โนรา
เป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณประมาณอายุตามที่หลายๆ ท่านสันนิษฐานไว้ ตกสมัยศรีวิชัยหรือไม่ก็ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นอย่างมาก ด้วยกาลเวลาผ่านมานานเช่นนี้ ทำให้ประวัติความเป็นมาของโนราเล่าผิดเพี้ยนกัน จนกลายเป็นตำนานหลายกระแส

กระแสที่ ๑ เล่าโดยขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ความว่าพระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมืองๆ หนึ่ง มีชายาชื่อนางศรีมาลา มีธิดาชื่อนางนวลทองสำลี วันหนึ่งนางนวลทองสำลีสุบินว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู ท่ารำมี ๑๒ ท่า มีดนตรีประโคม ได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตระ นางให้ทำเครื่องดนตรีและหัดรำตามที่สุบินเป็นที่ครึกครื้นในปราสาท

วันหนึ่ง นางอยากเสวยเกสรบัวในสนะหน้าวัง คั้นนางกำนัลเก็บถวายให้เสวย นางก็ทรงครรภ์ แต่ยังคงเล่นรำอยู่ตามปกติ วันหนึ่งพระยาสายฟ้าฟาดเสด็จมาทอดพระเนตรการรำของธิดา เห็นนางทรงครรภ์ทรงซักไซ้เอาความจริง ได้ความเหตุเพราะเสวยเกสรบัว พระยาสายฟ้าฟาดทรงไม่เชื่อ และทรงเห็นว่านางทรงทำให้อัปยศ จึงรับสั่งให้เอานางลอยแพ พร้อมด้วยสนมกำนัล ๓๐ คน แพไปติดเกาะกะชัง นางจึงเอาเกาะนั้นเป็นที่อาศัย ต่อมาได้ประสูติโอรส ทรงสอนให้โอรสรำโนราได้ชำนาญ แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทราบ

ต่อมากุมารน้อยซึ่งเป็นโอรสของนางนวลทองสำลี ได้โดยสารเรือพ่อค้าไปเที่ยวรำโนราไปยังเมืองพระอัยกา เรื่องเล่าลือไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด ๆ ทรงปลอมพระองค์ไปดูโนรา เห็นกุมารน้อยมีหน้าตาคล้ายพระธิดา จึงทรงสอบถามจนได้ความจริงว่าเป็นพระราชนัดดา จึงรับสั่งให้เข้าวัง และให้อำมาตย์ไปรับนางนวลทองสำลีจากเกาะกะชัง แต่นางไม่ยอมกลับ พระยาสายฟ้าฟาดจึงกำชับให้จับมัดขึ้นเรือพามา ครั้นเรือมาถึงปากน้ำ จะเข้าเมืองก็มีจระเข้ลอยขวางทางไว้ ลูกเรือจึงต้องปราบจระเข้ ครั้งนางเข้าเมืองแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดได้ทรงจัดพิธีรับขวัญขึ้น และให้มีการรำโนราในงานนี้โดยประทานเครื่องต้น อันมีเทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาลพาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่กุมารน้อยราชนัดดาเป็นขุนศรีศรัทธา

ตำนานกระแสนี้ ยังมีเล่าเป็นคำกาพย์ไว้ด้วย ใจความอย่างเดียวกันว่า
 
นางนวลทองสำลี

เป็นบุตรีท้าวพระยา
 
  นรลักษณ์งามนักหนา จะแจ่มดังอัปสร  
  เทวาเข้าไปดลจิต ให้เนรมิตเทพสิงหล  
  รูปร่างอย่างขี้หนอน ร่อนรำง่าท่าต่างกัน  
  แม่ลายฟั่นเฟือน กระหนกลัวแต่เครือวัลย์  
  บทบาทกล่าวพาดพัน ย่อมจำแท้แน่หนักหนา  
  จำได้สิบสองบท ตามกำหนดในวิญญาณ์  
  เมื่อฟื้นตื่นขึ้นมา แจ้งความเล่าเหล่ากำนัล  
  แจ้งตามเนื้อความฝัน หน้าที่นั่งของท้าวไท  
  วันเมื่อจะเกิดเหตุ ให้อาเพศกำจัดไกล  
  ให้อยากดอกมาลัย อุบลชาติผลพฤกษา  
  เทพบุตรจุติจากสวรรค์ เข้าทรงครรภ์นางฉายา  
  รู้ถึงพระบิดา โกรธโกรธาเป็นฟุนไฟ  
  ลูกชั่วร้ายทำขายหน้า ใส่แพมาแม่น้ำไหล  
  พร้อมสิ้นกำนัลใน ลอยแพไปในธารัง  
  พระพายก็พัดกล้า เลก็บ้าพ้นกำลัง  
  พัดเข้าเกาะกะชัง นั่งเงื่องงงอยู่ในป่า  
  ร้อนเร้าไปถึงท้าว โกสีย์เจ้าท่านลงมา  
  ชบเป็นบรรณศาลา นางพระยาอยู่อาศัย  
  พร้อมสิ้นทั้งฟูกหมอน แท่นที่นอนนางทรามวัย  
  ด้วยบุญพระหน่อไท อยู่เป็นสุขเปรมปรีดิ์  
  เมื่อครรภ์ถ้วนทศมาส ประสูติราชจากนาภี  
  เอกองค์เอี่ยมเทียมผู้ชาย เล่นรำได้ด้วยมารดา  
  เล่นรำตามภาษา ตามวิชาแม่สอนให้  
  เล่นรำพอจำได้ เจ้าเข้าไปเมืองอัยกา  
  เล่นรำตามภาษา ท้าวพระยามาหลงใหล  
  จีนจามพราหมณ์ข้าหลวง ไปทั้งปวงอ่อนน้ำใจ  
  ท้าวพระยาสายฟ้าฟาด เห็นประหลาดใจหนักหนา  
  ดูนรลักษณ์และพักตรา เหมือนลูกยานวลทองสำลี  
  แล้วหามาถามไถ่ เจ้าเล่าความไปถ้วนถี่  
  รู้ว่าบุตรแม่ทองสำลี พาตัวไปในพระราชวัง  
  แล้วให้รำสนองพระบาท ไทธิราชสมจิตหวัง  
  สมพระทัยหัทยัง ท้าวยลเนตรเห็นความดี  
  แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง สำหรับองค์พระภูมี  
  กำไลใส่กรศรี สร้อยทับทรวงแพรภูษา  
  แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง คล้ายขององค์พระราชา  
  แล้วจดคำจำนรรจา ให้ชื่อว่าขุนศรีศรัทธา  


