http://www.tungsong.com

        
 
พิธีทอดผ้าป่า เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธ คล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจำกัด คือสามารถจะทอดเมื่อใหร่ก็ได้ และวัดหนึ่ง ๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังไม่เจาะจงเกี่ยวกับภิกษุที่จะรับผ้ากฐินแต่อย่างใด
 
        ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสนายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับจีวรจากชาวบ้าน พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้อง การนำมาทิ้งไว้ ผ้าห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กน้อยพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาซักทำความสะอาด ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง การทำจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงค่อนข้างยุ่งยากและเป็นงานใหญ่ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องพิธีทอดกฐิน
        ครั้นชาวบ้านทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ต้องการจะนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่าง ๆ เช่น ในป่า ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบ เห็นว่าเป็นผ้าที่ผู้เป็นเจ้าของทอดอาลัยแล้ว ก็นำเอามาทำเป็นสบงจีวร พิธีการทอดผ้าป่าก็มีความเป็นมาด้วยประการฉะนี้
        สำหรับในเมืองไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รับการรื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ด้วยทรงพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระศาสนา
 
        ความจริงแล้ว การทอดผ้าป่ามีอยู่อย่างเดียว คือการนำผ้าไปทิ้งไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในปัจจุบันนิยมทำในรูปแบบ ต่าง ๆ แตกต่างกันไป จึงมีชื่อเรียกเป็น 3 อย่าง คือ
1. ผ้าป่าหางกฐิน ได้แก่ ผ้าป่าชนิดที่เจ้าภาพจัดให้มีขึ้น ต่อจากการทอดกฐิน คือเมื่อทำพิธีทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็ให้มีการทอดผ้าป่าด้วยเลย จึงเรียกว่าผ้าป่าหางกฐิน หรือ ผ้าป่าแถมกฐิน
2. ผ้าป่าโยง ได้แก่ ผ้าป่าที่จัดทำรวม ๆ กันหลายกอง นำบรรทุกเรือแห่ไปทอดตามวัดต่าง ๆ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ จึงเรียกว่าผ้าป่าโยง จะมีเจ้าภาพเดียวหรือหลายเจ้าภาพก็ได้
3. ผ้าป่าสามัคคี ได้แก่ ผ้าป่าที่มีการแจกฎีกาบอกบุญไปตามสถานที่ต่าง ๆ ให้ร่วมกันทำบุญแล้วแต่ศรัทธา โดยจัดเป็นกองผ้าป่ามา รวมกัน จะเป็นกี่กองก็ได้ เมื่อถึงวันทอดจะมีขบวนแห่ผ้าป่ามารวมกันที่วัดอย่างสนุกสนาน บางทีจุดประสงค์ก็เพื่อร่วมกันหาเงินสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และอื่น ๆ ฯลฯ
 
        ให้ผู้เป็นเจ้าภาพไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาสวัดที่ต้องการจะนำผ้าป่ามาทอด เรียกว่าเป็นการจองผ้าป่า เมื่อกำหนดวันเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการตั้งองค์ผ้าป่า ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องมีก็คือ
1. ผ้า
2. กิ่งไม้สำหรับพาดผ้า และ
3. ให้อุทิศถวายไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง
 
        เจ้าภาพจะจัดหาผ้าสำหรับภิกษุผืนหนึ่ง อาจเป็นสบง จีวร สังฆาฎิ หรือทั้ง 3 อย่างแล้วแต่ศรัทธาเพราะไม่มีข้อกำหนด นำกิ่งไม้ไปปักไว้ในภาชนะขนาดพอสมควร เพื่อใช้เป็นที่พาดผ้าป่า และใช้สำหรับนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จะถวายพระ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ผ้าอาบน้ำฝน สมุด ดินสอ ฯลฯ สำหรับเงินหรือปัจจัยนั้น นิยมเสียบไม้ปักไว้กับต้นกล้วยเล็ก ๆในกองผ้าป่านั้น
 
        ในสมัยโบราณ ไม่ต้องมีการจองผ้าป่า เมื่อเจ้าภาพนำองค์ผ้าไปถึงวัดแล้ว ก็จุดประทัดหรือส่งสัญญาณด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า เป็นอันเสร็จพิธี หรือจะอยู่รอให้พระท่านมาชักผ้าป่าด้วยก็ได้
        แต่ในปัจจุบัน การทอดผ้าป่านับว่าเป็นงานค่อนข้างใหญ่ต้องมีการจองผ้าป่าเพื่อแจ้งให้ทางวัดทราบหมายกำหนดการ จะได้จัดเตรียมต้อนรับ เมื่อถึงกำหนดก็จะมีการแห่แหนองค์ผ้าป่ามาด้วยขบวนเถิดเทิงกลองยาวหรือแตรวง เป็นที่ครึกครื้นสนุกสนาน ยิ่งถ้าเป็นผ้าป่าสามัคคีต่างเจ้าภาพต่างแห่มาพบกันที่วัด จนกลายเป็นมหกรรมย่อย ๆ มีการละเล่นพื้นบ้านเหรือร่วมร้องรำทำเพลงร่วมรำวงกันเป็นที่สนุกสนานบางทีก่อนวันทอดก็จะจัดให้มีมหรสพฉลองที่บ้านของเจ้าภาพ
 
        ให้นำผ้าป่าไปวางต่อหน้าภิกษุสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้าป่า พระสงฆ์รูปหนึ่งผู้ได้รับฉันทานุมัติจากหมู่สงฆ์ก็จะลุกขึ้นเดินถือตาลปัตรมาชักผ้าบังสุกุลที่องค์ผ้าป่า โดยกล่าวคำปริกรรมว่า "อิมัง ปังสุกูลละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ" แปลใจความได้ว่า "ผ้าบังสุกุลผืนนี้ เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมตกใจเป็นของข้าพเจ้า
        ต่อจากนั้นพระสงฆ์จึงสวดอนุโมทนาในผลบุญ เจ้าภาพกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เป็นอันเสร็จพิธี
 
        อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูลละจีวะรานิ สุปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามา สาธุ โน ภันเต
        ภิกขุสังโฆ อินามิ ปังสุกูลละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
        คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญฯ
        สิ่งสำคัญที่สุดในการทอดผ้าป่าก็คือ ผู้ที่ถวายต้องตั้งใจหรือกล่าวคำถวายอุทิศแด่ภิกษุสงฆ์ ผู้ต้องการผ้าบังสุกุลอย่างเดียว จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการถวายผ้าป่า

แหล่งที่มา ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.