เพลงร้องเรือไม่ใช้เพลงเรือ เป็นเพลงกล่อมเด็กของชาวปักษ์ใต้ นักมนุษยวิทยาถือว่าเพลงร้องเรือเป็นวรรณกรรม มุขปาฐะ ( วรรณกรรมที่ถ่ายทอดด้วยปาก มิได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ) มีวิวัฒนาการจนกลายเป็นวรรณกรรม เพื่ออนุรักษ์ความคิดของคนโบราณ นอกจานี้เพลงร้องเรือยังสอดแทรกปัญหา อารมณ์ขัน และแสดงให้เห็นถึงระบบของสังคม

        ชาติต่าง ๆ เกือบทุกชาติในเอเชีย เช่น พม่า ลาว และเขมร ต่างก็มีเพลงกล่อมเด็กทั้งสิ้น นอกจากนี้ชาติอื่น ๆ ในยุโรปมีเพลงชนิดนี้เช่นกัน อาจจะกล่าวเพลงร้องเรือเป็นสากล

        เพลงร้องเรือมีจุดประสงค์ร่วมกันคือ ต้องการให้เด็ก นอนหลับง่ายและหลับสนิท เด็กจะรู้สึกอบอุ่นทั้งทางกายและใจ เพลงร้องเรือนอกจากมีประโยชน์ทางจิตวิทยาโดยอ้อมด้วย และช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยของผู้เลี้ยงไปในตัวด้วย นอกจากนี้เนื้อร้องยังมีคติจนกลายเป็นเครื่องเตือนใจได้เป็นอย่างดี


ลักษณะเพลงโดยทั่วไป 

 

    เพลงกล่อมเด็กหรือเพลงร้องเรือของชาวปักษ์ใต้มีเนื้อร้องแปลก ๆ กันออกไปตามท้องถิ่นที่อยู่ของผู้ร้อง แต่ทำนองจะคล้าย ๆ กันแทบทุกแห่ง เนื้อความบางส่วนเป็นเรื่องล้อเลียนเสียดสีสังคม บางบทเป็นบทฝากรัก ตัดพ้อต่อว่า และอบรมสั่งสอน บางบทกล่าวถึงเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านที่แพร่หลาย เช่น เรื่องมโนราห์หรือพระสุธน รามเกียรติ์ สังข์ทองและนางผมหอม จึงเป็นเหตุให้เพลงร้องเรือเกิดประโยชน์เพิ่มเตม โดยเฉพาะให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่ผู้สนใจพร้อม ๆ กับความบันเทิงใจด้วย

            เพลงร้องเรือชาวนครศรีธรรมราชร้องกันอย่างแพร่หลาย แต่ละบทแสดงกล่าวถึงเรื่องราวในอดีตของสังคมและอดแทรกความรู้สึกนึกคิด นิสัยใจคอ คติในการดำเนินชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของชาวนครศรีธรรมราช

ทำนองการร้อง
              
    ทำนองที่ใช้ร้อง ขึ้นต้นด้วย " ฮาเออ้........เหอ " ด้วยเสียงยาวและลงท้ายด้วยคำว่า " เหอ "

ลักษณะเนื้อร้อง

              ( 1) เพลงเกี่ยวกับประวัติศาตร์
        " เมืองคอนเหอ   ไปซื้อผ้าลายทองสลับ
    พระศรีธรรมโศกราชมีวาสนา   ได้ก่อมหาธาตุยอดทองคำ
    ไว้เป็นที่บูชามหาชน   ฝุงชนบูชาอุปถัมถ์
    ที่ทรุดโทรมซ่อมไว้มิให้ต่ำ   เช้าค่ำคนบูชา.......เหอ
              เนื้อเพลงนี้เสมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นมาในอดีต แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์

              (2) เนื้อเพลงที่แสดงให้เห็นอาชีพด้านอุตสาหกรรมในครัวเรือน
        ไปเมืองคอนเหอ   ไปซื้อผ้าลายทองสลับ
    ซื้อมาทั้งพับ   สลับทางห่างห่าง
    หยิบนุ่งหยิบห่ม   ให้สมขุนน้ำขุนนาง
    สลับทองห่าง ๆ   ทุกหมู่ขุนนางนุ่ง.......เหอ
              เนื้อเพลงนี้ในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราชมีการทอผ้ากันแพร่หลายคือ " ผ้ายกเมืองนคร " ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเสียงมาก

              (3) เนื้อเพลงที่แสดงความน้อยอกน้อยใจ ในเชิงเสียดสีสังคม
        ฝนตกเออ   ฝนตกมาแซ่แซ่
    กางชิงไปรับแม่   แม่ของเราแก่มากลางฝน
    แม่เขาทั้งหมดกางร่ม   แม่เรากางชิงใบมน
    แม่เหอแกมากลางฝน   ตกหนนหนทางเดิน........เหอ
              เนื้อเพลงตอนนี้แสดงถึงความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคม นอกจานี้ยังสะท้อนให้เห็นสภาพดินฟ้าอากาศและธรรมชาติภาคใต้ว่ามีฝนตกเสมอ ทำให้ทราบถึงพืชพันธุ์ที่ขึ้นเช่น ชิงหรืใบชิง แมงตาหรืออีหุบ ( ใบจากที่เอามาเย็บคล้ายกระแชงแต่ใช้สวมหัวได้ )

              (4) เนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ความอาลัย
        รักนุชเหอ   สิ้นสุดพี่รักเจ้าหนักหนา
    เหมือนศรีสุธธนรักโนรา   สีดารักนารายณ์ไม่คลายใจ
    ไปขอพ่อแม่เขาไม่ให้   พี่ชายนอนน้ำตาไหล
    รักนุชสิ้นสุดแค่หัวใจ   พ่อแม่เขาไม่ให้........เหอ
              เนื้อเพลงตอนนี้เป็นกวีโวหาร กล่าวรำพันรักโดยนำเอาความรักของตัวละครในววรรณคดีมากล่าวเปรียบเทียบ

              (5) เนื้อเพลงเกี่ยวกับวรรณคดี
        ฟ้าลั่นเหอ   ลั่นมาคึกคึก
    พระศรีสุธนไปรบศึก   รำลึกถึงนางมโนราห์
    กาหนุ่ยยอกสร้อย   ไม่ทักเท่าก้อยเกศา
    รำลึกถึงนางมโนราห์   เป็นบ้าวังเวงใจ........เหอ
              เนื้อเพลงบทนี้กล่าวถึงเรื่องพระสุธนรำลึกถึงนางมโนราห์ผู้เป็นมเหสีของตน

              (6) เนื้อเพลงที่เป็นสุภาษิต
        หมากอ่อนหอ   ผ่าน้ำเล่นล่องคลองใน
    รู้ข่าวว่าพี่ได้เมียใหม่   หน้าใยไม่ควรจะหึงสา
    ช้างเล่นอย่ายุงหาง   ไม่ใช้ที่ทางนางกานดา
    พลายทองเป็นบ้า   กลับมาหาโรงเอง........เหอ
              เป็นสุภาษิตที่มีค่ายิ่ง สอนให้ผู้หญิงมีใจคอหนักแน่น รู้จักหักอารมณ์หึงห่วงอย่างถูกวิธี ใช้แก้ปัญหาในครอบครัวได้อย่างดี หมากออ่นเป็นสัญลักษณ์แทนหญิงสาวที่ยังอ่อนต่อโลก

              (7) เนื้อเพลงที่แสดวถึงความเชื่อ
        นอนเถิดเจ้านอน   นอนหลับดี
    แม่ซื่อทั้งสี่   มาช่วยพิทักษ์รักษา
    อาบน้ำป้อนข้าว   ช่วยรักษาเจ้าทุกเวลา
    มาช่วยพิทักษ์รักษา   เด็กอ่อนยังนอนเปล........เหอ
              เพลงบทนี้แสดงถึงความเชื่อที่ว่าเทวดานั้นมีจริง และเทวดารักษาเด็ก เรียกว่า แม่ซื่อ ( ศรีพรหมยักษ์รักษกุมาร )

           การศึกษาเพลงร้องเรือของเมืองนครศรีธรรมราชและภาคใต้ นอกจากจะเป็นกระจกเงาฉายให้เห็นสภาพสังคม ความรู้สึกนึกคิด นิสัยใจคอของชาวเมืองแล้วยังเป็นแนวทางในการศึกษา ภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรมด้วย



กระโดดสาก

home



เพลงคำตัก