กระแสที่ ๒
เล่าโดยโนราวัด จันทร์เมือง ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความว่า
ท้าวมัทศิลป์ นางกุญเกสี เจ้าเมืองปิญจา มอบราชสมบัติให้เจ้าสืบสาย ราชโอรสขึ้นครองแทน โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดและมอบพี่เลี้ยงให้ ๖ คน ชื่อนายทอง นายเหม นายบุษป์ นายวงศ์ นายตั้น และนายทัน โดยแต่งตั้งให้คนแต่ละคนมีบรรดาศักดิ์และหน้าที่ดังนี้ นายทองเป็นพระยาหงส์ทอง ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายขวา นายเหมเป็นพระยาหงส์เหมราช ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายซ้าย นายบุษป์เป็นขุนพิจิตรบุษบา ตำแหน่งปลัดขวา นายวงศ์เป็นพระยาไกรยวงศา ตำแหน่งปลัดซ้าย นายตั้นเป็นพระยาหริตันปัญญา ตำแหน่งขุนคลัง และนายทันเป็นพระยาโกนทันราชาให้เป็นใหญ่ฝ่ายปกครอง

เจ้าพระยาฟ้าฟาดมีชายาชื่อศรีดอกไม้ มีธิดาชื่อนวลสำลี นางนวลสำลีมีพี่เลี้ยง ๔ คน คือ แม่แขนอ่อน แม่เภา แม่เมาคลื่น และแม่ยอดตอง เมืองนางนวลสำลีเจริญวัย พระอินทร์คิดจะให้มีนักรำแบบใหม่ขึ้นในเมืองกุลชมพู เพิ่มจากหัวล้านชนกันและนมยานตีเก้งซึ่งมีมาก่อน จึงดลใจให้นางนวลสำลีอยากกินเกสรบัว ขณะที่นางกินเกสรบัว พระอินทร์ก็ส่งเทพบุตรไปปฏิสนธิในครรภ์ของนาง จากนั้นมานางรักนางรักแต่ร้องรำทำสนุกสนานแม้เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจะห้ามปราม แต่พบลับหลังก็ยิ่งสนุกสนานยิ่งขึ้น เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งเนรเทศโดยให้จับลอยแพพร้อมด้วยพี่เลี้ยงไปเสียจากเมือง พระยาหงส์ทองกับพระยาหงส์เหมราชเห็นเช่นนั้นจึงวิตกว่า ขนาดพระธิดาทำผิดเพียงนี้ให้ทำโทษถึงลอยแพ ถ้าตนทำผิดก็ต้องถึงประหาร จึงหนีออกจากเมืองเสีย

แพของนางนวลสำลีลอยไปติดเกาะกะชัง นางคลอดบุตรที่เกาะนั้นให้ชื่อว่าอจิตกุมาร เมื่ออจิตกุมารโตขึ้นก็หัดร้องรำด้วยตนเอง โดยดูเงาในน้ำเพื่อรำให้สวยงาม และสามารถรำท่าแม่บทได้ครบ ๑๒ ท่า ต่อมาข่าวการรำแบบใหม่นี้ได้แพร่ไปถึงเมืองปิญจา เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงให้คนไปรับมารำให้ชาวเมืองดู คณะของอจิตกุมารถึงเมืองปิญจาวันพุธตอนบ่ายโมง เมื่ออจิตกุมารรำคนก็ชอบหลงใหล ฝ่ายนางนวลสำลีและพี่เลี้ยงได้เล่าความหลังให้อจิตกุมารฟัง อจิตกุมารจึงหาทางจนได้เฝ้าพระเจ้าตา เมื่อทูลถามว่าที่ขับไล่นางนวลสำลีนั้นชาวเมืองชอบใจหรือไม่พอใจ เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าไม่รู้ได้ แต่น่าจะพอใจ เพราะเห็นได้จากที่พระยาหงส์ทองและพระยาหงส์เหมราชหนีไปเสียคงจะโกรธเคืองในเรื่องนี้ อจิตกุมารถามว่าถ้าพระยาทั้งสองกลับมาจะชุบเลี้ยงหรือไม่ เมื่อเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าจะชุบเลี้ยงอีก อจิตกุมารจึงทำพิธีเชิญพระยาทั้งสองให้กลับโดยทำพิธีโรงครู ตั้งเครื่องที่สิบสองแล้วเชิญครูเก่าแก่ให้มาดูการรำถวายของเขาและเชิญมากินเครื่องบูชา เมื่อเชิญครูนั้นได้เชิญพระยาทั้งหกซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดขึ้นกินเครื่องบูชาด้วย เมื่อทุกคนได้เห็นการรำก็พอใจหลงใหลแต่เสียตรงที่เครื่องแต่งกายเป็นผ้าเก่าๆ ขาด ๆ จึงหยิบผ้ายกที่จัดไว้เป็นเครื่องบูชาให้เปลี่ยนแทน พอเปลี่ยนแล้วเห็นว่ารำสวยยิ่งขึ้น แจ้าพระยาสายฟ้าฟาดเห็นดังนั้นจึงเปลื้องเครื่องทรงและถอดมงกุฎให้ และกำหนดเป็นหลักปฎิบัติว่า ถ้าใครจะรับดนราไปรำต้งอมีขันหมากให้ปลูกโรงรำกว้าง ๙ ศอก ยาว ๑๑ ศอก ให้โรงรำเป็นเขตกรรมสิทธิ์ของคณะผู้รำ

อจิตกุมารรำถวายครูอยู่ ๓ วัน ๓ คืน พอถึงวันศุกร์จึงเชิญครูทั้งหมดให้กลับไป เสร็จพิธีแล้วเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้เปลี่ยนชื่อธิดาเพื่อให้สิ้นเคราะห์จากนางนวลสำลีเป็นศรีมาลาให้เปลี่ยนชื่อจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน แล้วพระราชทานศรและพระขรรค์ให้ด้วย

จากนั้นพระเทพสิงสอนได้เที่ยวเล่นรำยังที่ต่างๆ พระยา ๔ คนขอติดตามไปเล่นด้วย ขุนพิจิตรบุษบากับพระยาไกรยวงศา เล่นเป็นตัวตลก สวมหน้ากากพราน จึงเรียกขานต่อมาว่าขุนพราน พระยาพราน พระยาโกนทันราชาแสดงการโถมน้ำส่วนพระยาหริตันปัญญาแสดงการลุยไฟให้คนดู จึงได้นามเรียกขานกันต่อมาว่า พระยาโถมน้ำ และพระยาลุยไฟ ตามลำดับ

