ประทุม โสมจันทร์ หรือ "หนังประทุม เสียงชาย" เป็นหนังตะลุงสตรีที่มีชื่อเสียงคณะหนึ่ง มีความใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาการเล่นหนังแบบดั้งเดิม จนได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนวิชาหนังตะลุงให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช ประทุม เป็นบุตรนายเลื่อน นางเคล้า ขาวเรือง เกิดที่บ้านโคกทอง หมู่ที่ 7 ตำบลทรายขาว อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2491 เป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน วันที่ประทุมถือกำเนิดนั้นมีหนังแข่งที่โรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็น คือ หนังจันทร์แก้วราชครู หนังโบราณ กับหนังเอี่ยม เสื้อเมือง

         คืนวันนั้นคุณแม่เคล้าเจ็บท้องถึงกำหนดคลอดอยู่ที่บ้านใกล้กับโรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็น คุณลุงตั้งพี่ชายของคุณพ่อเลื่อนได้เอาแผงหนังตะลุงของครูหนังจันทร์แก้วไปไว้ที่บ้าน เหมือนมีอาถรรพ์บางอย่าง คุณแม่เคล้าเจ็บท้องเท่าใดก็คลอดไม่ได้ หมอตำแยพากันหมดหนทางก็บังเอิญได้ยินเสียงลุงเมือง รูปหนังตะลุงในแผงดังขลุกขลักขลึงขลัง เหมือนมีใครเอามาเชิดอยู่นอกจอ ทำให้คิดขึ้นว่าต้องไปหานายหนังเจ้าของรูปลุงเมืองมาแก้ไข ครั้นหนังจันทร์แก้วมาเสกน้ำมนต์และต้มยามีดอกบัวหลวงบาน 3 ดอก ให้คุณแม่เคล้ากินก็คลอดทันทีเป็นหญิง ครูหนังจันทร์บอกว่า "เออ…คลอดแล้ว ขอตั้งชื่อนะ ให้ชื่อ ประทุมรัตน์" คือประทุม เสียงชาย

         เมื่อประทุมอายุได้ 7 ปี บิดาได้ย้ายครอบครัวไปอยู่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเขาน้อย อำเภอดังกล่าวจบประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดเขาน้อยเมื่ออายุ 11 ปี ในปี พ.ศ.2502 ขณะทีประทุมยังเป็นนักเรียน เธอรู้สึกชอบหนังตะลุงอย่างจับใจ มีเวลาว่างก็เอาใบไม้มาสมมติเป็นรูปหนังแล้วเชิดเล่นหรือไม่ก็วาดรูปต่างๆ ลงบนพื้นดิน แล้วขับร้องกลอนเจรจาและตลกไปประสาเด็ก จบตอนหนึ่งก็ลบ วาดรูปและเล่นตอนใหม่ เมื่อออกจากโรงเรียนเธอก็ยุให้บุญฤทธิ์ซึ่งเป็นน้องชายปลูกโรงเล็กๆ เล่นหนัง เพื่อเธอจะได้มีโอกาสเล่นด้วยที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะถ้าเธอลงมือทำเองจะถูกพี่ชายเฆี่ยนด้วยเห็นว่าเป็นการละเล่นที่ไม่เหมาะกับลูกผู้หญิง แม้ประทุมจะหาทางออกเช่นนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่วายถูกลงโทษอยู่เรื่อย ในที่สุดเธอก็ยืนกรานว่าถึงจะถูกลงโทษอย่างไรก็จะเป็นหนังตะลุงให้ได้ และให้สัญญากับพี่ชายว่าถ้าเป็นหนังแล้วประพฤติเสื่อมเสียขอให้ลงโทษอย่างไรก็ได้ตามชอบใจจนอายุได้ 13 ปี พี่ชายเห็นว่าทัดทานไว้ไม่สำเร็จ

         จึงหันมาสนับสนุนโดยปลูกโรงและเป็นลูกคู่ให้ด้วย การหัดหนังครั้งนั้นประทุมได้ นายฤกษ์ หนูทอง เพื่อนบ้านซึ่งเป็นพ่อยก (เทียบได้กับแม่ยก)ช่วยสอนและแต่งเรื่องให้ เธอหัดอยู่ราว 6 เดือน ก็ออกเล่น 3 วัด 3 บ้าน ต่อมาบิดานำไปฝากให้เป็นศิษย์หนังประวิง หนูเกื้อ (ชีช้าง) แห่งอำเภอหัวไทร ซึ่งเป็นหนังมีชื่อเสียงามากคณะหนึ่งในสมัยนั้น หนังประวิงได้สอนให้ว่ากลอน หัดเดินทำนองและเรียนเรื่องใหม่ๆ อยู่กับหนังประวิงได้ไม่นาน ที่บ้านหัวถนนการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีหนังแก้ว บรมครูหนังตะลุงเมืองนครศรีธรรมราชเป็นผู้ประกอบพิธี ครั้นนั้นมีหนังเข้าพิธีครอบมือหลายคณะ ประทุมไปในงานดังกล่าวด้วยปรารถนาจะได้ไหว้ขอพรจากบรมครูหนังจันทร์แก้วจึงคลานเข้าไปหาหนังจันทร์แก้วครอบมือให้โดยเธอมิได้คาดคิดไว้ก่อนในพิธีครอบมือประทุมจับรูปเสี่ยงทายได้รูป "ยอดทอง" ทันทีที่เธอจับได้รูปดังกล่าว หนังจันทร์แก้วกล่าวว่า "ได้กูคนหนึ่งแล้ว" เป็นอันว่าเธอได้เป็นหนังโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันนั้น ซึ่งมีอายุได้ 11 ปีเต็ม

