยเชือก ( ห้ามมัดทับไปทับมา เพราะเชื่อว่าผู้ตายจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกอีกเลย ) จำนวน 3 เปลาะ ( พระไตรปิฎก )

          5. สวดอภิธรรม โดยศพส่วนใหญ่จะหัวไปทางทิศตะวันตก แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ หันไปทางอื่นก็ได้ แต่ห้ามจัดเครื่องบูชาและพระนั่งทางปลายเทาศพ กลางคืนมีการสวดมาลัยหลังจากพระสวดเสร็จแล้ว วงดนตรีประจำงานศพคือ กาหลอ

          6. การเผาศพจะเผาววันไหนก็ได้ แต่ห้ามเผาข้างขึ้นในะวันคี่ ข้างแรมห้ามเผาในวันแรมเลขคู่ วันเหล่านี้เรียกว่า " วันผีหามคน "
 

หีบศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ใน ร. 3 และมารดาเจ้าพระยาสุธรมมนตรี

        การหามศพ ออกจากบ้านให้เอาเท้าออกและลบรอยเท้าคนห้าม และเอาไม้ 4 อัน ทำเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนประตู เพื่อหลอกผู้ตายว่าเป็นประตู พอยกศพผ่านประตูก็เอาไม้นั้นไปทิ้ง ข้างหลังคนห้ามศพจะมีลูกหลานคนสุดท้องของผู้ตายนุ่งขาวห่มขาว ถือข้าวบอก (ข้าวที่นำไปเพื่อบอกเจ้าของป่าช้า) ปลามีหัวกับหาง เงินใส่ภาชนะแล้วห่อผ้าขาว เพื่อนำไปเซ่นเจ้าเปลว ข้าวบอกจะวางใกล้ศพตลอดเวลาหลังจากผลนำไปวางบนเชิงตะกอน ลูกหลานหมอมหน้าทุกคน เพื่อไม่ให้ผีจำความหลังของตนได้

        วันยกศพ หน้าศพจะมีพระภิกษุนำหน้า โดยจะโปรยข้าวสารทุกระยะ เชื่อว่าเป็นการแจกจ่ายพระธรรมแก่เวไนยสัตว์ เมื่อถึงที่เผาศพเวียน 3 รอบ แล้ววางหัวศพไปทางทิศตะวันตก จากนั้นมีการสวด เทศน์ บังสุกุล และชักผ้าบังสุกุล จุดไปเผา ( ไฟห้ามจุดต่อ ๆ กันเพราะไฟ คือ ราคะ โมหะ โทสะ จะได้ไม่ติดต่อกัน )
 

เชิงตะกอนเผาศพ

          ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้ให้เอาผ้าปิดโลงโยนข้ามเชิงตะกอน 3 ครั้ง เพื่อแสดงว่าถึงแม้ไฟจะร้อนก็ไม่ร้อนเท่ากับไฟ ราคะ โมหะ โทสะ  เช้าตรู่จะมีพิธีดับธาตุ โปรยเหรียญเงินบนถ่าน น้ำอบไทยราดลงบนผ้าขาว จัดที่บูชาพระทางหัวของเถ้าถ่าน จากนั้นชักผ้าบังสุกุลไปทางทิศตะวันออก เพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนวายตายเกิด แล้วเก็บเถ้าถ่านไปบูชา ส่วนเถ้าถ่านที่เหลือฝังหรือนำไปลอยในแม่น้ำหรือทะเลเก็บไว้เฉพาะเหรียญ เพื่อทำเป็นขัวญถุง
 

พิธีศพชาวพุทธ จิตกรรมฝาผนัง วัดชลธาราสิงเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

          ถ้าหากเป็นผีตายโหงจะนำไปฝังทันที แล้วค่อยขุดเอากระดูกไปทำพิธีภายหลัง

          ปัจจุบันประเพณีศพเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่มีพิธีมากเหมือนแต่ก่อน แต่กลับมีงานรื่นเริงตามยุค เราจึงหาดูประเพณีศพแบบเดิมได้ยาก

          ** นาด หมายถึงฟาก ที่ใช้รองศพ
 

ประเพณีการบวช                    ประเพณีการแต่งงาน