ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนาเป็นการเล่นพื้นเมืองที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของชาวเมืองนครศรีธรรมราชและชาวภาคใต้ทั่วไป ไม่ทราบแน่ชัดว่าการละเล่นชนิดนี้มีมาตั้งแต่เมื่อใดคนเก่าคนแก่ของชาวภาคใต้ซึ่งมีอายุมากกว่า 70 ปีแล้วเล่าให้ฟังว่ามีคณะลิเกป่าเล่นกันมานานและเกือบจะพูดได้ว่ามีอยู่เกือบจะทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะที่อำเภอเมืองมีลิเกป่ามากกว่าที่อื่นใดทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันนี้จะหาดูลิเกป่าจากที่ใดในเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้อีกแล้ว


          มีผู้กล่าวว่าลิเกป่าได้แบบอย่างมาจากพวกแขก กล่าวคือ คำว่า "ลิเก" มาจากการร้องเพลงสรรเสริญพระเป็นเจ้าของแขกเจ้าเซ็นที่เรียกว่า "ดิเกร์" ซี่งเป็นภาษาเปอร์เซีย เพราะนิกายเจ้าเซ็นนี้มาจากเปอร์เซีย พวกเจ้าเซ็นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเคยได้รับพระราชูปภัมถ์มากมายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพราะพวกเจ้าเซ็นมีเสียงไพเราะ ร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันทั่วไป ต่อมาไม่นานนอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ๆ แล้วก็มีคนไทยหัดร้องเพลงดิเกร์ขึ้น ขั้นแรกก็มีทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวด ต่อมาเมื่อคนไทยนำมาร้องก็กลายเป็นแบบไทย และคำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเกหรือยี่เก แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากพิจารณาถึงเครื่องดนตรี รำมะนาที่ลิเกป่าใช้ประโคมประกอบการเล่นนั้น ชวนให้เข้าใจว่าการเล่นลิเกป่าน่าจะได้แบบอย่างมาจากมลายู เพราะมลายูมีกลองชนิดหนึ่งเรียกว่า "ระบานา" (Rebana) ซึ่งมีสำเนียงคล้ายกับรำมะนาของไทยเราดังกล่าวแล้ว

          ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนาซึ่งเคยมีเล่นกันแพร่หลายในนครศรีธรรมราช เล่นได้เกือบทุกงานเช่นงานแต่งงาน บวชนาค งานวัด งานศพ โรงสำหรับแสดงคล้ายกับโรงมโนห์ราคือปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างและยาวเท่าๆ กับโรงมโนห์รา มีหลังคา ยกพื้นหรือไม่ยกพื้นก็ได้ ใช้เสื่อปู หน้าโรงโปร่งทั้งสามด้าน ตรงกลางมีฉากหรือม่านกั้น ส่วนหลังโรงใช้เป็นที่แต่งตัวและเก็บเครื่องใช้ไม้สอย ตะเกียงที่ใช้ใช้เป็นตะเกียงเจ้าพายุ หรือไม่ก็ใช้ไต้จุดช่วย

          เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงได้แก่
กลองรำมะนา
2-3 ใบ
ฉิ่ง 2 คู่
กรับ 1 คู่ ปี่ชวา
กลองทัด โหม่ง
ฆ้อง ระนาด



          การแต่งกายของตัวแสดงส่วนใหญ่มีชุดอย่างไรก็แต่งกันอย่างนั้น คือตามมีตามเกิด มีมากแต่งมากมีน้อยแต่งน้อย แต่พระเอกจะแต่งกายงามเป็นพิเศษ คือนุ่งผ้าโจรงกระเบน ใส่เสื้อแขนยาว ใส่ทองกร สวมสายสร้อย สังวาล ทับทรวง ถ้ามีชฎา ซึ่งอาจจะทำด้วยกระดาษหรือหนัง ประดับประดาด้วยพลอยหรือกระจกให้แวววาว ส่วนนางเอกก็นุ่งผ้าถุงจีบใส่เสื้อแขนสั้น กำไลเท้า มีผ้าห่มคลุมห้อยพาดหลัง อาจจะสวมใสชฎา
หรือใส่กระบังหน้าหรือไม่ใส่ก็ได้ เครื่องประดับอื่นๆ ก็มีสร้อยร้อยลูกปัด ถ้าเป็นตัวตลก หรือเสนาอำมาตย์ก็แต่งกายอย่างง่ายๆ คือไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าถุง แต้มหน้าทาคิ้วให้ดูแล้วน่าขัน


