ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง
พ.ศ. ๒๕๔๔
---------------------------------------


      โดยที่มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐ เพื่อให้ระบบการควบคุมการตรวจสอบการเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัย

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ มาตรา ๑๕ (๑๔) และมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงออกระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

        ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ. ๒๕๔๔”

        ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        ข้อ ๓ ในระเบียบนี้

      "เงิน" หมายความว่า เงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และให้หมายความรวมถึง เอกสารการเงินซึ่งใช้แทนตัวเงิน หรือมีมูลค่าเป็นเงิน เช่น เช็ค ดราฟต์ ธนาณัติ เป็นต้น

      “การบริหารการเงินและการคลัง” หมายความว่า การรับ การเบิก การจ่าย การใช้จ่าย การใช้ประโยชน์ การเก็บรักษา และการจัดการซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ใด ๆ ของหน่วยรับตรวจที่ได้มาจากเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค และเงินช่วยเหลือจากแหล่งในประเทศ หรือต่างประเทศ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือตามวัตถุประสงค์ของหน่วยรับตรวจ ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ดังกล่าวที่หน่วยรับตรวจ มีอำนาจ หรือสิทธิในการใช้จ่ายหรือใช้ประโยชน์ด้วย

      “มาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐ” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารการเงินและการคลังที่ออกตามความในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดอื่นใด ซึ่งการฝ่าฝืนเป็นความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง และมีโทษปรับทางปกครองตามระเบียบนี้

      “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

      “หน่วยรับตรวจ” หมายความว่า

      (๑) กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็น กระทรวง ทบวงหรือกรม

      (๒) หน่วยงานของราชการส่วนภูมิภาค

      (๓) หน่วยงานของราชการส่วนท้องถิ่น

      (๔) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือตามกฎหมายอื่น

      (๕) หน่วยงานอื่นของรัฐ

      (๖) หน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือกิจการที่ได้รับเงินหรือทรัพย์สินลงทุนจากหน่วยรับตรวจตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕)

      (๗) หน่วยงานอื่นใดหรือกิจการที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐที่มีกฎหมายกำหนดให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ

      “เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นของหน่วยรับตรวจ แต่ไม่รวมถึงข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง

      “ผู้บังคับบัญชา” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจผู้มีอำนาจหน้าที่อนุมัติ อนุญาต รับรอง ให้ความเห็นชอบ หรือการกระทำอื่นใดในทำนองเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นบุคคลคนเดียวหรือคณะบุคคล ที่ได้กระทำไปเกี่ยวกับเรื่องการรับจ่าย การเก็บรักษา การตรวจสอบหรือการอื่นใด อันเป็นผลต่อเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ใด ๆ ของรัฐ ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจหรือผู้ได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายหรือระเบียบด้วย

      “ผู้สั่งจ่าย” หมายความว่า ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเงินหรือทรัพย์สิน และเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับการสั่งจ่ายเงินหรือทรัพย์สินของหน่วยรับตรวจ

      “โทษปรับทางปกครอง” หมายความว่า โทษปรับโดยการหักเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือการเรียกให้ชำระเงินตามอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้

      “เงินเดือน” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นรายเดือนหรือคำนวณรวมเป็นรายเดือนได้ โดยมีอัตรากำหนดไว้แน่นอนในบัญชีอัตราเงินเดือนและค่าจ้าง หรือกำหนดไว้ในเอกสารสำคัญอื่นใด แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินอื่นที่จ่ายควบกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง

      “ความเสียหายแก่รัฐ” หมายความว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากการฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐ ไม่ว่าจะสามารถคำนวณความเสียหายนั้นเป็นตัวเงินได้หรือไม่ก็ตาม

      “ระเบียบ” หมายความว่า ระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง

        ข้อ ๔ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ระเบียบนี้

หมวด ๑
บททั่วไป

ส่วนที่ ๑
การบังคับใช้
---------------------------------------



        ข้อ ๕ เจ้าหน้าที่ผู้ใดจงใจฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐ ตามที่กำหนดในหมวด ๒ นี้ ถือว่ากระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง ต้องรับโทษปรับทางปกครองตามระเบียบนี้