เมืองปัญจา เจ้าเมืองชื่อท้าวแสงอาทิตย์ ชายาชื่อกฤษณา มีโอรสชื่อศรีสุธน ศรีสุธนมีชายาชื่อกาหนม มีพรานปืน ๑ คน คอยรับใช้ชื่อบุญสิทธิ์ พรานออกป่าล่าเนื้อมาส่งส่วยทุก ๗ วัน ครั้งหนึ่งหาเนื้อไม่ได้ แต่ได้พบนาง ๗ คนมาอาบน้ำที่สระอโนตัด ครั้นกลับมาเข้าเฝ้าพระราชาและทูลว่าหาเนื้อไม่ได้ จึงถูกภาคทัณฑ์ว่าถ้าหาเนื้อไม่ได้อีกครั้งเดียวจะถูกตัดหัว พรานจึงคิดจะไปจับนางทั้ง ๗ คนมาถวายแทนสัก ๑ คน

นางทั้ง ๗ คนเป็นลูกท้าวทุมพร เดิมท้าวทุมพรเป็นนายช่างของเมืองปัญญา ท้าวแสงอาทิตย์ให้สร้างปราสาทให้สวยที่สุด ครั้นสร้างเสร็จท้าวแสงอาทิตย์เกรงว่าถ้าเลี้ยงไว้ต่อไปจะไปสร้างปราสาทให้เมืองอื่นอีกและจะทำให้สวยกว่าปราสาทเมืองปัญจา จึงสั่งให้ฆ่าท้าวทุมพรเสีย ท้าวทุมพรหนีไปอยู่เมืองไกรลาส มีเมียชื่อเกษณี มีลูกสาว ๗ คน ชื่อจันทรสุหรี ศรีสุรัต พิม พัด รัชตา วิมมาลา และโนรา เมื่อลูกสาวจะไปอาบน้ำที่สระอโนตัด ท้าวทุมพรได้ทำปีกหางให้บินไป

ครั้งหนึ่ง ขณะนางทั้ง ๗ คนอาบน้ำที่สระอโนตัด พรานบุญลักปีกหางนางโนรา แล้วไปขอร้องพญานาคเกลอมาช่วยจับพญานาคนี้เดิมเคยถูกครุฑเฉี่ยว พรานบุญสิทธิ์ได้ช่วยชีวิตไว้ ครั้นพรานขอร้องจึงให้การช่วยเหลือ พรานนำนางโนราไปถวายพระศรีสุธนๆ รับไว้เป็นชายา

ต่อมาข้าศึกเมืองพระยาจันทร์ยกมาตีปัญจา พระศรีสุธนออกศึก แล้วตามไปปราบถึงเมืองพระยาจันทร์ อยู่ข้างหลังนางกาหนมหาอุบายจะฆ่านางโนรา โดยจ้างโหรให้ทำนายว่าพระศรีสุธนมีพระเคราะห์จะไม่ได้กลับเมือง ถ้าไม่ได้ทำพิธีบูชายัญและการบูชายัญนี้ให้เอานางโนราเผาไฟ นางโนราจึงออกอุบายขอปีกหางสวมใส่เพื่อรำให้แม่ผัวดูก่อนตาย และให้เปิดจาก ๗ ตับ เพื่อรำถวายเทวดา นางรำจนเพลินแล้วบินหนีไปเมืองไกรลาส พระสุธนตามไปจนได้รับกลับเมือง

ต่อมาพรานบุญสิทธิ์ได้พบน้ำสุราที่คาคบไม้ ดื่มแล้วนึกสนุก เดินทางไปพบเทพสิงสอนเที่ยวรำเล่นอยู่ จึงสมัครเข้าเป็นพราน

เมื่อเทพสิงสอนอายุได้ ๒๕ ปี เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้บวช ในพิธีบวชมีการตัดจุกใหญ่โต พรานบุญจึงนำเรื่องนางโนราทีตนพบมาเล่าและดัดแปลงขึ้นเล่นในครั้งนั้น โดยเล่นตอนคล้องนางโนราที่เรียกว่า "คล้องหงส์"

กระแสที่ ๓ จากนายซ้อน ศิวายพราหมณ์ ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ( พ.ศ. ๒๕๐๘) เล่าไว้เป็นกลอน ๔ ว่า
  ก่อเกื้อกำเนิด คราเกิดชาตรี  
  แต่ปางหลังยังมี เมื่อคราวครั้งตั้งดิน  
  บิดาของเจ้า ชื่อท่านท้าวโกสินทร์  
  มารดายุพิน ชื่อนางอินทรกรณีย์  
  ครองเมืองพัทลุง เป็นกรุงธานี  
  บุตรชายท่านมี ชื่อศรีสิงหรณ์  
  ทุกเช้าทุกค่ำ เที่ยวรำเที่ยวร่อน  
  บิดามารดร อาวรณ์อับอาย  
  คิดอ่านไม่ถูก เพราะลูกเป็นชาย  
  ห้ามบุตรสุดสาย ไม่ฟังพ่อแม่  
  คิดอ่านไม่ถูก จึงเอาลูกลอยแพ  
  สาวชาวชะแม่ พร้อมสิบสองคน  
  มาด้วยหน้าใย ที่ในกลางหน  
  บังเกิดลมฝน มืดมนเมฆัง  
  คลื่นซัดมิ่งมิตร ไปติดเกาะสีชัง  
  สาวน้อยร้อยชั่ง เคืองคั่งบิดร  
  จับระบำรำร่อน ที่ดอนเกาะใหญ่  
  ข้าวโพดสาลี มากมีถมไป  
  เทวาเทพไท ตามไปรักษา  
  รู้ถึงพ่อค้า รับพาเข้าเมือง  
  ฝ่ายข้างบิตุรงค์ ประทานให้เครื่อง  
  สำหรับเจ้าเมือง เปลื้องให้ทันที  
  ตั้งแต่นั้นมา เรียกว่าชาตรี  
  ประวัติว่ามี เท่านี้แหละหนา  

กระแสที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างถึงหลักฐานอันเป็นตำนานที่ได้ไปจากนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในหนังสือตำนานละครอิเหนาว่า"ในคำไหว้ครูของโนรามีคำกล่าวถึงครูเดิมของโนราที่ชื่อขุนศรัทธาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีความผิดต้องราชทัณฑ์ ถูกลอยแพไปเสียจากพระนคร แพขุนศรัทธาลอยออกจากปากน้ำไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง พวกชาวเรือทะเลมาพบเข้าจึงรับไปส่งขึ้นที่เมืองนคศรีธรรมราชหรือเมืองนคร ขุนศรัทธาจึงได้เป็นครูฝึกโนราให้มีขึ้นที่เมืองละครเป็นเดิมมา" ทั้งยังประทานความเห็นอีกว่าขุนศรัทธานี้เป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงมากในกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะเมื่อเล่นเรื่อง "นางมโนห์รา" ครั้นถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครก็หัดให้ขาวเมืองเล่นแบบเก่า ชาวเมืองนครซึ่งชอบพูดห้วนสั้น โดยตัดคำต้นทิ้งจึงเรียกละครชนิดนี้ว่า "โนรา"

