หลักเมืองนครศรีธรรมราช
        ประวัติของเมืองนครศรีธรรมราช จากการขุดค้นและโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ สามารถย้อนไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นับพันหมื่นปี จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานบันทึกปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินเรือ และพ่อค้าชาวอินเดีย อาหรับและจีน ในชื่อว่า ตามพรลิงค์ บ้าง กะมะลิง  บ้าง ตั้งมาหลิ่ง  บ้าง ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 600-700 และชุมชนนครศรีธรรมราชได้พัฒนาจนเป็นชุมชนใหญ่ รับอิทธิพลศาสนาพราหมณ์จากอินเดียตลอดแนวชายฝั่ง ตั้งแต่เขตสิชลจนถึงเขตตำบลท่าเรือของอำเภอเมืองในปัจจุบัน มีโบราณสถานหลงเหลืออยู่มากมาย โดยเฉพาะที่บริเวณ อุทยานประวัติศาสตร์เขาคา
และเขตอำเภอสิชลซึ่งได้ค้นพบเทวรูปพระวิษณุศิลา ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเซียอาคเนย์คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 9-10 กับยังพบศิลาจารึกขนาดใหญ่ ที่เก่าแก่ที่สุดหลักหนึ่งของประเทศไทย คือมีอายุครั้งพุทธศตวรรษที่ 11 ณ หุบเขาช่องคอย อำเภอร่อนพิบูลย์ มีข้อความบูชาพระศิวะและเชิดชูคนดีว่า "ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใดความสุขและผล(ประโยชน์) จักมีแก่ชนเหล่านั้น" อีกด้วย
        หลังพุทธศตวรรษที่ 10 เริ่มพบร่องรอยพุทธศาสนาในนครศรีธรรมราช และเชื่อว่านครศรีธรรมราชพัฒนาจนเป็นศูนย์กลาง ของอาณาจักรศรีวิชัย ดังปรากฏหลักฐานบน ศิลาจารึกหลักที่ 23 วัดเสมาเมืองที่จารึกไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 1318 ว่า "พระเจ้ากรุงศรีวิชัยผู้ประกอบด้วยคุณความดีและเป็นเจ้าแห่งพระราชาทั้งหลาย ในโลกทั้งปวงได้ทรงสร้างปราสาทอิฐทั้งสามนี้ เป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือดอกบัว (คือปทุมปาณี) พระผู้ผจญพระยามาร (คือพระพุทธเจ้า) และพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือวัชระ (คือวชรปาณี) พระองค์ได้ถวายปราสาททั้งสามนี้แก่บรรดา พระชินราชอันประเสริฐสุดซึ่งสถิตอยู่ในทศทิศ ณ สถานที่แห่งนี้ "ร่วมกับศิลจารึกอีกหลายหลัก เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 29 วัดพระบรมธาตุเมืองนคร ภาษาทมิฬ พุทธศตวรรษที่ 9-10, ศิลาจารึกหลักที่ 28 วัดพระบรมธาตุเมืองนคร ภาษา มอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 12 และศิลาจารึกหลักที่ 27 วัดมเหยงค์ ภาษาสันสกฤตอักษรคล้ายเขมร พุทธศตวรรษที่ 12-14 ที่จารึกไว้ว่า "...บุญกุศลอื่นๆ ตามคำสอนคือการปฏิบัติพระธรรมไม่ขาดสักเวลา การบริบาลประชาราษฎร์ การทนต่ออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ การชำนะอินทรีย์..."

        นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากจดหมายเหตุพงศาวดารของชนชาติต่างๆ ซึ่งเรียกชื่อนครศรีธรรมราชต่างๆ กันไปดังนี้ ตามพลิงคม,ตามพรลิงค, มาหมาลิงคม, ตั้งมาหลิ่ง, ตันมาลิง, ตมลิงคาม, ตามพรลิงเกศวร, ตามโพลิงเกศวร, โฮลิง, โพลิง, เชียะโท้ว, โลแค็ก, ลิกอร์, ละคอน,คิวคูตอน,สิริธรรมนคร, ศรีธรรมราช, สุวรรณปุระ,ปาฏลีบุตร, ชิหลีโฟซี, ชวกะ, ซาบัก

        ช่วงที่นครศรีธรรมราชมั่นคงที่สุดในประวัติศาสตร์คือในพุทธศตวรรษที่ 17-19 อันเป็นรัชสมัยของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ซึ่งได้สถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ลงในนครศรีธรรมราชอย่างมั่นคง ก่อนที่จะแผ่ขยายไปยังดินแดนของแหลมทอง นครศรีธรรมราชครั้งนั้นกว้างขวาง มีเมืองขึ้นรายรอบ 12 เมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตรตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงเมืองปาหัง กลันตันและไทรบุรี กับนครศรีธรรมราชยังเคยกรีฑาทัพเรือที่มีแสนยานุภาพไปตีลังกาถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังพบร่องรอยความสัมพันธ์และยกทัพสู้รบระหว่างกันของนครศรีธรรมราชกับเขมรโบราณ ละโว้ ตลอดจนชวาโบราณอีกด้วย

        หลังจากพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นครศรีธรรมราชเข้ารวมอยู่ในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยตลอดมาจนอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ทั้งในฐานะเมืองประเทศราช เมืองพระยามหานครและหัวเมืองเอกเป็นหลักเมืองเดียวของไทยทางภาคใต้ตลอดมา เป็นแหล่งวิทยาการความรู้ ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาและการค้าขายต่างชาติทั้งกับจีน อินเดีย และชาวยุโรป และเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ระส่ำระสายในราชธานีนครศรีธรรมราชก็จะมีบทบาทแข็งขันขึ้นมา เช่น ครั้งผลัดเปลี่ยนแผ่นดินพระเจ้าอาทิตยวงศ์ผู้เยาว์เมื่อ พ.ศ. 2172 ซึ่งพระยากลาโหมสุริยวงศ์ต้องการขึ้นครองราชแทน โดยวางแผนกำจัดออกยาเสนาภิมุข (ยามาดา)เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นผู้มีอำนาจมากในกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้น ให้ออกไปเสียจากกรุงศรีอยุธยา ขณะที่นครศรีธรรมราช ซึ่งกบฏเพราะเห็นความวุ่นวายในกรุง จึงถูกกำหนดมอบหมายให้ออกญาเสนาภิมุขยกทัพไปปราบสำเร็จ แต่ออกญาเสนาภิมุขก็เสียที่กบฏที่ปัตตานีบาดเจ็บ แล้วถูกยาพิษของพระยามะริด ที่ออกมาช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่กรรมลงพร้อมกับพระยากลาโหมสุริยวงศ์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้าปราสาททอง นครศรีธรรมราชจึงกบฏตั้งตนเป็นอิสระอีก แต่ก็ถูกปราบลงด้วยทัพของกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบหนึ่ง

        ครั้งต่อมา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งศรีปราชญ์กวีเอกในสมัยนั้น ก็ถูกเนรเทศมาจบชีวิตที่นครศรีธรรมราช ครั้นสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2227 พระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นครองราช เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏอีกครั้งซึ่งกว่าจะตีแตกต้องรบพุ่งกันอยู่นานถึง 3 ปี จากนั้นนครศรีธรรมราชได้มีสัมพันธภาพที่ดีกับกรุงศรีอยุธยาช่วงสั้นๆ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุมากมายทั้งองค์พระบรมธาตุ เจดีย์ ลายปูนปั้นพระมหาภิเนกษกรรมและพระวิหารหลวง แต่พอสิ้นรัชกาลกรุงศรีอยุธยาก็ระส่ำระสายกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พระปลัดหนูเมืองนครศรีธรรมราช จึงรวบรวมผู้คนตั้งตัวเป็นชุมชุมเจ้านครศรีธรรมราช แล้วรบพุ่งแพ้ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทรงมีพระราชดำริว่า เจ้านครไม่มีความผิดที่ได้รบพุ่งกันก็เพราะต่างคนต่างถือตัวเป็นใหญ่ หลังกรุงแตก ไม่ทรงลงความเห็นว่าเจ้านครเป็นขบถ ทรงให้กลับออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราชอีก เป็นพระเจ้าขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา มีเกียรติเสมอเจ้าประเทศราช ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงปรารภเรื่องสืบสันตติวงศ์โดยให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ลูกเธอองค์หนึ่งครองกรุงกัมพูชา ให้เจ้าทัศพงศ์ลูกเธอองค์หนึ่งซึ่งภายหลังเป็นพระพงศ์นรินทร์ ซึ่งเป็นหลานเจ้านครครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนกรุงธนบุรีนั้นจะมอบราชสมบัติประทานเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ที่เรียกว่าเจ้าฟ้าเหม็น ด้วยเป็นพระราชนัดดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชไว้

        ในตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ นครศรีธรรมราชนอกจากจะเป็นแหล่งศิลปวิทยาการ ตลอดจนแบบแผนประเพณี และพระไตรปิฏกซึ่งกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ต้องคัดลอก เพราะของเดิมที่กรุงศรีอยุธยา ถูกพม่าทำลายเสียหายมากแล้ว นครศรีธรรมราชภายใต้การปกครองของเจ้านครนับแต่เจ้านครหนู, เจ้านครพัฒน์, เจ้านครน้อย ยังเจริญก้าวหน้า ปกครองหัวเมืองภาคใต้ตลอดจนมลายูสงบราบคาบกับยังเป็นสถานีค้าขายที่สำคัญของชาติตะวันตกอีกด้วย ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จักรีกับสายเจ้านครก็ผูกพันแน่นแฟ้น เช่น คุณหญิงนุ้ยใหญ่ บุตรีเจ้าพระยานครพัฒน์ ถวายทำราชการในพระราชวังหลวงในรัชกาลที่ 1 มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอรุโณทัย ได้เป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพในรัชกาลที่ 2, และเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพในรัชกาลที่ 3 ท่านผู้หญิงอิน ภรรยาเจ้าพระยานครน้อยเป็นราชนิกูลตระกูล ณ บางช้าง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่าพี่อิน และบุตรีของเจ้าพระยา นครน้อยกับท่านผู้หญิงอิน 2 คนก็ได้ถวายเป็นเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่และเจ้าจอมมารดาน้อยเล็กในรัชกาลที่ 3

        ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ทรงให้มีการปกครองแบบเทศาภิบาล เจ้าพระยานครน้อยกลางจึงลดอำนาจลง ทรงให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. 2439 นครศรีธรรมราช จึงลดฐานะลงมาตามลำดับ และเป็นที่หนึ่งใน 73 จังหวัดในที่สุด โดยครั้งหนึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ มาดำรงตำแหน่งอุปราชปักต์ใต้ ประทับ ณ วังโพธิยายรด จังหวัดนครศรีธรรมราช (รพ.มหาราชนครศรีธรรมราชปัจจุบัน) ประวัติศาสตร์ระยะ 50 ปี ที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในนครศรีธรรมราชก็คือภัยภิบัติ 3 ครั้ง ตั้งแต่สงครามมหาเอเซียบูรพาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484, มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก 24-25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 และมหาอุทกธรณีภัยเมืองนคร 22-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531
อัลบั๊มภาพ
แหลมตะลุมพุก - อ่าวนคร ถ่ายจากดาวเทียมแลนด์แซท...
เทวสถานศาสนาพราหมณ์...
ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยเมืองนคร...
แผนที่เมืองนคร...
กำแพงเมืองนคร...
ตราประทับประจำตระกูล ณ นคร...
เครื่องใช้...
ถ้ำเขาขุนพนม
เจ้าพ่อดำ(อนุสาวรีย์วีระไทย)...
มหาวาตภัย2505 ...
มหาอุทกธรณีภัย 2531...
ภาพมหาอุทกธรณีภัย 2531...


HOME พระธาตุทองคำ