        ข้อ ๖ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางวินัยทางงบประมาณและการคลัง ต่อเมื่อได้กระทำการในเวลาที่ระเบียบนี้ใช้บังคับและเป็นการกระทำอันระเบียบนี้กำหนดเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้

        ข้อ ๗ ถ้าระเบียบที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับระเบียบที่ใช้บังคับในภายหลังการกระทำความผิดให้ใช้ระเบียบในส่วนที่เป็นคุณแก่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่กรณีที่คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว

        ในกรณีที่มีระเบียบออกใช้บังคับในภายหลังกำหนดว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้เจ้าหน้าที่ผู้ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามระเบียบนี้ และถ้าคณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่เคยต้องคำวินิจฉัยว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าได้รับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

        ในกรณีที่คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว แต่ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษ และโทษที่กำหนดตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ หนักกว่าโทษตามระเบียบที่ออกใช้บังคับในภายหลัง เมื่อสำนวนความปรากฏแก่คณะกรรมการหรือเมื่อคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวน หรือเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดได้รายงานหรือร้องขอแล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการกำหนดโทษเสียใหม่ตามระเบียบที่ออกใช้บังคับในภายหลังนั้น

        ในกรณีที่คณะกรรมการจะกำหนดโทษใหม่ตามความในวรรคสาม ถ้าปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ ผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงโทษตามระเบียบที่ออกใช้บังคับในภายหลัง หากเห็นเป็นการสมควร คณะกรรมการจะกำหนดโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่ระเบียบที่ออกใช้บังคับในภายหลังกำหนดไว้ถ้าหากมีก็ได้ หรือถ้าเห็นว่าโทษที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดได้รับมาแล้วเป็นการเพียงพอ คณะกรรมการจะให้การลงโทษสิ้นสุดลงเพียงนั้นก็ได้

        ข้อ ๘ เจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังตามระเบียบนี้ และเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย แม้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะได้รับโทษตามกฎหมายอื่นแล้ว ก็ยังคงต้องรับโทษในการกระทำนั้นตามระเบียบนี้ด้วย

ส่วนที่ ๒
โทษปรับทางปกครอง
---------------------------------------



        ข้อ ๙ ความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง มีอัตราโทษปรับทางปกครอง ๔ ชั้น ดังต่อไปนี้

      (๑) โทษชั้นที่ ๑ โทษปรับไม่เกินเงินเดือน ๑ เดือน

      (๒) โทษชั้นที่ ๒ โทษปรับเท่ากับเงินเดือนตั้งแต่ ๒ เดือน ถึง ๔ เดือน

      (๓) โทษชั้นที่ ๓ โทษปรับเท่ากับเงินเดือนตั้งแต่ ๕ เดือน ถึง ๘ เดือน

      (๔) โทษชั้นที่ ๔ โทษปรับเท่ากับเงินเดือนตั้งแต่ ๙ เดือน ถึง ๑๒ เดือน

        ข้อ ๑๐ เจ้าหน้าที่ผู้ใดต้องรับโทษปรับทางปกครองในชั้นใดให้หักเงินจากเงินเดือนหรือหักเงินเท่ากับจำนวนเงินเดือนที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดจะพึงได้รับในเวลาที่กระทำความผิดเป็นค่าปรับตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ

      เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดที่ต้องรับโทษปรับทางปกครองจะชำระค่าปรับเป็นระยะเวลากี่เดือน และเดือนละจำนวนเท่าใด หรือเรียกให้ชำระเงินอย่างไรนั้น ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ

      ให้หน่วยรับตรวจซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับโทษปรับทางปกครองอยู่ในสังกัด หรือปฏิบัติงานอยู่มีหน้าที่ดำเนินการหักเงินเดือนให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ และเงินที่หักแต่ละเดือนให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ภายในระยะเวลาห้าวันทำการนับตั้งแต่วันที่หักเงินเดือนนั้น แล้วส่งสำเนาหลักฐานการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบทุกครั้ง