กระแสที่ ๕
เป็นตำนานละครชาตรีของกรมศิลปากรปรากฎในหนังสือการเล่นของไทย สรุปความว่า
ท้าวทศมาศ นางสุวรรณดารา ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระธิดา ชื่อนางนวลสำลี ครั้นนางนวลสำลีเจริญวัย เทพยดาได้มาปฏิสนธิในครรภ์โดยที่นางมิได้มีสวามี ความทราบถึงท้าวทศวงศ์ จึงทรงให้โหรทำนายได้ความว่า ชะตาบ้านเมืองจะบังเกิดนักเลงชาตรี ท้าวทศวงศ์เกรงจะอับอายแก่ชาวเมือง จึงให้เอานางลอยแพไปเสีย เทพยดาบันดาลให้แพไปติดเกาะสีชังแล้วเนรมิตศาลาให้นางอยู่อาศัย เมื่อครรภ์ครบทศมาสก็ประสูติพระโอรส เพพยดานำดอกมณฑาสวรรค์มาชุบเป็นนางนมชื่อแม่ศรีมาลา แล้วชุบแม่เพียน แม่เภา เป็นพี่เลี้ยง ต่อมานางศรีมาลาและพี่เลี้ยงกุมารไปเที่ยงป่า ได้เห็นกินนรร่ายรำในสระอโนตัดนทีก็จำได้
เมื่อกุมารชันษาได้ ๙ ปี เทพยดาให้นามว่า พระเทพสิงหร แล้วเทพยดาเอาศิลามาชุบเป็นพรานบุญ พร้อมกับชุบหน้ากากพรานให้ด้วย พรานบุญเล่นรำอยู่กับพระเทพสิงหรได้ขวบปีก็ชวนกันไปเที่ยวป่า ขณะนอนหลับใต้ต้นรังในป่าเทพยดาลงมาบอกท่ารำให้ ๑๒ ท่า ทั้งเนรมิตทับให้ ๒ ใบ เนรมิตกลองให้ใบหนึ่ง แล้วชุบขุนศรัทธาขึ้นให้เป็นโนราเมื่อพระเทพสิงหลและพรานบุญตื่นขึ้นเห็นขุนศรัทธา ทับ และกลอง ก็ยินดี ชวนกันกลับศาลาที่พัก จากนั้นเทพยดาก็เนรมิตเรือให้ลำหนึ่ง บุคคลทั้งหมดจึงได้อาศัยเรือกลับอยุธยา เที่ยวเล่นรำจนลือกันทั่วว่า ชาตรีรำดีนัก ท้าวทศวงศ์จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทอดพระเนตรเห็นนางนวลสำลีก็ทรงจำได้ ตรัสถามความหนหลังแล้วโปรดปรานประทานเครื่องต้นให้พระเทพสิงหรใช้เล่นชาตรีด้วย

กระแสที่ ๖
เล่าโดยนายพูน เรืองนนท์ดังปรากฎในหนังสือ "การละเล่นของไทย" ของมนตรี ตราโมทว่า
"พระเทพสิงหรกับแมศรีคงคาเป็นสามีภรรยากัน เป็นผู้มีความสามรถแสดงละครชาตรีได้อย่างเลิศ แต่เป็ตคนเข็ญใจต้องเที่ยงแสดงละครเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงตัว การแสดงละครของพระเทพสิงหรกับแม่ศรีคงคามีศิลปะถึงขนาดใครๆ ก็เลื่องลือไปทั่วเมือง ตลอดจนนางฟ้าเทวดาก็พากันมาดูจนเพลิดเพลิน และลืมขึ้นไปเฝ้าพรอิศวรๆ ก็กริ้วตรัสว่า จะจัดละครโรงใหญ่ขึ้นแสดงเพื่อประขัน และจะทำลายการแสดงของพระเทพสิงหร และแม่ศรีคงคา พระวิสสุกรรมได้ทูลทัดทานอย่างไรก็ไม่ทรงเชื่อ พระวิสสุกรรมจึงบอกให้พระเทพสิงหรและแม่ศรีคงคาว่า เวลาแสดงให้ทำที่ประทับของพระองค์ไว้พระองค์จะเสด็จมาคุ้มครองไม่ให้แพ้พระอิศวร "
จากตำนานนี้จึงเป็นธรรมเนียมของการเล่นโนราว่า ต้องทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้กลางโรง มิฉะนั้นต้องสมมติเสาอื่นขึ้นแทน

