นครศรีธรรมราชมีพระธาตุทองคำ

          องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชยอดทองคำ ของเมืองนครศรีธรรมราชนับเป็นหนึ่งในมหาเจดีย์ของชาติไทย เป็นที่สักการบูชา แหล่งรวมศรัทธาของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งชาติ ไม่เพียงแต่เฉพาะชาวภาคใต้หรือชาวนครเท่านั้น

          ตามตำนานนั้นเชื่อว่า พระนางเหมชาลาและพระทนทกุมาร สองราชโอรส ธิดา ของกษัตริย์เมืองทนทบุรี ประเทศอินเดีย เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหนีข้าศึกมาขึ้นฝั่งและประดิษฐานไว้ ณ หาดทรายแก้วตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 10 กระทั่งประมาณ พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้มาสถาปนาชุมชนนครศรีธรรมราชขึ้น ทำการก่อพระสถูปเจดีย์ อุปถัมภ์เผยแพร่พระพุทธศาสนากว้างขวางไปพร้อมกับความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนจรกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรมในสมัยนั้นอันตรงกับยุคสมัยแห่งราชอาณาจักรศรีวิชัยนั่นเอง

พระนางเหมชาลาผู้อัญเชิญ
พระบรมสารีริกธาตุ
มาสู่หาดทรายแก้ว เมืองนคร

พระเจ้าศรีธรรมโศกราช
ในพระวิหารสามจอม

          กษัตริย์ราชวงศ์ศรีธรรมราชโศกราชได้ทำนุบำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์สืบมา กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุราวปี พ.ศ. 1770 ซึ่งนครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์กับลังกา พระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานลัทธิลังกาวงศ์จึงได้มาสถาปนาบนแหลมทองที่นครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะแพร่หลายไปทั่วในเวลาต่อมา ทั้งที่กรุงสุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง อยุธยาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ในสมัยปัจจุบัน และในครั้งนั้นเองที่พระเจ้าจันทรภาณุทรงให้มีการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครครั้งสำคัญ โดยบูรณะตามแบบสถาปัตยกรรมของลังกาเป็นรูปทรงระฆังหรือโอคว่ำมีช้างล้อมรอบส่วนยอดแหลมสูงดังที่ปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน และยังเป็นแบบอย่างของสถูปเจดีย์ทั่วประเทศในปัจจุบัน เช่นที่วัดช้างล้อม สุโขทัย, วัดสวนดอก เชียงใหม่, วัดช้างรอบ กำแพงเพชร, วัดพระศรีสรรเพชญ อยุธยา



