ปรีชาหรือที่ใช้ชื่อคณะหนังว่า ปรีชา สงวนศิลป์ เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหรือประชันหนังตะลุงที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นสนามแข่งขันที่สำคัญที่สุดหลายปีติดต่อกัน นอกจากนี้ยังทำงานบริการสังคมในระดับท้องถิ่นที่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านและศิลปินพื้นเมืองทั้งหลาย

         เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ที่บ้านเลขที่ 190 หมู่ที่ 9 ตำบลเชียรเขา อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อผก มารดาชื่อแป้น เป็นบุตรคนหัวปี มีน้อง 5 คน

         เรียนหนังสือจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดสระไคร อำเภอเชียรใหญ่ ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปากพนังวิทยา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนหนังสือจบแล้วเข้าเรียน ขณะเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่ 3 ได้ดูหนังตะลุงที่มีชื่อของอำเภอปากพนังคือหนังโพธิ์ เกิดความชอบจนคลั่งไคล้ คิดจะเอาดีทางด้านหนังตะลุง จึงลาออกกลับบ้านมาเพื่อจะหัดหนัง แต่บิดาไม่สนับสนุนเพราะหวังจะให้เล่าเรียนเป็นข้าราชการ เมื่อพบปัญหาเช่นนี้ ปรีชาซึ่งตั้งใจเด็ดเดี่ยวแล้วว่าจะเป็นศิลปิน จึงออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับนายเคลื้อม ที่เกาะสมุย (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) เพื่อนของบิดาซึ่งเป็นผู้รักทางนักเลงและได้ปลูกโรงหัดหนังที่นั่น โดยเริ่มหัดในเดือน 6 ปี พ.ศ.2497 การหัดระยะเริ่มต้นนี้ไม่มีอาจารย์สอน ใช้วิธีไปดูหนังคณะอื่นแล้วจดจำเรื่องและวิธีการแสดงมาหัดเล่นเอาเอง หัดอยู่ราว 3 เดือนก็ถึงหน้าฝนหัดต่อไปไม่ได้จึงกลับมาอยู่บ้าน บิดาคะยั้นคะยอให้กลับไปเรียนต่ออีก แต่เมื่อปรีชา ยืนยันว่าจะไม่เรียนอีกแล้ว บิดาจึงว่า "ถ้าจะเป็นอะไรก็เป็นให้จริง" แล้วท่านก็หาหนังสือต่างๆ มีวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ธรรมะ ฯลฯ มาให้อ่านโดยไม่บอกเหตุผล ส่วนปรีชาเองก็ไม่เข้าใจเหตุผลเช่นเดียวกัน แต่ต้องการเอาใจบิดา จึงขยันอ่านหนังสือเหล่านั้นอย่างจริงจัง ซึ่งภายหลังรู้ด้วยประสบการณ์ที่สูงขึ้นว่า ที่บิดาหาหนังสือมาให้อ่านก็เพื่อให้เป็นคนรอบรู้ จะได้เอาดีทางหนังตะลุงได้

         หลังจากบิดาให้ความสนับสนุน ปรีชาก็คิดจะฝากตัวเป็นศิษย์ของหนังแคล้ว เสียงทอง แห่งจังหวัดพัทลุง ได้เดินทางไปหาถึง 3 ครั้งแต่ไม่พบ นายไข่ซึ่งเป็นหมอไสยศาสตร์ประจำคณะของหนังแคล้ว จึงนำไปฝากให้หัดกับหนังจิตร บ้านแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง หัดอยู่ 5 เดือนเศษ ก็พอแสดงได้ จึงกลับบ้านมาเป็นลูกคู่ให้หนังหนูราย บ้านสระไคร อำเภอเชียรใหญ่ เที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อหาประสบการณ์ ในระยะนี้ได้แสดงหนังอยู่บ้าง และเริ่มสะสมอุปกรณ์การแสดงจนตั้งคณะของตนเองได้ และให้ชื่อคณะว่า "ปรีชาสงวนศิลป์" พ.ศ.2499 ได้เข้าพิธีครอบมือเพื่อแสดงถึงความเป็นหนังตะลุงที่ถูกต้องและสมบูรณ์ตามประเพณี โดยมีหนังจันทร์แก้ว บุญขวัญ เป็นผู้ประกอบพิธี พ.ศ. 2520 ได้บวชที่วัดสระไคร แต่ไปจำพรรษา ณ วัดเทพมงคล อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช บวชอยู่ 2 พรรษาลาสิกขาแล้วแต่งงานกับนางสาวพรรณี คุ้มรักษา ชาวบ้านเขาน้อย อำเภอร่อนพิบูลย์ และได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่น