กระแสที่ ๗
เป็นตำนานโนราที่ได้รับการถ่ายทอดไว้ในรูปของบทกลอน "กาศครู" หรือไหว้ครู มีต่างกันเป็น ๒ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ คำกาศครู ของคณะโนราขุนอุปถัมภ์นรากร เป็นต้น บทกาศครูว่าดังนี้
ตอน ๑
  ขานเอ ขานให้โนเนโนไน  
  ขานมาชาต้อง ทำนองเหมือนวัวชัก  
  ไถเพลงครวญคิดขึ้นมา ทรหวนในหัวใจ  
  เพลงสำลีไม่ลืมใน พี่ไปไม่ลืมน้องหนา  
  ลมเอยรวยรวย ยังหอมแต่รสแป้งทา  
  หอมรสครูข้า ส่งกลิ่นพ่อมาไรไร  
  หอมมาสาแค่ ลูกเหลียวไปแลหอมไกล  
  หอมฟุ้งสุราลัย ไคลเข้าในโรงน้องหนา  
  ลมใดพัด แล้วตั้งเมฆขึ้นมา  
  ลมว่าวดาหรา พัดโต้ด้วยลมหลาตัน  
  ลูกก็ชักใบแล่น กลางคืนมาเป็นกลางวัน  
  ไกลหลิ่งไกลผั่ง เอาเกาะกะชังเป็นเรือน  
  ลูกนั่งนับปี นางทองสำลีนับเดือน  
  เอาเกาะชังเป็นเรือน เป็นแทนที่นอนน้องหนา  
ตอนที่ ๒
  ฤกษ์งามยามดี ปานี้ชอบยามเพราะเวลา  
  ชอบฤกษ์ร้องเชิญ ดำเนินราชครูถ้วนหน้า  
  ราชครูของน้อง ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา  
  มาอยู่เหนือเกล้าเกศา มาอยู่เหนือเกล้าเหนือผม  
  มาช่วยคุ้มลมกันยา กันทั้งลูกลมพรมโหวด  
  กันทั้งผีโภตมายา มากันพรายแกมยา  
  ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง มากันให้ถ้วนให้ถี่  
  มากันลูกนี้ทุกทีย่าน ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง  
  มากันลูกนี้ทุกทีย่าน ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง  
  จำไว้แวะซ้ายแวะขวา สิบสองหัวช้างสิบสองหัวเชียก  
  จำให้พ่อร้องเรียกหา ถ้าพ่อไม่มา  
  ลูกยาจะได้เห็นหน้าใคร เห็นหน้าแต่ท่านผู้อื่น  
  ความชื่นลูกยามาแต่ไหน ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร  
  เหมือนไยราชครูถ้วนหน้า ลูกไหว้ครูพักอีกทั้งครูสอน  
  ไหว้แล้วเอื้อนกลอนต่อมา ไหว้ครูสั่งสอนข้า  
  พ่อมาคุ้มหน้าคุ้มหลัง มาเถิดพ่อสายสมร  
  มาคุ้มลูกเมื่อนอนเมื่อนั่ง มาคุ้มข้างหน้าข้างหลัง  
  พ่อมาวังซ้ายวังขวา ราชครูของน้อง  
  ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา ราชครูของข้า  
  ดำเหนินเชิญมาให้หมดสิ้น ไหลแล้วให้เทกันเข้ามา  
  ขุนโหรญาโหรขุนพรานญาพราน โปรดปรานเหนือเกล้าเกศา  
  ไหว้พรานเทพเดินดง พระยาพรานคงเดินป่า  
  พรานบุญพฤษา เดินจำนำหน้าราชครู  
  แม้นผิดแม้นพลาดตรงข้อไหน ท้าวไทยเมตตาได้เห็นดู  
  บรรดาราชครู มาอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวา  
  ลูกจับเริ่มเดิมมา ไหว้ขุนศรัทธาเป็นประธาน  
  ไหว้หลวงเสนได้เป็นครูพัก เป็นหลักนักเลงแต่โบราณ  
  ถัดแต่นั้นทองกันดาร ไหว้ตาหลวงเสนสองเมือง  
  ไหว้ตาหลวงคงคอ ผมหมอไหว้ท้าววิจิตรเรือง  
  โปรดให้รับท้าวเข้าสู่เมือง ลือเลื่องความรู้ได้เล่าเรียน  
  พ่อมาสอนศิษย์ไว้ต่างตัว พ่อไม่คิดกลัวเพราะความเพียร  
  สิบนิ้วข้าหรือคือเทียน เสถียรสถิตยอไหว้ไป  
  ยอไหว้พระยาโถมน้ำ โฉมงามพระยาลุยไฟ  
  พระยาสายฟ้าฟาด ลูกน้อยนั่งร้องกาศไป  
  พระยามือเหล็กพระยามือไฟ ไหว้ใยตาหลวงคงคอ  
  ไหว้ลูกของพ่อที่แทนมา ชื่อจันทร์กระยาผมหมอ  
  ตาหลวงคงคอ ผมหมอหลวงชมตาจิตร  
  เมื่อยามพ่อเป็นหลวงนาย แต่ท้าวมาไร้ความคิด  
  หลวงชมตาจิตร ผิดด้วยสนมกรมชาววัง  
  รับสั่งผูกคอให้ฆ่าเสีย พ่อไม่ทันได้สั่งลูก  
  บุญปลูกไม่ทันได้สั่งเมีย รับสั่งผูกคอให้ฆ่าเสีย  
  ในฝั่งแม่น้ำย่านยาว หากพ่อมาตายด้วยเจ็บไข้  
  ลูกรักจักได้ไปถามข่าว ในฝั่งแม่น้ำย่านยาว  
  ชีวิตพ่อม้วยมรณา ถ้าพ่อตายข้างฝ่ายบก  
  ให้เป็นเหยื่อนกเหยื่อกา พ่อไปตายฝ่ายเหนือ  
  ให้น้ำเน่าน้ำเหงื่อไหลลงมา น้ำเน่าลายจันทร์  
  น้ำมันลูกลายแป้งทา โดกแข้งโดกขา  
  ลูกยาไว้ทำไม้กลัดผม ดวงเนตรพ่อทองผมสอด  
  ลูกน้อยไว้ทำไม้หลอดอม ทำไม้กลัดผม  
  ชมต่างพ่อร้อยชั่งแก้ว โอ้พ่อร้อยชั่งแก้ว  
  สองแถวพ่อร้อยชั่งอา ร้อยชั่งรักข้า  
  พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย พ่ออย่าตัดลูกเหมือนตัดตาล  
  พ่ออย่ารนรานเหมือนรานกล้วย พ่ออย่าตัดรัดเสียให้ม้วย  
  เห็นดูด้วยช่วยรำมโนห์รา    