องค์พระบรมธาตุเจดีย์           องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชมีขนาดใหญ่และสูงสง่ายิ่ง ด้วยความสูงจากยอดถึงฐาน 37 วา บนยอดสุดแขวนตะกร้าเพชรนิลจินดาไว้โดยช่วง 6 วา 1 ศอกบนยอดนั้นหุ้มไว้ด้วยแผ่นทองคำขนาดหนาเท่าใบลานน้ำหนักถึง 800 ชั่ง (960 กิโลกรัม) เย็บร้อยรัดไว้ด้วยเส้นด้ายทองคำประดับอัญมณีมีค่านานาชนิดที่พุทธศาสนิกชนครั้งนั้นนำมาถวายไว้เป็นพุทธบูชา กลีบบัวคว่ำบัวหงายที่รองรับยอดทองคำก็หุ้มไว้ด้วยแผ่นทองคำเช่นกันก่อนที่จะถึงปล้องไฉนจำนวน 52 ปล้อง ซึ่งแฝงไว้ด้วยคติพุทธธรรมที่ล้ำลึกว่า จำนวนปล้องไฉน 52 ปล้องนี้แทนเวลา 5,200 ปี โดยปล้องแรกคือ 100 ปีแรกเป็นศตวรรษที่ พระพุทธเจ้าพระสมณโคดม ประสูติ - ปรินิพพาน ส่วนปล้องไฉน 50 ปล้องกลางแทนระยะ
เวลา 5000 ปีที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง สำหรับปล้องไฉนสุดท้ายเป็นระยะเวลา 100 ปี ที่พระศรีอาริยเมตไตรยประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน สืบต่อพระศาสนาหลังจากพระพุทธศาสนาของพระสมณโคดมล่วงแล้ว ถัดจากปล้องไฉนลงมาทำเป็นชั้นบัลลังก์ มีพระเวียนยืนเวียนเป็นทักษิณาวัตร ประณมมือทุกองค์เป็นพระมหาสาวกทั้ง 8 องค์ คือ พระโกญฑัญญะเถระ, พระมหากัสสปเถระ, พระสารีบุตรเถระ, พระอานนท์เถระ, พระควัมปติเถระ, พระโมคคัลลานเถระ, และพระราหุลเถระ ใต้ลงมาเป็นองค์พระธาตุ ส่วนที่เป็นระฆังคว่ำซึ่งมีความสูง 8 วา 1 ศอกและที่ปากระฆังคว่ำนั้นเป็นฐานประทักษิณ ที่รายรอบด้วยใบระกาทองฝีมือช่างสิบหมู่ ตรงสี่มุมเล็กทั้งสี่ซึ่งหลายคนให้ข้อสังเกตว่าน่าจะหมายถึงอริยสัจ 4 อันเป็นหัวใจในพระพุทธศาสนา ที่ผู้ใดก็ตามหากยึดถือปฏิบัติอยู่เป็นนิจในธรรมข้อนี้ ย่อมบรรลุถึงซึ่งพระนิพพานอันหมายเอายอดพระบรมธาตุเจดีย์ที่สูงเด่นห่อหุ้มด้วยทองคำอร่ามอยู่ชั่วกาลนานเป็นนิมิตหมายของผู้คนชาวเมืองนครศรีธรรมราชในยุคนั้นทุกผู้ทุกคน รอบฐานเจดีย์เบื้องล่างนั้นมีช้างโผล่หัวอยู่ในซุ้มเป็นระยะ เพื่อผดุงความมั่นคงแข็งแรงของพระบรมธาตุเจดีย์และพระพุทธศาสนา โดยระหว่างช้างแต่ละเชือกเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางต่างๆ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว ศิลปะครั้งอยุธยาสวยงามมาก ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างหลังคาคลุมไว้เป็นวิหารทับเกษตรเพื่อใช้เป็นที่แสดงธรรมของพระภิกษุสงฆ์ทั้งสามด้าน คือด้านตะวันออกด้านใต้และด้านตะวันตก และเนื่องจากในอดีตมีชาวนครนิยมมาวัดฟังธรรมกันมาก ระหว่างรอคอยพระจึงจัดให้มีผู้มีความรู้ขึ้นอ่านหนังสือให้ฟัง ซึ่งนานเข้าเกิดเป็นประเพณีสวดด้านเป็นทำนองไพเราะเพื่ออ่านหนังสือเล่าเรื่องรอพระ แต่ปัจจุบันนี้หมดไปเสียแล้ว สำหรับด้านทิศเหนือของฐานพระบรมธาตุเจดีย์มีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณโดยตลอดแนวบันไดนั้นเต็มไปด้วยปูนปั้นเป็นพญานาค, ครุฑ, หมี พร้อมกับคำบอกเล่าว่าคือเหล่าสัตว์ผู้พิทักษ์รักษาพระบรมสารีริกธาตุแล้ว เหล่าสัตว์ทั้งหลายจะทำการปกป้อง ผนังบันไดก่อนจะถึงฐานประทักษิณด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธบาท ในขณะที่ด้านทิศตะวันตกนั้นประดิษฐานพระทรงเมือง สุดท้ายที่บานประตูไม้เก่าแก่ครั้งอยุธยาตอนต้นจำหลักเป็นรูปพระพรหมและพระนารายณ์สวยงามมากนับเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมของชาติชิ้นหนึ่ง เช่นกันกับที่ฐานบันไดทั้งสองด้านประดับด้วยปฏิมากรรมลายปูนปั้นขนาดมหึมาปางมหาภิเนกษกรรมเล่าเรื่องครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงหน่ายในเพศฆราวาส ที่พรั่งพร้อมเหล่านางสนมห้อล้อมพร้อมกับพระนางยโสธราพิมพาและราหุลกุมาร ทรงตัดสินพระทัยละทิ้งออกสู่เพศบรรพชิต ออกมาภิเนกษกรรมขี่ม้ากัณฑกะโดยในประติมากรรมที่ล้ำลึกในคุณค่าทางธรรมร่วมกับความวิจิตร นับเป็นศิลปกรรมปูนปั้นครั้งอยุธยาที่สวยงามที่สุดและใหญ่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้อีกชิ้นหนึ่ง ฐานพระบรมธาตุด้านนี้คลุมด้วยพระวิหารพระมหาภิเนกษกรรม หรือที่ชาวนครเรียกกันว่าวิหารพระทรงม้านั่นเอง
โถงบันไดวิหารพระทรงม้า บานประตูไม้ขึ้นสู่ด้านประทักษิณ จำหลักไม้รูปพระพรหมและพระนารายณ์ ศิลปอยุธยาตอนต้นราวพุทธศตวรรษที่ 17-19 นับเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมชั้นหนึ่งของชาติ พระทรงเมือง


          หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าจันทรภาณุแล้ว เมืองนครศรีธรรมราชเริ่มตกต่ำเรื่อยมากว่า 300 ปี พระบรมธาตุเจดีย์ทรุดโทรมลงเป็นลำดับกระทั่งสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์แห่งกรุงศรีอยุธยาหลังกบฏเมืองนครหลายครั้งจนปรับความสัมพันธ์กันได้ ทรงให้ทำการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชครั้งใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าศิลปกรรมต่างๆ ที่คงอยู่ก็คือผลงานการบูรณะครั้งนี้นั่นเอง หลังจากนั้นการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งคือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นำโดย พระปาน เมื่อ พ.ศ. 2434 ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร นามเต็มว่า "พระครูเทพมุนีศรีสุวรรณ์ถูปาฎมาภิบาล" หรือท่านปาน โดยใช้เวลาบูรณะซ่อมแซมพระวิหารรวม 7 พระวิหาร ฐานพระเจดีย์ พระด้านในวิหารคต 172 รูป รวมเวลา 3 ปีเศษ ซึ่งเล่ากันว่าในครั้งนั้นชาวใต้ทั้งไทยและมลายูต่างร่วมแรงร่วมใจกันเข้าบูรณะอย่างยิ่งใหญ่ ไม่เคยปรากฏมาก่อนมีทั้งเรือสำเภา และเรือนานาชนิด ขนข้าวของ ทองคำ เพชรนิลจินดา ของมีค่า ตลอดจนไม้ซุง ปูนและข้าวปลาอาหารตามแต่จะมีเพื่อเข้าร่วมบูรณะในครั้งนั้นมืดฟ้ามัวดิน ขนาดที่ทางการในกรุงต้องเข้ามาดูแล ด้วยเกรงจะเกิดความไม่สงบขึ้น และองค์พระธาตุก็ได้รับการบูรณะกลีบบัวทองคำ ซึ่งหลุดร่วงลงมาเมื่อปี พ.ศ. 2530

