หนังตะลุงคณะหนึ่งเรียกว่า 1 โรง ในสมัยก่อนคณะหนังตะลุงมีประมาณ 9 - 12 คน ประกอบด้วย นายหนัง (ผู้เล่น) 2 คนนั่งทาง หัวหยวก (ส่วนโคนของต้นกล้วยที่ใช้ปักรูปหนัง) สำหรับพากย์รูปพระ รูปนางคนหนึ่งนั่งทางปลายหยวก สำหรับพากย์ยักษ์ ตัวตลกและ ตัวเบ็ดเตล็ดอื่นๆ นายหนังทั้งสองจึงเรียกกันในสมัยก่อนว่า หัวหยวก - ปลายหยวก มีลูกคู่ครบตามเครื่องดนตรี คือ คนตีทับ 2 คน (ต่อมาใช้คนเดียวตีทับ 2 ลูก) กลอง 1 คน ปี่ 1 คน โหม่ง 1 คน ฉิ่ง 1 คน กรับ 1 คน (ตอนหลังคนตีโหม่ง ฉิ่ง และกรับใช้คนเดียว) และมีหมอทางไสยศาสตร์ประจำโรงอีก 1 คน ซึ่งเรียกว่า หมอกบโรง
         ต่อมา เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร เล่าว่าระยะต่อมาหนังบัว (ประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว) แห่งเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มคิดเล่นคนเดียว คือทั้งพากย์และเชิดเอง หนังรุ่นหลังจึงเอาอย่างและปฎิบัติสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
         ชื่อของคณะหนังตะลุงเรียกชื่อตามนายหนังและนิยมต่อด้วย สร้อยนาม ซึ่งตั้งขึ้นในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ตั้งตามชื่อตัวตลกที่เด่นสุดของคณะ เช่น หนังอิ่มเท่ง หนังช่วงดิก หนังปล้องไอ้ลูกหมี หนังแสงโถ ฯลฯ ตั้งตามคุณสมบัติที่ดีเด่นของนายหนัง เช่น หนังแคล้วเสียงทอง หนังจูลี่เสียงเสน่ห์ (เสียงดี) หนังขำพันวาว (ตลกเก่ง), ตั้งตามถิ่นอยู่ (มักตั้งในกรณีที่นายหนังมีชื่อตรงกัน) เช่น หนังเอี่ยมเกาะยอ (เกาะยออำเภอเมืองสงขลา) หนังเอี่ยมเสื้อเมือง(บ้านเสื้อเมือง อำเภอสทิงพระ, จังหวัดสงขลา) เป็นต้น

         หนังตะลุงคณะหนึ่งมีเครื่องดนตรีประกอบการเล่นประมาณ 6 อย่าง คือ
         1. กลอง 1 ลูก (เป็นกลองขนาดเล็ก มีหนังหุ้มสองข้าง หน้ากลองเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 8 -10 นิ้ว หัว-ท้ายเล็กกว่าตรงกลางเล็กน้อย กลองมีความยาวประมาณ10-20 นิ้ว ใช้ไม้ตี 2 อัน)
         2  ทับ 2 ลูก (1 คู่) ในสมัยก่อนดนตรีหลักมีทับ 1 คู่สำหรับคุมจังหวะและเดินทำนอง (ทับ ทำด้วยไม้กลึงและเจาะข้างใน ลักษณะคล้ายกลองยาวแต่ส่วนท้ายสั้นกว่าและขนาดย่อมกว่า หุ้มด้วยหนังบางๆ เช่น หนังค่าง) ทับทั้ง 2 ลูกนี้มีขนาดต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้ได้เสียงต่างกัน และสมัยก่อนมีขนาดโตกว่าปัจจุบัน
         3. ฉิ่ง 1 คู่
         4. โหม่ง 1 คู่ เสียงสูงลูกหนึ่ง ใช้สำหรับประกอบเสียงขับกลอน (โหม่งทั้งคู่ แขวนตรึงขนานกันอยู่ในรางไม้ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวโหม่งทำด้วยทองเหลืองหรือทองแดง ถ้าหล่อกลมแบบฆ้องขนาดฆ้องวงเรียกว่า "โหม่งหล่อ" ถ้าทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วดุนให้ส่วนที่จะตีสูงกลมขึ้นกลางแผ่นเรียกว่า โหม่งฟาก)
         5. ปี่ 1 เลา
         6. กรับ หรือ แกระ 1 คู่ (ใช้เคาะรางกับโหม่ง) สำหรับประกอบจังหวะ
         บางคณะอาจจะมีซออีก 1 สาย เป็นซอด้วงมากกว่าซออู้ เพราะเสียงเข้ากับเสี่ยงปี่ได้
         การบรรเลงดนตรี นอกจากโหมโรง (ชาวใต้เรียกว่าลงโรง) แล้วก็บรรเลงสลับไปตลอดการแสดง มักบรรเลงตอนขับกลอน ตอนเจรจาจะหยุดบรรเลง (อาจจะตีเครื่องให้จังหวะประกอบบ้าง)
         เพลงที่ใช้บรรเลง คือ เพลงโหมโรงใช้เพลงทับ ตอนดำเนินเรื่องใช้เพลงทับบ้าง เพลงปี่บ้าง (เพลงทับคือเพลงที่ถือเอาจังหวะทับเป็นเอก เพลงปี่คือเพลงที่ใช้ปี่เดินทำนองเพลงซึ่งโดยมากใช้เพลงไทยเดิม แต่ปัจจุบันใช้เพลงไทยสากลและเพลงสากลก็มี
         ปัจจุบันหนังตะลุงนิยมนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาประสม เช่น บางคณะใช้กลองดนตรีสากล ไวโอลิน กีตาร์ ออร์แกน แทนเครื่องดนตรีเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง


เครื่องดนตรีของหนังตะลุง

         โรงหนังตะลุง ต้องยกเสา 4 เสา (ใช้ไม้ค้ำเพิ่มจากเสาได้) ขนาดโรงประมาณ 2.3 X 3 เมตร พื้นยกสูงเลยศีรษะผู้ใหญ่เล็กน้อย และให้ลาดต่ำไปข้างหน้านิดหน่อย หลังคาเป็นแบบเพิงหมาแหงน กั้นด้านข้างและด้านหลังอย่างหยาบๆ ด้านหลังทำช่องประตูพาดบันไดขึ้นโรง ด้านหน้าใช้ผ้าขาวบางขึงเป็นจอ จอกว้างและยาวประมาณ 5 x 10 ฟุต ในโรงมีตะเกียงน้ำมันไขสัตว์หรือตะเกียงน้ำมันมะพร้าว หรือตะเกียงเจ้าพายุหรือดวงไฟแขวนไว้ใกล้จอสูงจากพื้นราว 1 ฟุตเศษและห่างจากจอราว 1 ศอก นอกจากนี้ยังมีต้นกล้วยวางไว้ข้างฝาทั้งสองข้างของโรง เพื่อไว้ปักพักรูปหนัง ประเภทรูปเบ็ดเตล็ด ส่วนบนเพดานโรงจะมีเชือกขึงไว้สำหรับแขวนรูปหนังประเภทรูปที่สำคัญซึ่งมีรูปพระ รูปนาง เป็นต้น
         สำหรับจอหนัง ทำด้วยผ้าขาว รูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1.8 x 2.3 เมตรทั้ง 4 ด้านมอบริมด้วยผ้าสี เช่น แดง น้ำเงิน ขนาดกว้าง 4 - 5 นิ้ว มีห่วงผ้าเรียกว่า หูรามเย็บไว้เป็นระยะโดยรอบ หูรามแต่ละอันจะผูกเชือกยาวประมาณ 2 ฟุต 5 นิ้ว เรียกว่า หนวดราม สำหรับผูกขึงไปประมาณ 1 ฟุตจะตีตะเข็บนัยว่าเป็นเส้นแบ่งแดนกับแดนมนุษย์ เวลาเชิดรูปมีเฉพาะรูปฤาษี เทวดา และรูปที่มีฤทธานุภาพเท่านั้นที่เชิดเลยเส้นนี้ได้


จอหนังตะลุง

         หนังตะลุงคณะหนึ่งๆ มีรูปหนังประมาณ 150 - 200 ตัว รูปหนังตะลุงที่ทุกคณะจะต้องมีได้แก่ ฤาษี พระอิศวร ปรายหน้าบท เจ้าเมือง พระ นาง ตัวตลก เทวดา รูปเหล่านี้จะมีหน้าตาทำนองเดียวกันทุกคณะ โดยเฉพาะตัวตลกแทบไม่มีอะไรผิดเพี้ยนกันเลย นอกจากรูปดังกล่าวแล้ว แต่ละคณะจะตัดรูปเบ็ดเตล็ดส่วนหนึ่ง เช่น สัตว์ต่างๆ ต้นไม้ ภูเขา ภูตผี ยานพาหนะ อาวุธ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิยายที่ใช้แสดงรูปหนังจะจัดเก็บไว้ใน แผงหนัง โดยวางเรียงอย่างเป็นระเบียบและตามศักดิ์ของรูป นั่นคือ เอารูปเบ็ดเตล็ดและรูปตลกที่ไม่สำคัญซึ่งเรียกรวมกันว่า รูปกาก ไว้ล่าง ถัดขึ้นมาเป็นรูปยักษ์ พระ นาง เจ้าเมือง ตัวตลกสำคัญ รูปปรายหน้าบท พระอิศวร และฤาษี ตามลำดับ ถ้ามีรูปศักดิ์สิทธิ์สำหรับไว้บูชา ไม่ใช่ใช้เล่นด้วย รูปนี้จะเก็บแยกต่างหาก เช่น ใส่ในถุงผ้าซึ่งตัดเย็บขึ้นเฉพาะ เมื่อไปเล่นที่ไหนก็แขวนรูปไว้บนหัวเสาโรง



แผงหนังตะลุงรุ่นเก่า

แผงหนังตะลุงรุ่นใหม่

         สมัยก่อนหนังตะลุงไม่นิยมเล่นในงานมงคล ส่วนใหญ่จะเล่นในงานนักขัตฤกษ์และงานสนุกทั่วไปหรือเล่นเพื่อประกอบพิธีกรรมสำหรับแก้บน แต่ปัจจุบันเล่นได้ทุกงาน เวลาที่เล่นเริ่มตั้งแต่ประมาณ 21.00 นาฬิกา พักเที่ยงคืน 1 ชั่วโมง แล้วเล่นต่อไปจนรุ่งสาง แต่ถ้าในงานนั้นมีการละเล่นหลายอย่าง หนังตะลุงมักจะเล่นตอนมหรสพอื่นเลิกแล้ว นั่นคือเล่นตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนสว่าง

ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
 โอกาสและกำหนดเวลาในการแสดง
โอกาสและกำหนดเวลา