เพราะว่าเป็นเมืองพระ เป็นฐานสำคัญของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยตลอดมา จังหวัดนครศรีธรรมราชจึงมีวัดวาอารามมากมาย เฉพาะในตัวเมืองนั้นมีวัดกว่า 50 วัด แต่คงเหลืออยู่ไม่ครบแล้วด้วยหลายวัดได้ร้างราลงไป เช่น วัดเทวราช วัดท่าช้างอารามหลวง วัดพระเงิน วัดดิงดง เป็นต้น สำหรับวัดสำคัญในอดีตและยังคงน่าสนใจในปัจจุบันคือ วัดที่มีคำกล่าวถึงคล้องจองไว้ว่า
ถ้าอยากเป็นนายให้อยู่ที่วัดท่าโพธิ์ ถ้าอยากกินหนมโคให้อยู่วัดวัง ถ้าอยากเป็นช่างให้อยู่วัดจันทร์ คันอยากเป็นครูให้อยู่วัดท่ามอญ

         วัดท่าโพธิ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่วังเดิมของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ซึ่งอุทิศที่สร้างวัดเมื่อได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองจึงทำกำแพงเป็นรูปพัด พร้อมกับสร้างพระประธานในพระอุโบสถไว้สวยงามมาก ที่วัดนี้เป็นที่สถิตของพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช (ม่วง รัตนธัชโช) พระทันสมัยแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ถวายพระพรขอทางรถไฟสายใต้มายังนครศรีธรรมราช และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจัดการศึกษาของมณฑล
นครศรีธรรมราช ร่วมกับพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น สร้างโรงเรียน สุขุมาภิบาลขึ้นที่วัดท่าโพธิ์เป็นแห่งแรก และต่อมาได้ขยายเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศซึ่งมีอายุครบ 90 ปีในปีนี้ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูและโรงเรียนช่างถมขึ้นในปี พ.ศ. 2448 และ 2456 ตามลำดับ กับยังเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาค้าขายของเมืองนคร ด้วยการแนะนำบรรดาพ่อค้าชาวนครให้พัฒนา อาชีพกิจการใหม่ๆ มากมาย ตลอดจนส่งเสริมการละเล่นเพลงบอกในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเพลงบอกเนตร ชลารัตน์ บรมครูเพลงบอกศิลปินแห่งชาติ ซึ่งล่วงลับไปแล้วก็เป็นศิษย์สำนักนี้ ปัจจุบันกุฏของท่านเจ้าคุณเป็นเรือนตึกสองชั้นขนาดใหญ่สวยงามมีสภาพทรุดโทรมมาก อัฐบริขารที่สำคัญได้นำไปรวบรวมจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาตินครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเตียงไม้แกะสลักที่เศรษฐีปีนังสร้างมาถวายนั้นละเอียดสวยงามมาก สำหรับคำกล่าวว่าถ้าอยากเป็นนายให้อยู่วัดท่าโพธิ์นั้น เพราะมีสถานที่ศึกษาและผู้แนะนำส่งเสริมนั้นเอง

         วัดวัง ในที่นี้หมายถึงวัดวังตะวันตกซึ่งพระครูกาชาด (ย่อง) เป็นที่นับถือของผู้คนทั่วไปนิยมมาบนบานด้วยขนมโค ใครมาอยู่วัดวังมักจะได้กินขนมโคด้วยเหตุนี้ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นวัดวังแห่งนี้ เดิมเคยเป็นวังที่ประทับของเจ้าจอมมารดาปรางซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) แต่เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทราบว่ามีครรถ์มาแล้ว จึงสร้างวังให้ประทับที่ท่าวัง เมื่อสิ้นชีพิตักษัย
เจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้บุตรจึงอุทิศสร้างวัดได้สองวัด ด้วยมีถนนผ่ากลางคือวัดวังตะวันตกและวัดวังตะวันออก ปัจจุบันนี้ในวัดวังตะวันตกมีโบราณสถาน สำคัญคือกุฏทรงไทยซึ่งพระครูกาชาด (ย่อง) และสานุศิษย์ได้ร่วมกันสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2431 ด้วยไม้มีลวดลายแกะสลักงดงาม เฉพาะอย่างยิ่งลวดลายเหล่านั้นมีเอกลักษณ์ความเป็นใต้ไม่เหมือนเรือนไทยหลังใด จึงได้รับการเรียกขานว่ากุฏกลิ่นสะตอ และที่กุฏหลังนี้มีพระครูกาชาด (ย่อง) ใช้เป็นที่พำนักผลิตยาสมุนไพรนานาชนิดแจกจ่ายรักษาผู้คน โดยตำรายา และหนังสือบุดดำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีภาพสวยงามนั้น ขณะนี้จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

         วัดจันทร์ เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในย่านท่าวังและมีชื่อในเชิงช่าง สิ่งก่อสร้างทั้งพระอุโบสถ เจดีย์และกุฏิจึงสวยงามด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ เสียดายว่าพระอุโบสถนั้นถูกดัดแปลงเรื่อยมา ภาพจิตรกรรม ฝาฝนังก็ถูกลบหมด แต่พระประธานในพระอุโบสถนั้นสวยงามน่าเสื่อมใส กุฏิทรงปั้นหยาเอกลักษณ์เฉพาะปักษ์ใต้ที่นี้มีลวดลายฉลุสวยงาม หมู่เจดีย์มีทรวดทรงต่างๆ เรียงรายและที่สำคัญยิ่งคือศิลป
โบราณวัตถุของวัดนี้แม้จะมีสูญหายไปมากแล้วแต่ตู้พระธรรมลายรดน้ำมากกว่า 5 ตู้กับพระลากปางอุ้มบาตรที่ทำด้วยเงิน ซึ่งคหบดีชาวท่าวังสร้างถวายสะสมมานานนั้น มีคุณค่าควรการการรักษาไว้อย่างยิ่ง ที่วัดนี้ยังพบมีภาพพุทธประวัติวาดบนกระจกใส่กรอบแขวนไว้ 1 ชุดด้วย นับว่าเป็นวัดช่างอย่างแท้จริง อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีฝีมือโดดเด่นในเชิงช่างก็ถือกำเนิดและมีชีวิตวัยเยาว์ที่หน้าวัดจันทร์แห่งนี้นี่เอง