กลีบบัวทองคำก่อนบูรณะ          

กลีบบัวทองคำหลังบูรณะ


          นอกจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์แล้ว วัดพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ยังมีโบราณศิลปวัตถุสถานอีกมากมาย ตั้งแต่พระวิหารหลวงที่นับเป็นอุโบสถที่กว้างใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สถาปัตยกรรมงดงามที่สุด ด้วยรูปแบบทรงไทยฐานโค้งปลายเสารเอนรวบเข้าหากัน ช่อดาระกาประดับเพดานงดงามวิจิตรเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระประธานคือ พระศากยมุนีศรีธรรมราช ที่งามสง่าและงดงามที่สุดองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่กลางอุโบสถ เฉพาะหน้าบันของพระวิหารนี้นับว่าเป็นต้นแบบของศิลปกรรมครั้งอยุธยา ที่หลงเหลืออยู่โดยพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทจำลอง ในเมืองโบราณนั้นก็ได้แบบไปจากพระวิหารนี้, ในพระวิหารเขียนซึ่งเดิมมีจิตรกรรมฝาผนัง แม้ถูกลบหมดแล้วแต่ศิลป์โบราณวัตถุที่เก็บรักษาไว้มหาศาลนั้นควรค่าแก่การไปชม พร้อมกับประจักษ์พยานถึงความยิ่งใหญ่ของนครศรีธรรมราช เฉพาะอย่างยิ่งคือต้นไม้เงินต้นไม้ทองจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งขนาดเล็กๆ จนต้นโตใหญ่ พระพุทธรูปทองและเงินมากมาย กับเครื่องประดับร่างกายโบราณ ทั้งแหวน เข็มขัด ปิ่นปักผม สายสร้อย และเครื่องใช้ เช่น เขี่ยนหมากทองและเงิน มากมายคณานับที่พุทธศาสนิกชนนำมาถวายไว้เป็นพุทธบูชา ในวิหารโพธิลังกา นอกจากพระพุทธไสยาสน์แล้ว ยังมีตู้เสื้อผ้าและหีบศพ ของเจ้าพระยานคร แสดงไว้ร่วมกับสิ่งอื่นๆ มากมาย รวมทั้งศิลาจารึกโบราณนับพันปี พระพุทธรูปต่างๆ เครื่องสังคโลกและเบญจรงค์ ฯลฯ ส่วนวิหารเล็กๆ อื่นๆ เช่น วิหารพระสังกัจจาย มีปืนใหญ่โบราณของชาติตะวันตกมากมายตกแต่งไว้ วิหารธรรมศาลามีรูปพระนางเหมชาลาและพระทนทกุมาร วิหารสามจอมมีรูปพระเจ้าศรีธรรมโศกราชกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ และพระราชวงศ์ตลอดจนต้นตระกูล ณ นคร อีกด้วย ทั้งหมดนี้รายล้อมองค์พระบรมธาตุเจดีย์อยู่ในบริเวณพระวิหารคต ซึ่งมีพระพุทธรูป 173 องค์ เรียงรายอยู่ โดยบริเวณว่างอื่นๆ นั้นแวดล้อมด้วยเจดีย์บริวารเสียดยอดอยู่สลับซับซ้อน

ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง บูชาพระบรมธาตุ

พระวิหารคต

เจดีย์บริวารเสียดยอดอยู่สลับซับซ้อน


          ด้านนอกพระวิหารคตนั้น นอกจากพระวิหารหลวงแล้ว มีเจดีย์หินจากเมืองจีน ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และมีหอพระพุทธบาทจำลองสร้างเป็นมณฑป บนเนินดินสูงด้านทิศใต้

พระวิหารหลวง


          นอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาและโบราณสถานที่สำคัญแล้ว วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชยังเป็นบ่อเกิดและแหล่งรวมของผู้คน ศิลปวัฒนธรรมประเพณีมากมาย ประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ และประเพณีตักบาตรธูปเทียนนั้นเป็นประเพณีที่เกิดขึ้น ณ ที่นี้โดยแท้ เพราะไม่ปรากฏพบที่อื่นอีกเลย รวมถึงประเพณีการสวดด้าน ที่หลายฝ่ายสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นต้นตอของการสวดโอเอ้วิหารรายในกรุงเช่นกัน โดยประเพณีประจำภาคแล้ว ส่วนประเพณีตักบาตรธูปเทียนนั้น ชาวบ้านยังถือปฏิบัติแบบบ้านๆ อยู่ ในขณะที่ประเพณีสวดด้านและสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น หมดสิ้นไปแล้วทั้งที่นครศรีธรรมราชและกรุงเทพฯ


เมืองประวัติศาสตร์ HOME ชื่นฉ่ำธรรมชาติ