Tradition of Nakhon Sri Thammarat


       ประเพณีการตั้งเปรตและชิงเปรต เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันสารทเดือนสิบของชาวภาคใต้ โดยทำร้าน จัดหม.รับอาหารคาวหวาน ไปวางเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตชน (ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว) และที่ไม่มีญาติด้วย

        การตั้งเปรตและชิงเปรตจะกระทำในวันที่ยกหม.รับไปวัดไม่ว่าจะเป็นวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เดือนสิบก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย

        อาหารที่ใช้ตั้งเปรต ส่วนมากจะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดละหน่อย ขนมที่ไม่ค่อยขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเจาะหู (ขนมเมซำ เบซำ หรือดีซำ) ขนมไข่ปลา ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล ปลาเค็ม กล้วย อ้อย มะพร้าว ไต้ เข็มเย็บผ้า ด้าย ธูปเทียน นำลงจัดในหม.รับ โดยเอาของแห้งดังกล่าวรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอกปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นใดแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนั้นนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำหม.รับที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บน ร้านเปรต ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลาถาวร หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียกว่า "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารเป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลานนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้

      


        ต่อจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "ชิงเปรต" ผู้ที่มาร่วมทำบุญ ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตนั้นด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่าการแย่งขนมเปรตที่ผ่านการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวยิ่งนัก และขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนาจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อจะให้มีผลดก


ชิงเปรต

        ร้านเปรต อีกลักษณะหนึ่ง คือจัดสร้างขึ้นในบริเวณวัด ไม่ห่างไกลจากร้านเปรตกลางวัดเท่าใดนักโดยใช้ลำต้นของไม้หมาก หรือไม้ไผ่ หรือไม้หลาโอน (เหลาชะโอน) ยาวประมาณ 3 เมตร เอาเปลือกหยาบภายนอกตบแต่งให้ลื่น ถ้าเป็นไม้ไผ่มักใช้ไม้ไผ่ตงเพราะลำใหญ่ ไม่ต้องเอาผิวออก เพียงแต่เกลาข้อออกแล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมจนทั่วเพื่อเพิ่มความลื่นให้มากขึ้น เอาโคนเสาฝังดิน ปลายเสาใช้ไม้ทำแผงติดไว้ พร้อมกับผูกเชือกไว้ใต้แผงปลายเชือกผูกขนมต่าง ๆ ของเปรตห้อยไว้ จัดให้บุตรหลานของเปรตปีนขึ้นไปชิงขนมเหล่านั้นแทนเปรต ใครปีนขึ้นไปชิงได้มากก็ให้รางวัลมาก ได้น้อยให้รางวัลน้อยลดลงตามส่วน จัดผู้ปีนให้ขึ้นไปทีละคนโดยให้นุ่งแต่ผ้า ห้ามสวมเสื้อ ห้ามสวมร้องเท้า ทั้งนี้เกรงเสื้อและรองเท้าจะเช็ดน้ำมันออกเสียเมื่อปีนขึ้นไปจะทำให้ความลื่นลดลง ก็จัดเป็นการเล่นที่สนุกสนานได้มาก น้อยคนที่จะปีนขึ้นไปได้ ส่วนใหญ่จะลื่นตกลงมา การปีนเสาขึ้นชิงเปรตนี้ จะกระทำหลังจากร่วมชิงกันที่ร้านเปรตแล้วเสาที่ทำดังกล่าวก็ถือกันว่าเป็นร้านเปรตอีกชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีเสาเดียวและอยู่สูง ขึ้นชิงได้เพียงครั้งละคน ไม่เหมือนกับร้านเปรตเตี้ย ๆ ซึ่งไม่ต้องปีนป่ายขึ้นไปและเข้าชิงได้พร้อมกันหลังจากนั้นก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทานโดยใช้เหรียญสตางค์โยนไปทีละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชนที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างสนุกสนาน


ร้านเปรตแบบมีเสาต้นเดียว


        ยังมีเปรตชนอยู่อีกพวกหนึ่งซึ่งมีบาปหนา ไม่กล้าเข้าไปรับอาหารที่ลูกหลานเอาไปวางไว้ให้บนร้านเปรตในเขตวัด ได้แต่เลียบ ๆ เคียง ๆ อยู่ริมรั้วชายวัด บรรดาลูกหลานทั้งหลายจึงได้นำอาหารขนมดังกล่าวไปตั้งเปรตกันนอกเขตวัด เป็นการตั้งเปรตแบบวางกับพื้นดิน ตั้งให้เปรตชนบนพื้นดิน พื้นหญ้าหรือตามคาคบไม้เตี้ย ๆ เมื่อตั้งเปรตแล้วลูกหลานอาจแย่งชิงกันก็เป็นอันเสร็จสิ้นการชิงเปรตสำหรับปีนั้น บรรดาเปรตชนทั้งหลาย ก็ได้รับส่วนบุญซึ่งลูกหลานอุทิศให้และชิงให้ แล้วกลับไปสู่เปรตภูมิ คอยโอกาสจะได้กลับมาพบกับลูกหลานอีกในวันชิงเปรตปีต่อไป
 

ประเพณีการเกิด                    ประเพณีแห่นางกระดาน