         หลังจากครอบมือแล้ว ประทุมได้อยู่ใกล้ชิดหนังจันทร์แก้วระยะหนึ่ง ได้เรียนวิชาไสยศาสตร์เยี่ยงหนังตะลุงแต่โบราณกาลเชื่อถือกันมา เช่น วิชาฝ่ายเมตตามหานิยม การผูกใจคน การกันร่าง และการแก้คุณไสยต่างๆ จากนั้นประทุมได้เดินโรงเที่ยวแสดงหนังไปเกือบทั่วภาคใต้ จนอายุได้ 18 ปี บิดาได้ย้ายครอบครัวกลับมาอยู่หัวไทรอีก และที่นี่ในปีถัดมาเธอได้แต่งงานกับนายจำเริญ โสมจันทร์ ครูโรงเรียนหัวไทรประถมศึกษาตอนปลาย และมีบุตรด้วยกัน 3 คน

         ประทุมใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้ เธอเห็นว่าหนังตะลุงต้องพัฒนาตนเองให้ทันกาลสมัย ด้วยเหตุนี้เมื่อโรงเรียนหัวไทรประถมศึกษาตอนปลายเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น เธอจึงได้สมัครเข้าเรียนโดยเข้าเรียนหลักสูตรระดับ 3 (เทียบประถมศึกษาปีที่ 7) เมื่ออายุ 24 ปี สอบเทียบประถมศึกษาปีที่ 7 ได้ในปี พ.ศ. 2515 ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๗ เรียนจบการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 4 (เทียบมัธยมศึกษาปีที่ 3) จบแล้วญาติฝากชื่อให้เป็นครูโรงเรียนไตรภูมิ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อให้มีสิทธิสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ประทุมสอบได้ประกาศนียบัตรครู พ.กศ. ในปี พ.ศ.2519 ได้ประกาศนีบัตรครู พ.ม. ปี พ.ศ.2521 ปี พ.ศ.2523 วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชได้เชิญเป็นลูกจ้างชั่วคราวสอนวิชาหนังตะลุงและวิชาภาษาไทยให้แก่นักศึกษา หลังจากเข้าเป็นลูกจ้างได้ไม่นาน ก็ได้คัดเลือกให้ศึกษาต่อครุศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย วิชาโทนาฏศิลป์ ณ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช และจบการศึกษาได้ปริญญาจากสถาบันดังกล่าวในปี พ.ศ.2527

         เรื่องหรือนิยายที่ประทุมใช้แสดงเป็นประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งสิ้น สมัยแรกๆ ทีหัดหนัง นายฤกษ์เป็นผู้แต่งเรื่องให้ ต่อมาเมื่อเธอไปดูหนังก็จะชวนพี่สาวที่ชื่อแนวไปด้วย ครั้นกลับมาก็ช่วยกันปับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องขึ้นใหม่ บางเรื่องก็ได้นำสมุดบันทึกเรื่องและกาพย์กลอนของหนังตะลุงอื่นมาดัดแปลง ได้แก่ ของหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ จังหวัดสงขลา และของหนังพร้อมน้อย จังหวัดพัทลุง แนวเรื่องที่ถนัดจะเป็นนิยายชีวิตที่แฝงคติสอนไว้ นิยายที่ทำเงินและใช้แสดงแล้วชนะ ในการประชันมากที่สุดคือ เรื่อง "ยาจกแย่งบัลลังก์" นอกจากนี้เรื่องที่จัดว่าได้รับความสำเร็จค่อนข้างมากก็คือเรื่อง "ทาสรัก" และ "นางทาส"ประทุมแสดงหนังโดยยึดแนวดั้งเดิม ดนตรีใช้โหม่ง ทับ และปี่เป็นหลัก การแสดงพยายามใช้กลอนทุกรูปแบบที่หนังสมัยก่อนใช้เช่น กลอนสี่ กลอนสามห้า กลอนลอดโหม่ง และกลบทต่างๆ การเชิดรูปก็พยายามทำอย่างสุดฝีมือ รายละเอียดของเรื่องได้สอดแทรกชีวิตพื้นบ้านลงไว้เกือบทั้งหมด โดยชี้ให้เห็นคุณค่าและโน้มน้าวใจผู้ชมให้ตระหนักค่าในความเป็นพื้นบ้านเหล่านั้น เช่น บทเกี้ยว เธอก็ใช้โวหารอย่างชาวบ้านเช่นตอนหนึ่งว่า