        ส่วนที่วัดท่ามอญหรือวัดศรีทวีในปัจจุบันนั้น ในสมัยท่านพระจุฬ เป็นเจ้าอาวาสมีลูกศิษย์มากมาย สำนักสอนของท่านมีชื่อเสียงสร้างคนเป็นครูจึงได้รับการกล่าวขานเช่นนั้น วัดอื่นๆ นอกจากนี้ต่างก็มีข้อเด่นเฉพาะวัดต่างๆ กันไป วัดแจ้งมีเก๋งจีนบรรจุอัฐิเจ้าพระยานคร (หนู) และหม่อมทองเหนี่ยว, วัดประดู่มีเก๋งจีนบรรจุอัฐิของเจ้าพระยานคร (น้อยหรือน้อยกลางยังไม่ยุติ) และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, วัดใหญ่มีหลวงพ่อพระใหญ่ชัยมงคล วัดมเหยงค์มีพระอุโบสถลายปูนปั้นละเอียดวิจิตร, วัดเสมาเมืองมีหลวงพ่อเสมาชัยและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์, วัดสวนป่านมีพระอุโบสถและจิตรกรรม ฝาผนังสมัยใหม่ฝีมือของนายแนบ ทิชินพงศ์, วัดสะเรียงซึ่งเคยมีพระพุทธรูปไม้จำหลักและหน้าบันพระอุโบสถไม้จำหลักสวยงาม ปัจจุบันเก็บรักษาแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช, วัดหน้าพระลานมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และพระประธานทรงเครื่อง, วัดสวนหลวงมีพระอุโบสถฝาผนังประดับปูนปั้นแปลกตา, วัดท้าวโคตรมีเจดีย์ท้าวโคตรและพระอุโบสถเก่าพร้อม จิตรกรรมฝาผนังแต่เลอะเลือนมากแล้ว, วัดชายนามีสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐานซึ่งครั้งหนึ่งพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เคยมาสร้างให้เป็นสาขาของสวนโมกข์และให้ชื่อว่าสวนปันตาราม นอกเมืองออกไปนั้นมีมากมายหลายวัดแต่ที่สำคัญมีวัดธาตุน้อยที่สถิตของพ่อท่านคล้ายในอำเภอฉวาง, วัดถลุงทองที่สถิตของพ่อท่านคลิ้ง ในอำเภอร่อนพิบูลย์, วัดเขาขุนพนม ซึ่งนอกจากมีถ้ำแล้วยังมีพระอุโบสถแบบมหาอุตม์ สำหรับประกอบพิธีปลุกเสกสร้างขวัญในการออกสงคราม, วัดไตรวิทยาราม ที่ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง ประดิษฐานพระธาตใสใหญ่อยู่บนยอดเขาก่อนเข้าเมืองทุ่งสง และวัดเขาปรีดีที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟทุ่งสง
     

        ส่วนศิลปหัตถกรรมของเมืองนครศรีธรรมราชนั้นมีมากกว่าจังหวัดใดๆ ในภาคใต้ นอกเหนือจากเครื่องถม เครื่องเงินสามกษัตริย์ เครื่องทองเหลืองแล้วงานแกะสลัก จักสานตลอดจนทอผ้าที่เมืองนครก็ไม่แพ้เมืองไหน เฉพาะงานแกะสลัก นั้นช่างแกะสลักชาวนครสองคนคือ นายอ่ำ ศรีสัมพุทธ และหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ก็ได้รับการประกาศให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมแห่งชาติแล้วเมื่อปี 2530 และ 2531 จากผลงานแกะสลักไม้และไม้เท้า และการแกะสลักลวดลายตัวหนังตามลำดับ เฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานของนายอ่ำ ศรีสัมพุทธ มากกว่า 50 ชิ้นนั้นได้มอบให้ไว้เป็นสมบัติของชาติ ตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาตินครศรีธรรมราชแล้ว

        งานจักสานของเมืองนครนั้นย่านลิเพา หนึ่งในศิลปาชีพก็เริ่มต้นฟื้นฟูไปจากนครศรีธรรมราช โดยปัจจุบันมีการทำกันมากในเขตบ้านหมนสองข้างทางถนนนครศรีธรรมราช-สงขลา, กระจูดมีทำที่ชะอวด, พัดใบพ้อมีทำกันที่บ้านโคกยาง ข้างทางสายนครศรีธรรมราช-ทุ่งสง, เครื่องปั้นดินเผามีทำที่บ้านหัวตะพานและบ้านเตาหม้อ (นอกไร่-สะพานยาว) สุดท้ายคือการทอผ้าเมืองนครนับเป็นผ้าชั้นเยี่ยมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีทั้งที่ทอด้วยด้ายเงินด้ายทองทีเดียว

อัลบั๊มภาพ
  วัดท่าโพธิ์...
  วัดวังตะวันตก...
  วัดจันทาราม...
  วัดแจ้ง...
  วัดสระเรียง...
  ผลงานอ่ำ ศรีสัมพุทธ...
  ผลงานหนังสุชาติ ทรัพย์สิน...
  จักสานย่านลิเพา...


เครื่องถมสามกษัตริย์ HOME ครบสิ้นกุ้งปู