          ผู้แสดงลิเกป่าคณะหนึ่งๆ มีไม่เกิน 8 คน แต่ถ้ารวมลูกคู่เข้าไปด้วยก็มีจำนวนคนเท่าๆ กัน กับมโนห์ราคณะหนึ่งทีเดียว
          การแสดงลิเกป่าจัดแสดงได้ในเกือบทุกงานดังกล่าวแล้ว ก่อนลงมือแสดงจะต้องโหมโรงก่อนประมาณ 15-20 นาที การโหมโรงจะใช้กลองรำมะนาตีประโคมเพื่อให้จังหวะ กับมีบทเพลงคล้ายๆ กับลำตัดร้องไปด้วย โดยผลัดกันร้องทีละคน เวียนเป็นรูปวงกลม ขณะที่ร้องเพลงจะต้องขยับท่าให้เข้ากับคำร้องและจังหวะของกลอง บางทีอาจจะมีลูกคู่ออกมารำสมทบด้วย ผลัดเปลี่ยนกันไปทีละคู่ ๆ การร้องเพลงและประโคมดนตรีเช่นนี้เรียกว่า "เกริ่นวง" ตัวอย่างเพลงเกริ่นของลิเกป่ามีดังนี้
 
"น้ำขึ้นเต็มคลอง
แม่ไม่ใส่เสื้อ
"น้ำเอยเจ้าไหลรี่
ลอยมาข้างนี้
"โอ้เจ้าช่อมะม่วง
ถ้าน้องลวงพี่

เรือล่องไปติดซัง
ถ่อเรือไปแลหนัง
ไอ้ปลากระดี่ลอยวน
มารับเอาพี่ไปด้วยคน"
โอ้เจ้าพวงมะไฟ
พี่จะหนีไปแห่งใด"
          
หลังจากร้องเพลงเกริ่นแล้วก็เป็นการออกแขก แขกที่ออกมาจะแต่งกายและแสดงท่าทางตลอดจนสำเนียงพูดเลียนแขกอินเดียทุกอย่าง อาจจะมีเพียงตัวเดียวหรือ 2 ตัวก็ได้โดยผลัดกันออกมาคือแขกขาวกับแขกแดง ออกมาเต้นหน้าเวทีพร้อมกับแสดงท่าทางและร้องประกอบโดยมีลูกคู่รับไปด้วย หลังจากแขกเข้าโรงแล้ว จะมีผู้ออกมาบอกกับผู้ดูว่าจะแสดงเรื่องอะไร และหลังจากนั้นก็เป็นการแสดงเรื่องราว
          เรื่องที่ลิเกป่านิยมเล่นกันมากได้แก่วรรณคดีเก่าๆ เช่น อิเหนา โคบุตร สุวรรณหงส์ ลักษณวงศ์ เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองตามยุคสมัยที่นิยมกันก็มี
          ภาษาที่พวกลิเกป่าใช้ ไม่ว่าจะเป็นบทร้องหรือบทเจรจาพวกลิเกป่าจะใช้ภาษาของชาวพื้นเมืองที่ตถนัดกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นตัวเอกทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะใช้ภาษาที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่าภาษาข้าหลวง คือเป็นภาษากลาง แต่สำเนียงพูดแปร่งๆ ผิดๆ ถูกๆ หรือที่เรียกกันว่า "พูดทองแดง"
          จากที่กล่าวมาแล้วน่าจะสรุปได้ว่า ที่เรียกการละเล่นชนิดนี้ว่าลิเกป่านั้นคงจะเนื่องมาจากเล่นไม่ยึดถือแบบฉบับ ขาดความสมบูรณ์ในทุกๆ ด้านและเล่นกันเป็นงานบันเทิงสมัครเล่นเพื่อความสนุกสนานตามประสาชาวบ้านป่า ไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพแน่นอนนั่นเอง
          ในปัจจุบันการเล่นลิเกป่าที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหาดูไม่ได้อีกแล้ว ทั้งนี้เพราะมีเหตุหลายประการที่ทำให้การละเล่นชนิดนี้เสื่อมสูญไป เช่น เนื่องจากการเล่นลิเกของภาคกลาง ซึ่งเผยแพร่เข้ามาดูน่าชมกว่า เล่าเรื่องที่น่าสนใจกว่า การขับร้องและท่ารำก็แปลกและพิสดารกว่า และสาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือลิเกป่าเป็นลิเกสมัครเล่น ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพจริงจังดังกล่าว พร้อมกันนั้นอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกได้เผยแพร่เข้ามามากลิเกป่าจึงเสื่อมหายไปในที่สุดจนเกือบจะหาชมไม่ได้อีกเลย


          ลิเกป่านิยมเล่นกันแถบชนบท บ้านนาบ้านป่า เป็นการหาความสนุกสนานในยามว่างงาน เป็นลิเกสมัครเล่นไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก นิยมเล่นกันแถบชนบท บ้านนาบ้านป่า เป็นการหาความสนุกสนานในยามว่างงาน เป็นลิเกสมัครเล่นไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก แต่ถ้าใครรับไปแสดงในงานต่างๆ ก็จะรวมสมัครพรรคพวกไปเล่นได้ อัตราค่าแสดงก็ไม่แน่นอนแล้วแต่ข้อตกลงกับเจ้าภาพ เช่น ระยะเวลาที่แสดง ระยะทางและค่าพาหนะในการเดินทาง เป็นต้น


หนังตะลุง

home


กาหลอ