          "เรไรชั่งตั้งหม้อหุงข้าว

ถามสาวทำคอแคงถามว่าน้องแกงไหร
อ้ายนุ้ยทั้งสองไม่ต้องคล้องคอไก่ แกงไหรก็ได้ที่มันไม่บาปกรรม
น้ำชุบซุบปลาร้าปลาจี่ ถ้ากินที่นี่แล้วพี่อิ่มหนำ
ส่งครกมานี่ต้าพี่ช่วยตำ พี่ไม่ต้องทำมันบาปกรรมเปล่าเปล่า"

         การสอนวิชาหนังตะลุงให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช เธอพยายามเน้น คุณค่าดังกล่าวมานี้เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามและมีคุณค่าทางศิลปะกว่าการแสดงหนังตลุงแบบใหม่มาก นอกจากสอนนักศึกษาแล้ว ประทุมยังมีศิลปินที่เป็นลูกศิษย์อีกหลายคน ที่พอมีชื่อเสียง ได้แก่ หนังหญิงจำเริญ บ้านห้วยน้ำเย็น อำเภอหัวไทร และหนังหญิงบุญรวย อำเภอห้วยยอด ส่วนบุตรของเธอๆ เพียงแต่สอนให้เข้าถึงคุณค่าของศิลปะประเภทนี้ แต่ไม่หวังจะให้สืบทอดเพราะชีวิตของเธอลำบากกับการเร่ร่อนเที่ยงแสดงหนังมามากแล้ว

         วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2535 ขณะที่หนังประทุมกำลังแสดงอยู่ที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ชมเมาสุราก่อกวนอยู่บริเวณหน้าโรงหนัง หนังประทุมจึงได้สอดแทรกคำสอนเข้าไปในบทแสดง เป็นเหตุให้ผู้นั้นไม่พอใจและเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดขึ้นคือ บุคคลนั้นได้ยิงปืนขึ้นไปบนโรงหนัง จนเป็นเหตุให้หนังประทุมเสียชีวิตทันที นายสงวน กลิ่นหอม ครูโรงเรียนเทศบาลวัดศาลามีชัย ได้ประพันธ์บทกลอนเป็นที่ระลึกแก่หนังประทุม เสียงชายไว้เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2535 ดังนี้

ได้ยินข่าวเศร้าต่อไปนี้
จะไม่มี โหม่ง ฉิ่ง ทับ เสียงขับขาน
ศิลปินต้องมาตายกับอันธพาล
ในสันดานมืดมิดหนอจิตคน
เกิดเป็นหนังตะลุงมุ่งสร้างสรรค์
บนเส้นทางความสุขทุกแห่งหนนิยายหนังสอดแทรกแจกมวลชน
บำเพ็ญตนศิลปินถิ่นเมืองคอน
เป็นผู้หญิงแต่ใจใฝ่ต่อสู้
ออกจากครูเล่นหนังดังกระฉ่อน
แต่ด้วยมือคนใจสัตว์มาตัดทอน
ดับเสียก่อนแม้วัยไม่สมควร
ฤทธิ์สุราพาไปไม่ตระหนัก
นิสัยกักขฬ์ลืมผิดชอบการสอบสวน
หนังแสดงดื่มสุรามาก่อกวน
เป็นชนวนเข่นฆ่าปัญญาชน
แสนเสียดายมันสมองของนักศิลป์
มาสูญสิ้นอย่างไร้ค่าอนุสนธิ์
หนังผู้หญิง เมืองพระ ครามืดมน
กว่าจะมีอีกสักคนก็คงนาน
ขอเอาอักษราเป็นอนุสรณ์
ร้อยบทกลอนตั้งจิตอธิษฐาน
แสดงความสูญสิ้นร่างวิญญาณ
และเป็นการคารวะด้วยอาลัย
ร่างของหนังประทุมจอคลุมร่าง
ตายอยู่กลางเวทีที่ยิ่งใหญ่
ศิลปินเมืองใต้ได้เตือนใจ
ราชการไทยตายเพื่อชาติร่างพาดธง…
ประทิ่น  บัวทอง
ประทิ่น บัวทอง
ประวิง  หนูเกื้อ
ประวิง หนูเกื้อ