(บทกาศครู กลุ่ม๑ นี้ยังมีอีก แต่ไม่เกี่ยวกับตำนานโนรา)
กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ คำกาศครูของโนราบริเวณภาคใต้ตอนบน ในที่นี้ได้จาก นายซ้อน ศิวายพราหมณ์
ตอนที่ ๑
  รื่นเอยรื่นรื่น ข้าจะไหว้พระธรณีผึ่งแผน  
  ลูกเอาหลังเข้ามาเป็นแท่น รองตีนมนุษย์ทั้งหลาย  
  ชั้นกรวดและดินดำ ลูกจะไหว้ชั้นน้ำละอองทราย  
  นาคเจ้าแล้วฦาสาย ขานให้โนเนโนไน  
  ขานมาเล่าแล้ชาต้อง ทำนองเหมือนวัวชักไถ  
  เพลงสำลีไม่ลืมไย พี่ไปไม่ลืมน้องหนา  
  ลมตั้งเมฆแล้ว ก็พัดขึ้นมา  
  ลมว่าวดารา พัดโต้ด้วยลมสลาตัน  
  แล่นเรือเถิดเหวยน้อง กลางคืนมาเป็นกลางวัน  
  แล่นออกลึกไม่เห็นฝั่ง เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน  
  เป็นแท่นที่นอนน้องหนา    
ตอนที่ ๒
  ค่ำแล้วแก้วพี่ ปานี้ชอบยามพระเวลา  
  ค่ำแล้วแก้วพี่อา ค่ำเอยลงมาไรไร  
  มาเราค่อยจดค่อยจ้อง มาเราค่อยร้องค่อยไป  
  รักเจ้านวลสลิ้ม คือดังพิมพ์ทองหล่อใหม่  
  เจ้านวลทั้งก้าน สะคราญเจ้านวลทั้งใบ  
  เจ้านวลจริงจริงไม่มีใย ขัดใจไปแล้วน้องหนา  
  ครั้นถึงลงโรงลูกยอไหว้คุณ หารือพ่อขุนศรัทธา  
  ศรัทธาแย้มศรัทธาราม โฉมงามเบิกหน้าบายตา  
  ศรัทธาแย้มศรัทธาขุ้ย เอ็นดูลูกนุ้ยทูลหัวอา  
  จำเดิมเริ่มมา แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น  
  ลูกข้ามไม่รอด ลูกจะก้มรอดก็ไม่พ้น  
  แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น มารดาศรัทธาท่าแค  
  น้องแต่พ่อเทพสิงหร ถ้าพ่อสมัครรักลูกจริง  
  วันนี้อวยสิงอวยพร น้องแต่พ่อเทพสิงหร  
  ได้สอนสืบสืบกันมา มาสิ่งมาสู่  
  มาอยู่เหนือเกล้าเกศา ราชครูของน้อง  
  ลอยแล้วให้ล่องกันเข้ามา มาพร้อมเสร็จสรรพ  
  คำนับไหว้คัลวันทนา    
ตอนที่ ๓
  แล่นเรือเถิดเหวยน้อง กลางคืนมาเป็นกลางวัน  
  แล่นออกลึกไม่เห็นฝั่ง เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน  
  เพื่อนบ้านเขานับปี นวลทองสำลีเขานับเดือน  
  เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน เป็นแท่นที่เรือนน้องหนา  
  ครั้นลงถึงโรงลูกจะตั้งนะโม อิติปิโสภควา  
  ตั้งเยเกจิ อกุศลาธรรมา  
  พระเจ้าทั้งห้า พระธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์  
  อย่าให้ศัตรูมาเบียนลูก ไหว้คุณธาตุทั้งสี่  
  พระธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ มารักษาร่างกายา  
  พระวิภังค์แต่งหู พระสังคณีแต่งตา  
  พระธาตุกัตถา แต่งจมูกลูกหายใจ  
  แต่งจบครบสิ้น แต่งดินแต่งน้ำลมไฟ  
  แต่งจมูกลูกจาให้หายใจ ครบไปในร่างกายา  
  เมื่อแรกเริ่มเดิมมา แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น  
  น้องแต่พ่อเทพสิงหร ถ้าแม่สมัครรักลูกจริง  
  วันนี้อวยสิงอวยพร น้องแต่พ่อเทพสิงหร  
  มานอนสอนลูกอยู่พำพำ หลับเสียลูกลืมถ้อย  
  ตื่นขึ้นลูกน้อยลืมจำ ลืมถ้อยลืมคำ  
  ลืมจำราชครูถ้วนหน้า พ่อตายข้างฝ่ายเหนือ  
  น้ำเน่าน้ำเหงื่อไหลมา น้ำเน่าลูกลายจันทน์  
  น้ำมันลูกลายแป้งทา กระดูกแข้งกระดูกขา  
  ลูกยาจะทำไม้กลัดผม ดวงเนตรพ่อทองผมสอด  
  ลูกจะคลายออกชม ทำไม้กลัดผม  
  ชมต่างพ่อร้อยชั่งเหอ พ่อร้อยชั่งเหอ  
  สองแก้วพ่อร้อยชั่งอา พ่อร้อยชั่งขา  
  พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย พ่ออย่าตัดลูกเหมือนตัดตาล  
  พ่ออย่าตัดหลานเหมือนรานกล้วย พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย  
  มาด้วยช่วยรำมโนห์รา ราชครูของข้า  
  ใครเรียกใครหาพ่ออย่าไป เข้ามาเถิดเหวยยอด  
  เชิญทอดเข้ามาเถิดเหวยใย เชิญพ่อมานั่งตรงนี้  
  ลูกชายขยายที่ให้นั่งใน ใครเรียกใครพาพ่ออย่าไป  
  แวะเล่นด้วยใยน้องหนา ราชครูของน้อง  
  ลอยแล้วให้ล่องกันเข้ามา มาแล้วเสร็จสรรพ  
  คำนับไหว้คัลวันทนา โอมพร้อมมหาพร้อม  
  มานั่งห้อมล้อมทั้งซ้ายขวา มาแล้วพรูพรั่ง  
  มานั่งแห่หลังแห่หน้า ประกาศครูเท่านั้นแล้ว  
  ขอแผ้วเป็นเพลงพระคาถา ไหว้นวลนางหงส์กรุงพาลี  
  ไหว้นางธรณีแม่ได้เป็นใหญ่ ลูกเล่นเต้นรำบนหัวแม่  
  วันนี้แล้ขอคำความอำภัย หลีกเกล้าเกศาเสียให้ไกล  
  ในวันนี้เล่าเจ้าแม่หนา นางธรณีแมม่ทองตาต่ำ  
  ลูกขอที่รำมโนห์รา ขอที่ตั้งเชี่ยนตั้งฉัตร  
  ตั้งโรงมนัสเบญจา ขอที่ตั้งฉัตรขอที่ตั้งโถง  
  ขอที่ตั้งโรงมโนห์รา ไหว้พี่พิณพี่พัด  
  พี่ศรีจุรัสพัชดา ทูลหัวตัวพี่ชื่อจันจุรีศรีจุหลา  
  เจ็ดนางชาวฟ้า ลูกสาวของท้าวทุมพร  
  สอดปีกสอดหาง งามเหมือนอย่างนางขี้หนอน  
  เจ้าไปสรงน้ำที่ในดงดอน ไปได้นายพรานพฤกษา  
  คนสุดท้องเพื่อน แก้มเกลื้อนชื่อนางมโนห์รา  
  ไหว้พรานเทพเดินดง ไหว้พรานคงเดินป่าจับ  
  ได้นางแล้วพานางมา พาบุกเข้าป่าไม้รังเรียง  
  น่าสงสารนวลน้อง นางเหอเจ้าร้องส่งเสียง  
  พาบุกเข้าป่าไม้รังเรียง พาเหวี่ยงซ่อนไว้ใต้กาหลง  
  กาโมห์กาใบ้ คนเดินเข้าใกล้ให้งวยงง  
  พาเหวี่ยงซ่อนไว้ใต้กาหลง ไปถวายพระสุธนราชา  

ข้อวินิจฉัยตำนานโนรา

จากตำนานต่างๆ ได้มีผู้พยายามวินิจฉัยหาความจริงว่าเรื่องราวที่แท้ของโนราเป็นอย่างไร ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

ข้อวินิจฉัยของเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร และภิญโญ จิตร์ธรรม
ท่านทั้งสองได้นำเอาตำนานบางส่วนที่กล่าวมาตอนต้นมาพิจารณาแล้วสรุปว่า โนราเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๘๕๘-๒๐๕๑ ที่เมืองพัทลุงเก่า คือบางแก้วในปัจจุบันเจ้าเมืองพัทลุงครั้งนั้นคือ พระยาสายฟ้าฟาด หรือท้าวโกสินทร์ มเหสีชื่อศรีมาลาหรืออินทรกรณีย์ ทั้งสองมีโอรสชื่อเทพสิงหร และธิดาชื่อนวลทองสำลีหรือศรีคงคา พระยาสายฟ้าฟาดได้หาราชครูให้สอนวิขาการร่ายรำให้แก่โอรสธิดา ผลปรากฎว่านางนวลทองสำลีรำได้ ๑๒ ท่าอย่างคล่องแคล่ว แต่ก็มีเรื่องน่าละอายเกิดขึ้น คือนางเกิดตั้งครรภ์โดยได้เสียกับพระเทพสิงหรผู้เป็นพี่ ส่วนราชครู ๔ คน มีนายคงผมหมอ นายชม นายจิตร และนายทองกันดาร ผูกคอถ่วงน้ำในย่ายทะเลสาบสงขลา ส่วนโอรสธิดา และสนมกำนัลถูกลอยแพ แต่โชคดีแพไปติดที่บ้านกะชังบนเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลาปัจจุบันจึงรอดชีวิต แล้วนางนวลทองสำลีก็คลอดบุตรชื่อทองอู่ สนมที่ได้เสียกับนายคงผมหมอก็คลอดบุตรชื่อจันทร์กระยาผมหมอเมื่อบุตรนางนวลทองสำลีโตขึ้นได้ฝึกร่ายรำจนมีโอกาสได้ไปเมืองพัทลุง ได้พบกับพระยาสายฟ้าฟาดๆ ก็ยกโทษให้โอรสธิดาและได้กลับเมือง และสนับสนุนให้เล่นโนราต่อไป ทั้งแต่งตั้งทองอู่หลานชายให้เป็นขุนศรัทธา

ในการวินิจฉัยเรื่องนี้ เยี่ยมยงได้แย้งหลักฐานที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างถึงตำนานที่ได้ไปจากนครศรีธรรมราชที่ว่าขุนศรัทธาถูกลอยแพไปติดเกาะกะชัง ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดจริงๆ แล้วเกาะที่อ้างถึงคือ เกาะกะชัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะใหญ่ในทะเลสาบสงขลา อนึ่ง เรื่องนี้ก็กล่าวไว้ชัดว่าเกิดขึ้นทางเมืองพัทลุงและโนราก็นิยมกันมากทั้งในดินแดนฝั่งทะเลสาบสงขลาด้านตะวันตก (คือพัทลุงปัจจุบัน) และฝั่งทะเลสาบด้านตะวันออก (คืออำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาปัจจุบัน) ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลที่จะยกไปให้เป็นเรื่องของอยุธยา

ข้อวินิจฉัยของเทวสาโร
ปรากฏในหนังสือเทพสารบรรพ ๒ พิมพ์ที่โรงพิมพ์สกุลไทย อำเภอเมืองพัทลุง พ.ศ. ๒๕๐๘ สรุปความว่า "โนราเป็นการร่ายรำสำหรับบูชาเทพเจ้า พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ในศาสนาพราหมณ์" เมื่อพราหมณ์เข้าสู่ปักษ์ใต้ จึงนำการละเล่นชนิดนี้เข้ามาด้วย เรื่องราวตามตำนานนั้นคงจะเกิดขึ้นราวสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ เป็นช่วงที่มีการสถาปนาเมืองพัทลุงขึ้นที่บางแก้ว นามท้าวโกสินทร์ก็คือพระเจ้าจันทรภาณุนั่นเอง ที่ได้พระนามนี้ก็เพราะทรงสร้างพระแก้วมรกต อันถือเป็นสมบัติอันยิ่งใหญ่ ส่วนนางิอนทรกรณีย์ผู้เป็นขายาก็คือนางอินทิราณี นางพระยาเมืองสิงหลซึ่งพระเจ้าจันทรภาณุได้มาเมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองสิงหล กษัตริย์ทั้งสองมีโอรสชื่อเทพสิงหรหรือศรีสิงหร มีธิดาชื่อศรีคงคา (คือนวลสำลี ผู้เขียน)ที่ได้ชื่อนี้สัณนิษฐานว่าเธอคงจะประสูติกลางทะเลตอนเสด็จกลับจากสิงหล นางศรีคงคาผู้นี้ ตามประวัติว่าได้เสียสมรสกันเองกับบุตรเจ้านครชั้นผู้น้อย ทำให้ท้าวโกสินทร์กริ้วมาก ประกอบกับพระเทพสิงหรก็มิได้ทรงใฝ่พระทัยในการปกครองมัวหลงแต่ศิลปะการฟ้อนรำพระองค์จึงสั่งเนรเทศลอยแพโอรสธิดาไปพร้อมกัน แพไปติดที่เกาะสีสังข์ในทะเลสาบสงขลา ณ ที่นั้น นางศรีคงคาได้ประสูติบุตรชื่อ "ราม" และได้ฝึกให้บุตรได้หัดรำโนรา

ต่อมาพระเจ้าจันทรภาณุทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองขนานใหญ่ทรงนิรโทษกรรมแก่โอรสธิดา พระเทพสิงหรจึงได้ครองเมืองที่เขานิพัทธสิงห์ ทรงเป็นแม่กองจัดสร้าง "พระธาตุสัทธังพระ" (พระธาตุสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา) เป็นการสนองพระคุณพระบิดา และล้างมลทินที่กระทำมาก่อน ฝ่ายเจ้าชายรามพระเจ้าหลานเธอได้สร้างพระธาตุสัทธังพระ (วัดสทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง) โดยมีเจ้าอู่ทองและนางศรีคงคาเป็นผู้สนับสนุน จากนั้นพระเจ้าจันทรภาณุโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองพระนครและพระธาตุบางแก้วซึ่งเป็นศูนย์รวมของราชธานีใหม่ ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโนราด้วย และได้ประทานบรรดาศักดิ์แก่พระเจ้าหลานเธอเป็น "ขุนศรีศรัทธา" ทั้งทรงอนุญาตให้ใช้เครื่องทรงสำหรับกษัตริย์แต่งตัวโนราได้ โนราก็ได้สืบเชื้อสายกันตั้งแต่นั้นมา