        ข้อ ๑๑ กรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับโทษปรับทางปกครองพ้นจากสถานะเจ้าหน้าที่ อันไม่อาจดำเนินการตามข้อ ๑๐ ได้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นชำระเงินค่าปรับ และให้นำความในมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ข้อ ๑๒ โทษปรับทางปกครองโดยการหักเงินเดือนหรือการเรียกให้ชำระเงินจะเป็นจำนวนเท่าใด เพียงใด หรืออย่างไรนั้น ให้คำนึงถึงระดับความรับผิดชอบของตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ความสำคัญของมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐที่มีการฝ่าฝืน ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รัฐ และเจตนาของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด ตลอดจนรายได้ ฐานะ ครอบครัว ของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย

        ข้อ ๑๓ หากการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดตามระเบียบนี้หลายข้อให้ใช้ระเบียบข้อที่มีโทษปรับทางปกครองชั้นสูงสุด ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด

        กรณีมีการกระทำใดอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ผู้กระทำความผิดรับโทษปรับทางปกครองตามระเบียบข้อที่กำหนดว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทุกข้อ

        โทษปรับทางปกครองตามระเบียบนี้เป็นอันระงับไป เนื่องจากเหตุเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดถึงแก่ความตาย

ส่วนที่ ๓
การรอการลงโทษปรับทางปกครองและการเพิ่มโทษปรับทางปกครอง
---------------------------------------



        ข้อ ๑๔ ความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังที่อาจรอการลงโทษปรับทางปกครองได้ต้องเป็นความผิดที่มีอัตราโทษชั้นที่ ๑ หรือชั้นที่ ๒ และผู้กระทำความผิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติราชการ หรือย้ายมาปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ได้ไม่เกินหกเดือน หรือเป็นผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และไม่เคยกระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง ตามระเบียบนี้มาก่อน

      ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่คณะกรรมการสั่งให้รอการลงโทษปรับทางปกครอง ถ้าได้กระทำความผิดตามระเบียบนี้อีก ให้นำโทษที่รอไว้มารวมกับโทษที่จะลงในครั้งหลังด้วย

      ถ้าหากปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังอีก ภายในระยะเวลาตามวรรคสอง ให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดพ้นจากโทษที่ได้สั่งให้รอการลงโทษปรับทางปกครองไว้นั้น

        ข้อ ๑๕ เจ้าหน้าที่ผู้ใดต้องคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้รับโทษปรับทางปกครอง ถ้าได้กระทำความผิดตามระเบียบนี้อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี หรือภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ คณะกรรมการอาจมีคำวินิจฉัยลงโทษครั้งหลังโดยเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามส่วนของโทษที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับความผิดครั้งหลังก็ได้

        ข้อ ๑๖ ความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง ที่ได้กระทำในระหว่างทดลองปฏิบัติราชการ หรือขณะย้ายมาปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ได้ไม่เกินหกเดือน หรือเป็นผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คณะกรรมการอาจไม่ถือเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษปรับทางปกครองตามความในส่วนนี้ก็ได้

ส่วนที่ ๔
เหตุยกเว้นโทษปรับทางปกครองและอายุความ
---------------------------------------



        ข้อ ๑๗ เจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังตามระเบียบนี้เพราะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หากปรากฏพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งนั้นไว้แล้ว คณะกรรมการอาจยกเว้นโทษปรับทางปกครองแก่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้

        กรณีตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาที่สั่งการเป็นผู้กระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง ต้องรับโทษปรับทางปกครองตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้

        ข้อ ๑๘ ความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง ถ้ามิได้ดำเนินกระบวนพิจารณา ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวิธีพิจารณาความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังกับผู้กระทำความผิดภายในกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

หมวด ๒
ความผิดทางวินัยทางงบประมาณและการคลัง

ส่วนที่ ๑
ความผิดเกี่ยวกับการรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่ง
---------------------------------------