         หลังจากลาสิกขาแล้ว ปรีชาก็แสดงหนังตะลุงต่อไปโดยพยายามอาศัยแนวของหนังรุ่นพี่ที่มีชื่อเสียง คือ ด้านท่วงทำนอง ลีลากลอน ยึดแนวของหนังแคล้ว เสียงทอง ด้านภาษาในกาพย์กลอนยึดแนวหนังปล้อง ไอ้ลูกหมี แห่งอำเภอเชียรใหญ่ และยึดตลกของหนังจู่เลี่ยม กิ่งทอง แห่งจังหวัดชุมพร แต่ก็พยายามสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้น คือนิยมเล่นกลอนพวงหรือกลอนกบเต้นในบทชมความงาม ชมนก ชมไม้ บทเกี้ยว ฯลฯ ซึ่งกลอนชนิดนี้หนังตะลุงสมัยก่อนนิยมมาก แต่หนังสมัยหลังไม่นิยมใช้การตลก หนังทางเมืองนครศรีธรรมราชตลกสีแก้ว (หัวกบ) กับหนังยอดทองเป็นพื้นปรีชาต้องการจะให้แหวกแนวออกไปจึงตลก สีแก้วควายและอ้ายนุชแบบหนังจูเลี่ยม ในระยะ 6 - 7 ปี แรก ชื่อของปรีชา ยังรู้จักกันในวงแคบ ต่อมาปี พ.ศ.2506 ครูแจ้ง แสงศรี นักจัดรายการวิทยุและหนังตะลุงที่มีชื่อพอประมาณคนหนึ่งของจังหวัดตรัง ได้นำตะลุงหลายคณะขึ้นไป บันทึกแผ่นเสียงของบริษัท กมลสุโกศล ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนั้นปรีชาได้รับเชิญไปด้วย และ ได้แสดงที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ปีรุ่งขึ้นบริษัทนำคณะหนังขึ้นไปบันทึกแผ่นเสียงอีก ในครั้งนี้มีหนังจู่เลี่ยมไปด้วย หนังจู่เลี่ยมผู้นีปรีชาไม่ได้สนิทสนมมาก่อน แต่ศรัทธาในผลงานมาก ถึงขั้นเลียนแบบการตลกดังกล่าวมาแล้วเมื่อไปด้วยกันจึงพยายามใกล้ชิดเรียนรู้กลวิธีต่างๆ และที่สำคัญคืออยากจะได้รูปตลกของหนังจู่เลี่ยมตัวหนึ่งคือ "อ้ายเหว่า" มาใช้เป็นรูปตลกประจำคณะของตน แต่ธรรมเนียมของหนัง ถ้าใคร ขอรูปจะให้ไม่ได้เชื่อว่าจะทำให้ตนเองเสื่อมความนิยม ด้วยเหตุนี้ ปรีชาจึงต้องขโมยรูปอ้ายเหว่าของหนังจู่เลี่ยม เมื่อกลับมาร่อนพิบูลย์ก็ "ทับ" (ลอกแบบ) และ ตัดรูปอ้ายเหว่าของตนขึ้น แล้วแจ้งให้หนังจู่เลี่ยมทราบ หนังจู่เลี่ยมว่า "ขโมยไปทับเอานั่นดีแล้ว มีที่ เพราะถ้าขอพี่ก็ให้ไม่ได้"