บทสรุป
จากตำนานและข้อวินิจฉัยข้างต้นจะเห็นได้ว่าโนราเป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณกำเนิดของการละเล่นประเภทนี้ ส่วนหนึ่งยกให้เป็นความริเริ่มของเทวดา โดยดลใจให้นางนวลสำลีอยากกินเกสรบัว แล้วให้เทพบุตรมาจุติเพื่อคิดการละเล่นชนิดนี้ขึ้น ซึ่งฟังดูแล้วเป็นเรื่องไร้เหตุผล แต่หากมองอย่างลึกซึ้งแล้ว การกล่าวเช่นนั้นก็เพื่อแสดงคุณวิเศษของโนราอย่างหนึ่ง และปกปิดความชั่วของบรรพบุรุษโนราอีกอย่างหนึ่ง แต่โนราอีกส่วนหนึ่งไม่อำพรางความผิดทางศีลธรรมของบรรพบุรุษโนรากลุ่มนี้ จึงเล่าตำนานที่บ่งว่า นางนวลสำลีผิดประเวณี แต่เล่าต่างกันเป็น ๒ กลุ่มย่อย ได้แก่ ตำนานที่เป็นคำกลอนของนายซ้อน ศิวายพราหมณ์ ว่าได้เสียกับผู้ที่ชื่ออู่ทอง กลุ่มหนึ่งและตำนานที่เล่าโดยนายพูน เรืองนนท์ รวมทั้งความเห็นของเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ว่านางนวลสำลีได้เสียกับพระเทพสิงหรซึ่งเป็นพี่น้องร่วมท้องกันมาอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ตำนานจะผิดเพี้ยนกันก็เป็นเพียงประเด็นเล็กน้อย สาระสำคัญของความผิดของนางนวลสำลี คือผิดดประเวณีจนพระบิดากริ้วและสั่งลอยแพดังปรากฎในตำนานตรงกันทุกกระแส ส่วนสถานที่ที่แพลอยไปติดนั้นว่าเป็นเกาะสีชังบ้าง เกาะกะชังบ้าง ข้อนี้เห็นจะยุติได้ว่าเป็นเกาะกะชังในทะเลสาบสงขลาแน่นอน เพราะเกาะนี้อยู่ติดเกาะใหญ่ดังตำนาน กระแสที่ ๓ กล่าวว่า
 
คลื่นซัดมิ่งมิตร

ไปติดเกาะสีชัง
 
  คลื่นซัดมิ่งมิตร ไปติดเกาะสีชัง  
  สาวน้อยร้อยชั่ง เคืองคั่งบิดร  
  จับระบำรำร่อน อยู่ที่ดอนเกาะใหญ่  

ในตอนปลายของตำนานก็กล่าวไว้ตรงกันว่า พระบิดาของนางนวลสำลีไห้อภัยโทษและให้บรรดาศักดิ์แก่หลานเป็นขุนศรีศรัทธา

จากตำนานทั้งหมด ตำนานที่เล่าโดยโนราวัด จันทร์เรืองมีพิสดารออกไปในตอนปลาย คือนำชาดกเรื่องสุธนชาดก หรือพระสุธน-นางมโนห์ราเข้ามาผนวก ที่เป็นดังนี้เข้าใจว่า มิใช่ตำนานโนราที่มีมาแต่ดั้งเดิม คงจะเสริมเข้าทีหลังเมื่อโนรานำเอาเรื่องพระสุธนมโนห์รามาเล่น แต่เมื่อผนวกเข้าแล้ว โนราก็เชื่อว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ดังที่ได้ให้พรานบุญเอาเรื่องที่ตนได้จับนางมโนห์รามาเล่นเป็นบทคล้องหงส์ และเมื่อโนรากาศครูก็ออกชื่อตัวละครต่างๆ ในเรื่องพระสุธนมโนห์ราเป็นครูโนราด้วย ได้แก่ พรานบุญ ธิดาทั้ง ๗ ของท้าวทุมพร มีพิณ พัด ศรีจุรัส พัชดา จันจุรี ศรีจุหลา และมโนห์รา

จากตำนานแต่ละกระแสที่กล่าวมา โนราคณะไหนเชื่ออย่างไรก็นับถือครูโนราอย่างนั้น เวลาเข้าพิธีโรงครูโนราก็จะเชิญวิญญาณครูต่างๆ ที่เอ่ยถึงในตำนานมารับเครื่องสังเวยโดยเฉพาะครูที่สำคัญๆ เช่น แม่ศรีมาลา นางนวลสำลี พระเทพสิงหร พระยาสายฟ้าฟาด ขุนศรัทธา และพรานบุญเป็นต้น นอกจากนี้ตำราโนรายังอธิบายขนบนิยมและพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับโนราได้อีกทางหนึ่ง เช่น อธิบายที่มาของรำคล้องหงส์ รำแทงเข้ การเข้าโรงครูในวันพุธและส่งครูในวันศุกร์ การผูกเสาโรงโนราหนึ่งด้วยผ้าแดง เป็นต้น ซึ่งตำนานเหล่านี้บางส่วนจะเป็นความจริงที่เล่าสืบมาหรือแต่งขึ้นให้สอดคล้องกับขนบนิยมในการเล่นโนรา ก็ยากที่จะชี้ชัดลงไปได้

โนรามีขึ้นในภาคใต้เมื่อไร ได้มีผู้วินิจฉัยไว้แล้วตอนต้น ๒ ท่าน คือ เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ว่าคงระหว่าง พ.ศ.๑๘๕๘-๒๐๕๑ และเทวสาโร ว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าจันทรภาณุ คือประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพราะตามหลักฐานระบุว่ากษัตริย์พระองค์นี้ได้ยกทัพไปตีลังกาเมื่อ พ.ศ.๑๗๗๓ ในที่นี้จะยึดเอาความในตำนานโนราตอนหนึ่งเป็นหลักการวินิจฉัยข้อความดังกล่าวมีว่า
 
ก่อเกื้อกำเนิด

คราเกิดชาตรี
 
  ปางหลังยังมี เมื่อครั้งตั้งดิน  
  บิดาของเจ้า ชื่อท้าวโกสินทร์  
  มารดายุพิน ชื่อนางอิทรกรณีย์  
  ครองเมืองพัทลุง เป็นกรุงธานี  
  บุตรชายท่านมี ชื่อศรีสิงหร  

ข้อความนี้ กล่าวว่า "ชาตรี" หรือโนรา มีตั้งแต่เริ่มตั้งเมืองพัทลุงว่าตามนัยนี้ พัทลุงตั้งขึ้นครั้งแรกที่บางแก้ว (อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ปัจจุบัน) แต่เวลายังคลาดเคลื่อนกันอยู่ เช่น ตำนานท้องถิ่นว่าเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวสร้างวัดเขียนบางแก้ว (รวมถึงบางแก้วด้วย) เมื่อ พ.ศ.๑๔๙๒ พระครูสัฆรักษ์ (เพิ่ม)ว่าพระยากรุงทองเจ้าเมืองพัทลุงสร้างวัดเขียน เมื่อเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ จ.ศ.๓๐๑ ตรงกับพ.ศ.๑๙๘๒ เป็นต้น และตำนานโนราเกี่ยวกับตำนานเรื่องนางเลือดขาว พระยากรุงทองก็ดูจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ฉะนั้นกำเนิดโนราจะกำหนดเวลาให้แน่นอนลงไปได้ยาก แต่คงอย่างช้าก็ช่วงปลายศรีวิชัย ดังกล่าวแล้ว


หน้าแรก

หน้าแรก


องค์ประกอบหลักในการแสดง