        ข้อ ๑๙ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่จัดเก็บเงินหรือรับชำระเงิน ได้รับชำระเงินแล้วไม่ทำหลักฐานการรับเงินหรือไม่ออกหลักฐานหรือใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ชำระเงิน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๑

        ข้อ ๒๐ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่เก็บรักษาเงิน ได้รับมอบเงินเพื่อเก็บรักษา แต่ไม่นำเงินเข้าฝากหรือเก็บรักษาในธนาคารหรือสถานที่ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาเงินของหน่วยรับตรวจตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจกำหนด ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๑

        ข้อ ๒๑ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่นำเงินส่ง ไม่นำเงินที่อยู่ในความรับผิดชอบส่งหรือฝากคลัง หรือหน่วยรับตรวจ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจกำหนด ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๑

      ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อเงินรายได้แผ่นดิน หรือเงินเบิกเกินส่งคืน เจ้าหน้าที่ผู้กระทำต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๒

         ข้อ ๒๒ ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ หรือ ข้อ ๒๑ วรรคหนึ่ง เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๒ และถ้าเป็นกรณีตามข้อ ๒๑ วรรคสอง ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๒๓ ถ้าการกระทำความผิดตามข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ หรือ ข้อ ๒๑ วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เจ้าหน้าที่ผู้กระทำต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๒ และถ้าเป็นกรณีตามข้อ ๒๑ วรรคสอง เจ้าหน้าที่ผู้กระทำต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

      ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓ และถ้าเป็นกรณีตามข้อ ๒๑ วรรคสอง ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

ส่วนที่ ๒
ความผิดเกี่ยวกับการเบิกเงิน และการจ่ายเงิน
---------------------------------------



        ข้อ ๒๔ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่เบิกเงินหรือจ่ายเงิน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๒๕ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่จ่ายเงิน จ่ายเงินนั้นโดยไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ หรือทำหลักฐานการจ่ายเงินเป็นเท็จ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๒๖ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่เบิกเงิน ทำหลักฐานการเบิกเงินเป็นเท็จ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๒๗ ถ้าการกระทำความผิดตามข้อ ๒๔ ข้อ ๒๕หรือ ข้อ ๒๖ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เจ้าหน้าที่ผู้กระทำต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

      ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในส่วนนี้เป็นผู้สั่งจ่าย หรือผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

ส่วนที่ ๓
ความผิดเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณและการก่อหนี้ผูกพัน
---------------------------------------



        ข้อ ๒๘ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเงินงบประมาณ กระทำการจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันก่อนที่จะได้รับอนุมัติเงินประจำงวด หรือจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันโดยไม่มีงบประมาณกำหนดไว้ในรายการนั้น ๆ และเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๓

      ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เจ้าหน้าที่ผู้กระทำต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๔

      กรณีตามวรรคหนึ่ง หากปรากฏในภายหลังว่าได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจให้กระทำได้ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ คณะกรรมการอาจยกเว้นโทษปรับทางปกครองแก่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้

        ข้อ ๒๙ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเงินงบประมาณ ละเลยไม่เร่งรัดจัดการหรือดำเนินการตามแผนงาน งานหรือโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๓๐ ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในส่วนนี้ เป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

ส่วนที่ ๔
ความผิดเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้
---------------------------------------



        ข้อ ๓๑ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่คำนวณภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่น เพื่อเรียกเก็บ คำนวณตัวเลขไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือความเป็นจริง เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่นนั้น มิต้องเสียหรือเสียน้อยกว่าจำนวนที่จะต้องเสีย ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๒

        ข้อ ๓๒ เจ้าหน้าที่ผู้ใด มีหน้าที่ประเมินทุนทรัพย์หรือรายได้ เพื่อการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่น ประเมินทุนทรัพย์หรือรายได้นั้น ต่ำกว่าความเป็นจริงโดยชัดแจ้ง เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่นนั้น มิต้องเสียหรือเสียน้อยกว่าจำนวนที่จะต้องเสีย ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๒

        ข้อ ๓๓ เจ้าหน้าที่ผู้ใด มีหน้าที่จัดเก็บหรือเรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่น ละเลยไม่จัดเก็บหรือไม่เร่งรัดเรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่นนั้น ภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจกำหนด ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๒

