โนราคณะหนึ่งๆ มีจำนวนประมาณ ๑๔-๒๐ คน โนราสมัยก่อนมีตัวรำเพียง ๓ ตัว คือ ตัวนายโรงหรือโนราใหญ่หรือตัวยืนเครื่อง ๑ ตัวนางหรือนางรำ ๑ และตัวตลกหรือพราน อีก ๑ สมัยต่อมาเพิ่มตัวนาง เป็น ๓-๕ คนนอกจากนี้คณะของโนราจะมีนักดนตรีหรือ"ลูกคู่" ประมาณ ๕-๗ คน มีตัวตลกประจำโรงเรียกว่า"พราน" มีตัวตลกหญิงเรียกว่า "ทาสี" ทั้งพรานและทาสีจะสวมหน้ากาก นอกจากนี้จะมีหมอประจำโรง บางคณะอาจมีนางรำรุ่นจิ๋วเรียกว่า "หัวจุกโนรา" และอาจมีผู้สูงอายุหลงชอบและติดตามไปกับคณะโนราเป็นประจำเรียกว่า "ตาเสือโนรา" มักทำหน้าที่ช่วยควบคุมดูแลนางรำและข้างของ หรือบางคนเกิดหลงชอบ "หัวจุกโนรา" จึงติดตามไป ยอมอาสาปรนนิบัติทุกอย่าง เรียกอาการเช่นนี้ว่า "บ้าหัวจุกโนรา"

อนึ่ง ในการขนย้ายเครื่องโนราไปแสดงไกลๆ จะมีหีบสำหรับใส่เทริดของโนราและเครื่องใช้บางอย่างที่ถือว่าเป็นของขลัง เช่น หน้าพราน (หัวพราน) เรียกหีบนั้นว่า "ซุม" มักมีผู้ทำหน้าที่แบกหามซุมเป็นประจำ เรียกว่า "คนคอนซุมโนรา"

ชื่อคณะของโนรา มักเรียกตามชื่อของนายโรง เช่น โนราวัน (คณะของโนราที่มีนายวันเป็นนายโรง) บางครั้งเอาชื่อบ้านที่อยู่มาประกอบ เช่น โนราเติมเมืองตรัง โนราแปลกท่าแค เป็นต้น ถ้านายโรงเป็นพี่น้องกัน ๒ คน มักนำชื่อทั้งสองมาตั้ง เป็นชื่อคณะ เช่น โนราพิณพัน (พี่ชื่อพิณ น้องชื่อพัน) โนราหนูวินหนูวาด โนราประดับสังวาลย์ เป็นต้น และบางคณะก็ได้รับคำเติมสร้อย เพราะมีลักษณะเด่นพิเศษ เช่น โนราพุ่มเทวา (ชื่อพุ่ม ร่ายรำอ่อนงามราวกับเทวดาเหาะลอยมา) เป็นต้น


มโนห์รามดลิ้น ยอดระบำ


องค์ประกอบหลัก

หน้าแรก


เครื่องแต่งกาย