         หลังจากปรีชาตัดรูปอ้ายเหว่าขึ้น ใช้คู่กับอ้ายแก้วควาย และ อ้ายนุช ชื่อเสียงก็ค่อยเป็นที่รู้จักกว้างขวางออกไป เพราะเป็นรูปตลกที่ใช้กันน้อย และปรีชาใช้ได้อย่างมีชีวิตวิญญาณที่ภาษาหนังตะลุง เรียกว่า "กินรูป" จนภายหลัง "อ้ายเหว่า" กลายเป็นสัญลักษณ์ของปรีชาไปเลยทีเดียว

         ปี พ.ศ. 2506 นับเป็นปีเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในชีวิตศิลปินของปรีชาอย่างแท้จริงเพราะได้เข้าแข่งขันในสนามแข่งขันหนังตะลุงที่สำคัญที่สุดของเมืองนครศรีธรรมราช หรือของภาคใต้ก็ว่าได้ นั้นคือสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยคู่แข่งล้วนเป็นยอดหนังตะลุงของภาคใต้ทั้งสิ้นซึ่งมีถึง 10 คณะ เช่น หนังประทิ่น บัวทอง หนังจู่เลี่ยม กิ่งทอง หนังแคล้ว เสียงทอง หนังจู่เลี่ยม เสียงเสน่ห์ หนังเคล้าน้อย เป็นต้น ผลการแข่งขันครั้งนี้ปรีชาชนะเลิศ และนับแต่ปี พ.ศ. 2508 จนถึงปี พ.ศ.2515 เป็นช่วงที่ปรีชามีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความสำเร็จสูงสุดในชีวิตศิลปิน การแข่งขันครั้งสำคัญๆ ปรีชามักจะชนะเลิศเสมอและได้รับรางวัลซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูง เช่น

         พ.ศ.2509 ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ซึ่งเป็นตุ๊กตาทองตัวแรกของวงการศิลปินภาคใต้ จากบริษัท นครพัฒนา ในการแข่งขัน ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช หนังตะลุงที่เข้าแข่งขัน เช่น หนังประทิ่น หนังจู่เลี่ยม หนังเคล้าน้อย หนังจำเนียร หนังทวีศิลป์ หนังประยูรใหญ่ ฯลฯ

         พ.ศ.2510 ได้รับรางวัลเทวาทองคำ จากบริษัท นครพัฒนา ในการแข่งขัน ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้หนังที่เข้าแข่งขันเป็นหนังชุดเดิมที่เคยแข่งขันกันใน พ.ศ.2509 เกือบทั้ง หมด เพิ่มใหม่เข้ามา หนังพร้อมน้อยตะลุงสากล

         พ.ศ.2511 ได้รับรางวัลเทพบุตรพิณทอง ของนายพ่วง ช่วยคงทอง นักจัดรายการชื่อดังของภาคใต้ โดยแข่งกับหนังตะลุงชุดเดิมอีกที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช

         พ.ศ. 2512 ได้รับรางวัลแหวนเพชร ผู้จัดและสถานที่เช่นเดียวกับ พ.ศ.2511 คู่แข่งก็ชุดเดิม

         พ.ศ. 2514 ได้รับรางวัลถ้วยเกียรติยศของสโมสรไลออนส์ จังหวัดพัทลุง โดยแข่งขันกันที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง การแข่งขันครั้งนี้มีหนังตะลุงเข้าแข่งขันจำนวนเกือบ 20 คณะ รางวัลมี 2 รางวัล คือ รางวัลคนดูมากที่สุด และรางวัลศิลปะการแสดงดีที่สุด ปรีชาได้รางวัลหลัง

         นอกจากรางวัลที่กล่าวแล้ว ปรีชายังได้รับรางวัลเบ็ดเตล็ดอีกมากมาย เพราะเที่ยวแสดงหนังทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี ชื่อของปรีชาเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ปรีชายังแสดงหนังในภาคกลางด้วยหลายแห่ง เช่น ในกรุงเทพฯ แสดงที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ วัดพิชัยญาติการาม วัดภคีนีนาฏ สุพรรณบุรี แสดงที่วัดไผ่ล้อม และแสดงที่จังหวัดชลบุรี

         ครั้นถึง พ.ศ.2516 ปรีชาเกิดความผิดปกติทางเสียง คือ เสียงแหบแห้ง ทั้งนี้ก็คงเนื่องจากช่วง พ.ศ. 2508 -2515 รับงานมากเกือบจะมิได้เว้นแต่ละคืนนั่นเอง อาการดังกล่าวทำให้ชาวบ้านลดความนิยมลง การแข่งขันก็แพ้เป็นส่วนใหญ่ และเป็นเช่นนั้นหลายปี จนถึง พ.ศ. 2521 จึงรักษาอาการของเสียงที่แหบแห้ง ปรีชาจึงเริ่มพิสูจน์ความดีเด่นที่เคยมีในอดีตอีกครั้งหนึ่ง และทำได้สำเร็จสืบมาจนปัจจุบัน

         ปรีชาดำเนินชีวิตศิลปินโดยยึดหลัก 3 ประการ คือ

         1. สัจจะถือมั่นสำคัญสุด รับงานการแสดงของใครไว้จะต้องปฏิบัติตาม

         2. วางตัวให้ชาวบ้านนับถือ คือ สุขภาพและเว้นอบายมุข และ

         3. ใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่เสมอ

         อนึ่ง ในขณะแสดงหนังปรีชาจะทำตนให้มีสมาธิไม่วอกแวก ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าเสียสมาธิเมื่อไรจะแสดงหนังได้ไม่ดี ปรีชานอกจากจะยึดแนวดำเนินชีวิตเหล่านี้เฉพาะตนแล้วยังสอนย้ำแก่ลูกศิษย์ด้วยโดยเฉพาะเรื่องสัจจะจะเน้นเป็นพิเศษศิษย์ของปรีชา มีประมาณ 30 คน แต่ที่พอมีชื่อรู้จักในวงการศิลปินมีประมาณ 10 คน ศิษย์ทุกคนใช้คำว่า "สงวนศิลป์" ต่อท้ายชื่อ เช่นหนังวิรัตน์น้อย สงวนศิลป์ หนังวิเชียรน้อย สงวนศิลป์ หนังสวัสดิ์ สงวนศิลป์ และหนังครวญ สงวนศิลป์ เป็นต้น ถึงแม้ปรีชาจะมีภาระงานการแสดงหนังตะลุง แต่ก็มิได้ละเลยสังคม ได้พยายามช่วยตามที่ความรู้ความสามารถพอจะช่วยได้ เช่น เป็นประธานชมรมลูกเสือชาวบ้าน อำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นประธานกรรมการการศึกษากลุ่มโรงเรียนเขาน้อย อำเภอร่อนพิบูลย์ (มีโรงเรียนกลุ่ม ๗ โรง) เป็นกรรมการสุขาภิบาลตำบลร่อนพิบูลย์ เป็นประธานร่มเกล้าชาวใต้รุ่นที่ 11 (เป็นโครงการอบรมศิลปินและผกค.กลับใจ ของ กอ.รมน. อบรมที่สนามกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2521 ) เป็นประธานชมรมศิลปินชาวใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 - ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเข้าฝึกอบรมตามโครงการต่างๆ ของทางราชการอีกหลายโครงการ เช่น อบรมวางแผนพัฒนาอำเภอ อบรมหลักสูตรดับเพลิง อบรมหมอแผนโบราณ (ที่จังหวัดนครปฐม) และอบรมโครงการสอนหนังสือให้แก่ผู้ไม่รู้หนังสือวของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

         ด้านครอบครัว ปรีชามีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อพรรณี มีบุตร 6 คน คนที่ 2 ชื่อลำใย มีบุตร 5 คน ปัจจุบันตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านเลขที่ 327 หน้าสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ หมู่ที่ 7 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวิง  หนูเกื้อ
ประวิง หนูเกื้อ
จันทร์แก้ว  บุญขวัญ
จันทร์แก้ว บุญขวัญ