        ข้อ ๓๔ ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในส่วนนี้เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๓

ส่วนที่ ๕
ความผิดเกี่ยวกับเงินยืม
---------------------------------------



        ข้อ ๓๕ ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใด มีอำนาจหน้าที่อนุมัติเกี่ยวกับเงินยืมของหน่วยรับตรวจ อนุมัติให้ยืมเงินหรือจ่ายเงินยืมโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๓๖ ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่เร่งรัดหรือติดตามทวงคืนเงินยืมของหน่วยรับตรวจ ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ ละเลยไม่เร่งรัดหรือติดตามทวงคืนเงินยืมนั้น ภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจกำหนด เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๒

ส่วนที่ ๖
ความผิดเกี่ยวกับการพัสดุ
-------------------------------------------



        ข้อ ๓๗ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อหรือจัดจ้าง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ แบ่งแยกวงเงินจัดซื้อหรือจัดจ้างเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างหรือวิธีการสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือระเบียบดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๓๘ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อที่ดิน และหรือสิ่งก่อสร้าง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๓๙ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่กำหนดราคากลาง กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าเสนอราคา จัดทำรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะ ในการประกวดราคาหรือสอบราคาจัดซื้อหรือจัดจ้าง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ ซึ่งมีผลเป็นการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างรายใดรายหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๔๐ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ปิดประกาศหรือจัดส่งเอกสารสอบราคาหรือประกวดราคาจัดซื้อหรือจัดจ้าง ละเลยไม่ปิดประกาศหรือจัดส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นเพื่อทราบหรือเผยแพร่ข่าวการจัดซื้อหรือจัดจ้างตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๑

      ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเจ้าหน้าที่ผู้กระทำต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๔๑ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่พิจารณาผลการประกวดราคา หรือเปิดซองสอบราคา รับพิจารณาผู้เสนอราคาที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข โดยรู้หรือควรจะรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๔๒ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นให้ซื้อหรือจ้าง ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ หรือไม่พิจารณาเสนอให้ซื้อหรือจ้างผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๓

        ข้อ ๔๓ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายหรือจ้าง ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๔๔ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ควบคุมงานหรือตรวจการจ้าง ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

      ถ้ากรณีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมงานหรือตรวจการจ้าง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๔๕ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ตรวจรับพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๔๖ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ในการเบิกจ่ายพัสดุ หรือจัดทำบัญชีหรือทะเบียนพัสดุไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๒

        ข้อ ๔๗ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ในการตรวจสอบพัสดุประจำปี ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๒

      ผู้บังคับบัญชาผู้ใดมีหน้าที่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพัสดุประจำปีตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ ไม่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพัสดุประจำปี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

        ข้อ ๔๘ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยยานพาหนะของหน่วยรับตรวจที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบดังกล่าวโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๒

        ข้อ ๔๙ ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในส่วนนี้ เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครองในชั้นที่สูงกว่าอัตราโทษปรับทางปกครองตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นหนึ่งชั้น เว้นแต่ความผิดนั้นกำหนดอัตราโทษปรับทางปกครองไว้ในชั้นที่ ๔ แล้ว

ส่วนที่ ๗
ความผิดอื่น
--------------------------



        ข้อ ๕๐ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่ใช้จ่ายเงินงบประมาณ ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ที่ตั้งไว้ โดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๓

      ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๔

        ข้อ ๕๑ เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือเอกสารเพื่อประกอบการบันทึกบัญชี ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

      เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีหน้าที่จัดทำเอกสารเพื่อประกอบการดำเนินงานหรือโครงการใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับหน่วยรับตรวจโดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๓

       ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องรับโทษปรับทางปกครอง ชั้นที่ ๔

        ข้อ ๕๒ ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทำการบริหารการเงินและการคลังด้วยความเสี่ยงต่อความเสียหายหรือเสียประโยชน์ที่พึงคาดหมายได้ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต้องรับโทษปรับทางปกครองชั้นที่ ๔

ประกาศ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2544

( นายปัญญา ตันติยวรงค์ )
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน